ประชาไท / ข่าว

Submitted on Fri, 2019-06-07 18:25

นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ สัมภาษณ์

คุยกับ จิราพร เหล่าเจริญวงศ์ นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ริเริ่มโปรเจคนี้ และนวลขนิษฐ์ พรหมจรรยา ผู้กำกับสารคดี ถึงที่มาของการทำสารคดีและแนวคิดว่าด้วยเรื่องมายาคติของความเป็นรัฐชาติที่ทำให้ผู้ลี้ภัยซึ่งมีสถานะเป็นพลเมืองโลกเช่นเดียวกับคนทั่วไปต้องกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง
ใบปิดภาพยนตร์สารคดี Capital of Mae La

Capital of Mae La คือสารคดีเกี่ยวกับค่ายผู้อพยพ ‘แม่หละ’ ค่ายผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่สุด ในจำนวนค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่ง ตามแนวเขตแดนไทย-พม่า เป็นที่อยู่อาศัยของผู้ลี้ภัยเกิน 40,000 คน เป็นสารคดีที่ใช้เวลาถ่ายทำ 4 ปี ตลอดการทำวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตของผู้กำกับ ฟุตเทจจำนวนหลายพันชั่วโมงถูกคัดออกมาให้เหลือเพียงแค่ครึ่งชั่วโมงกว่า

สารคดีเรื่องนี้ได้ไปฉายรอบปฐมทัศน์ในอัมสเตอร์ดัม ก่อนที่จะเดินทางกลับมาฉายในไทยที่ sea junction หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ประชาไทชวนคุยกับ จิราพร เหล่าเจริญวงศ์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นักมานุษยวิทยาผู้ริเริ่มโปรเจคนี้ และนวลขนิษฐ์ พรหมจรรยา ผู้กำกับสารคดี ถึงที่มาของการทำสารคดีและแนวคิดว่าด้วยเรื่องมายาคติของความเป็นรัฐชาติที่ทำให้ผู้ลี้ภัยซึ่งมีสถานะเป็นพลเมืองโลกเช่นเดียวกับคนทั่วไปต้องกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง

มาทำหนังเรื่องนี้ด้วยกันได้ยังไง?

จิราพร: เริ่มจากคิดว่าถ้าเราเขียนแค่งานวิชาการ ก็จะแคบอยู่แค่ในวงวิชาการ ยิ่งตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษคนไทยก็ยิ่งเข้าไม่ถึง เราเลยไปขายไอเดียให้เบลล์ (นวลขนิษฐ์) ตอนที่เราเจอกันที่อัมสเตอร์ดัม เขาก็สนใจ เลยชวนมาทำหนังด้วยกัน

นวลขนิษฐ์: เราไปที่แม่หละในฐานะผู้ติดตามพี่ออย (จิราพร) เป็นคนสังเกตการณ์ แล้วเอากล้องไปเก็บสิ่งที่เขาคุยกัน ชีวิตความเป็นอยู่ของเขา พอเก็บฟุตเทจทั้งหมดก็เอาสิ่งที่ถ่ายมาเปิดดูแล้วคุยกัน พี่ออยคิดยังไงก็จะอธิบาย ซึ่งเป็นคำอธิบายในอีกเลเยอร์หนึ่งที่เราอาจไม่เข้าใจเลยก็ได้ถ้าเราเป็นแค่คนเอากล้องไปถ่าย แต่พี่ออยจะรู้เยอะกว่าคนปกติเพราะอยู่ในค่ายมาเป็น 10 ปี

จิราพร: ถ้าให้เราไปคนเดียวหนังก็อาจจะไม่ออกมาเป็นแบบนี้เพราะไม่มีเราครอบงำ ไม่มีแนวคิดแบบนักมานุษยวิทยาครอบอยู่ 

นวลขนิษฐ์: ครั้งแรกที่ไปคือตอนงานปีใหม่กะเหรี่ยง เราดูเป็นโลกสีชมพู เพราะคนสนุกสนาน มีงานเทศกาล แต่พอลงพื้นที่นานๆ เราเห็นเบื้องลึกกว่านั้น แม้ที่แม่หละจะดูเป็นเหมือนเมืองที่มีความเจริญ แต่ในนั้นมีความซับซ้อนที่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจว่าคนกำลังเผชิญกับอะไร 

ทำไมเลือกแม่หละ?

จิราพร: แม่หละอาจจะใกล้ตัวเมืองแม่สอด และเราสนใจประเด็นเรื่องเมือง เรื่องการกลายเป็นเมือง และประเด็นเรื่องการสร้างพื้นที่ของค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งไม่ค่อยมีใครพูดถึง ทุกคนมักพูดถึงค่ายผู้ลี้ภัยในฐานะที่เป็นเหยื่อ เป็นผู้ถูกกระทำ แต่พอเราลงไปที่แม่หละมันเป็นเมืองที่มีทุกสิ่งอย่างอยู่ในนั้น

เราเคยเข้าไปเที่ยวเฉยๆ โดยไม่ต้องขออนุญาต ตอนนั้นปี 2554-2555 ซึ่งสามารถนั่งรถสองแถวไปแล้วเพื่อนพาเข้าไปได้เลย มีงานรับปริญญาของเพื่อน เราเห็นเครื่องเสียง ตลาด คาเฟ่ มี FedEx มี DHL ไว้ส่งของ เผื่ออยากขายของข้ามประเทศ มีโรงเรียน มีทุกสิ่งเทียบเท่าเมืองเมืองหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพผู้ลี้ภัยที่มักไม่ถูกพูดถึง เพราะส่วนใหญ่จะพูดถึงค่ายผู้ลี้ภัยในฐานะที่อยู่ชั่วคราว ถูกแยกออกไปจากคนอื่น มีชีวิตอยู่บริเวณขอบนอก แต่คนมักพูดถึงแม่หละว่าเป็นเหมือนเมืองหลวงของผู้ลี้ภัย น่าสนใจในความซับซ้อนอันนี้

ตัวอย่างความซับซ้อน เช่น ในโรงเรียนก็มีสอนถึงค่านิยมความเป็นกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงกู้ชาติ ร้องเพลงชาติกะเหรี่ยงทุกเช้า แต่ขณะที่เด็กในค่ายก็มีความรับรู้เรื่องราวในอดีตที่ต่างไปจากรุ่นพ่อแม่ ที่เห็นชัดคือเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นยูทูบเบอร์ร้องเพลงแร็ป ก็จะมีการอธิบายอัตลักษณ์ของตัวเองว่าเป็นกะเหรี่ยงในอีกรูปแบบหนึ่ง 

หรือเห็นความเชื่อมโยงของอำนาจระหว่างคณะกรรมการค่ายแม่หละ ซึ่งมีความเป็นอิสระในการปกครองตัวเองค่อนข้างสูง เป็นประชาธิปไตยมากกว่าตัว KNU ที่เป็นองค์กรหลักของกะเหรี่ยง

แต่คณะกรรมการค่ายก็มีแนวคิดว่าจะไม่สร้างปัญหาให้กับรัฐบาลไทยก็จะสามารถอยู่ตรงนี้ต่อไปได้นาน หากเกิดปัญหาในค่าย เช่น ขโมยของกัน ทำร้ายกัน แคมป์คอมมิตตีก็จะพยายามเข้ามาไกล่เกลี่ย เพราะไม่อยากให้ปัญหาใหญ่ไปจนปลัดค่ายรับรู้ หรือเด็กชกต่อย รังแกกัน เขาก็เลือกจะส่งไปอยู่กับ KNLA คือข้ามฝั่งไปรัฐกะเหรี่ยงเพื่อไปเป็นทหาร ถ้าหนักจริงจะถูกส่งไปเดือนหนึ่งหรือปีหนึ่ง แต่ไม่แน่ใจว่าตอนนี้ยังเป็นแบบนั้นอยู่ไหม

แล้วจิตสำนักของกลุ่มเด็กแร็ปเปอร์เป็นแบบไหน

จิราพร: เขาเป็นรุ่นที่ 2-3 ที่อยู่ในค่าย คือเกิดในค่าย เป็นเด็กฉลาด แต่ไม่ได้อินกับเรื่องที่ตัวเองเรียน ไม่ได้อินเรื่องวิชาการหรือสิทธิมนุษยชน เขาจะใช้เวลาว่างนั่งเขียนเพลงแร็ป แต่เด็กพวกนี้ได้รับการปลูกฝังมาจากคนรุ่นแรกว่าเขาต้องรักชาติ รักรัฐกะเหรี่ยง แต่เขามีไอเดียเป็นของตัวเอง ตอนนี้มีบางคนมาเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยพายัพ

เราว่าพวกเขาเป็นเด็กที่รู้จักโลกกว้าง อยากทำอะไรเองโดยที่ไม่ได้ต้องการปฏิวัติแบบถือปืนไปรบกัน เพราะทุกคนก็เบื่อกับสงคราม เขารู้สึกอยากมีชีวิตปกติแบบคนทั่วไปที่สามารถประกอบอาชีพ ไปเรียนที่ต่างๆ ได้ หากจะมีคนที่อยากกลับไปอยู่รัฐกะเหรี่ยงก็อาจเป็นแค่กลุ่มชนชั้นนำที่รู้สึกว่ายังต้องกลับไปกู้ชาติ

นวลขนิษฐ์: ตอนที่เจอเด็กกลุ่มนี้ครั้งแรก เขาบอกว่าแต่งเพลงเกี่ยวกับความรัก เกี่ยวกับพระเจ้า แต่จริงๆ แล้วเขาก็มีความภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งจะมีบางเพลงที่เนื้อเพลงเกี่ยวกับการปฏิบัติ เกี่ยวกับสงคราม ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรุ่นก่อนปลูกฝัง ส่งต่อมา แต่เขาเอามาตีความเป็นเวอร์ชันของเขา และสื่อสารออกมาผ่านเพลงแร็ป ซึ่งวัฒนธรรมฮิปฮอปโดยตัวมันเองก็มีเซ็นส์ของคนที่ถูกกดปราบ เขาจึงสามารถแสดงตัวตนผ่านการสื่อสารแบบนี้ หรือพูดว่าความเป็นกะเหรี่ยงมีหลากหลาย แต่ก็ไม่จำเป็นต้องแตกแยกเป็น กะเหรี่ยงพุทธ คริสต์ อิสลาม

อะไรคือด้านมืดของค่ายผู้อพยพที่คุณเห็นบ้าง?

นวลขนิษฐ์: เช่น สถานะผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้ถูกรับรอง หรือค่ายที่โตจนเกือบเป็นเมืองแต่ก็ไม่รู้จะอยู่ได้นานเท่าไหร่

จิราพร: คือเราคิดว่าชีวิตเราน่าเบื่อมากต่อเมื่อเรามาฟังชีวิตคนในค่ายที่ทุกคนมีเรื่องเล่า เรามักคิดผู้ลี้ภัยเป็นเหยื่อ ความช่วยเหลือ น่าสงสาร เมื่อไปเจอจริง มันไม่ใช่ เราอยากนำเสนอให้เห็นเขาในความเป็นมนุษย์แบบเดียวกับเรา เรื่องราวของเขาน่าสนใจ ซับซ้อน มีทั้งสมหวัง ผิดหวัง มีเรื่องอื่นที่เป็นตัวตนเขาที่ไม่ใช่แค่ผู้ลี้ภัย

เช่น คุณครูคนหนึ่งมีประวัติซับซ้อนมาก เคยอยู่พรรคคอมมิวนิสต์พม่า เคยไปเนเธอร์แลนด์ กลับมาโดนยึดหนังสือเดินทางที่สนามบินสุวรรณภูมิ ถูกส่งไปย่างกุ้ง ต่อมา KNU เป็นคนเจรจาขอไถ่ตัวเขาออกมา พม่าพาเขามาปล่อยที่ชายแดน เขาเดินจากชายแดนมาที่ค่าย เขาไม่ได้เป็นผู้ลี้ภัย น่าสนใจว่าทำไมเขาถึงเลือกจะมีชีวิตอยู่ที่ค่าย ทำไมถึงเลือกที่จะมาเป็นครู

ปัญหาดำมืดมากสุดคิดว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนในค่ายไม่รู้ว่าในอนาคตรัฐบาลไทยจะปิดหรือไม่ปิดค่าย เพราะบริบทของพม่าตอนนี้มีการเจรจาหยุดยิง และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ไม่ได้ถูกปกครองโดยทหาร จึงมีข่าวลือเป็นระยะว่าจะปิดค่าย ซึ่งก่อนหน้านี้ค่ายผู้ลี้ภัยอื่นอาจมีความไม่แน่นอน แต่ค่ายนี้สถานการณ์เคยมีความแน่นอนจนกระทั่งตอนนี้ และเด็กรุ่นใหม่เขารู้สึกไม่ได้อยากกลับไป เขาอยากอยู่ที่นี่ มันคือบ้านเขา

ดังนั้นมันไม่ใช่ปัญหาส่งผู้ลี้ภัยกลับ แต่คือปัญหาที่ว่าในเมื่ออุดมคติเขา ความรู้สึกเขา เขาไม่ได้ผูกพันอยู่กับตรงนั้นแล้ว แผ่นดินเกิดเขาไม่ใช่รัฐกะเหรี่ยงแต่คือแม่หละ หากให้เขาไปอยู่ที่รัฐกะเหรี่ยงเขาก็ไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับที่นั่น ขณะที่อยู่ตรงนี้เขามีตัวตน มีสังคม มีบ้าน มีเพื่อน

อย่างนั้นก็เป็นความรู้สึกที่ขัดแย้ง เมื่อเด็กร้องแร็ปที่ภูมิใจในความเป็นกะเหรี่ยงแต่ก็ไม่ได้อยากกลับไปอยู่รัฐกะเหรี่ยง?

นวลขนิษฐ์: เขาภูมิใจในความเป็นกะเหรี่ยงโดยที่ไม่ได้ยึดติดกับพื้นที่ มันเป็นชุมชนที่มีอยู่ทั่วโลก ถ้าไปดูในยูทูป Karen New Generation ก็จะพูดถึงความเป็นกะเหรี่ยงโดยไม่ยึดติดกับสถานที่ แต่ยึดติดกับตัวตนในแบบที่เขาสร้าง อย่างเพลงหนึ่งพูดถึงแม่หละว่าเป็นบ้าน คือบางคนที่เคยอยู่แม่หละ แต่ย้ายไปประเทศอื่นได้แล้ว เขาก็ยังมองว่าแม่หละเป็นเหมือนบ้านเกิดของเขาอยู่ เป็นเหมือนความรู้สึกที่เป็นผู้พลัดถิ่นที่จากมาไกล

คนรุ่นใหม่อยากออกไปจากแม่หละไหม?

จิราพร: เขาก็มีเซนส์อยากออกไปผจญภัยในโลกกว้าง แต่ก็มีเด็กอื่นๆ ที่เข้ามาเรียนในค่ายเพราะในค่ายค่าเรียนถูกกว่า ค่ายก็เหมือนเป็นเมืองหนึ่งที่คนหนุ่มสาวเข้ามาศึกษา ทำงาน มีความรัก หรือมาเพราะทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันถ้าคุณรู้สึกเบื่อเมืองนี้แล้ว ก็อยากไปเมืองอื่นต่อ อยากไปเรียนเชียงใหม่ ไปกรุงเทพฯ เพราะคนอยากได้การศึกษาที่ถูกรองรับ ในขณะที่การศึกษาในค่ายเป็นการศึกษาแบบกะเหรี่ยงเพื่อคนกะเหรี่ยงจึงไม่ถูกยอมรับโดยคนทั่วไป แต่คนที่ตัดสินใจให้หลักสูตรเป็นกะเหรี่ยงก็เป็นชนชั้นนำกะเหรี่ยง คือคณะกรรมการการศึกษา ที่ไม่อยากให้มีการเรียนเหมือนพม่าหรือไทย แต่เด็กที่นี่ก็พูดภาษาอังกฤษเก่ง มีครูต่างชาติมาสอน เพราะค่ายเชื่อมต่อกับโลกภายนอก ดังนั้นแม้จะรู้สึกว่าค่ายเป็นพื้นที่ปิดแต่จริงๆ มีคนเข้าออกค่ายตลอดเวลา 

แล้วคนในค่ายมีวิธีจัดการกับปัญหาการอยู่แบบไม่ถาวรยังไง?

จิราพร: จริงๆ มีเรื่องว่าปิดไม่ปิดค่ายมานานแล้ว รัฐบาลไทยมีจุดยืนชัดเจนว่าวันหนึ่งคนเหล่านี้ต้องกลับบ้าน บางอย่างในค่ายสะท้อนความเป็นชั่วคราว เช่น มีระเบียบว่าไม่สามารถสร้างถนนคอนกรีตได้ หรือบ้านอาจโยงกับความเป็นบ้านของกะเหรี่ยงเช่นบ้านไม้ไผ่ แต่ที่สะท้อนถึงความสม่ำเสมอและแน่นอนในความชั่วคราวก็คือ การเกิดขึ้นของถนนคอนกรีตที่คนในค่ายสร้างเอง เวลารถผ่านจะได้ไม่มีฝุ่นฟุ้ง มีท่อส่งน้ำที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน มีเอ็นจีโอที่ช่วยด้านอาหารสม่ำเสมอ มีคณะกรรมการค่ายที่คอยดูแล สามารถเข้าออกค่ายได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจต้องจ่ายค่าผ่านทาง หรือบ้านที่เป็นกึ่งคอนกรีตกึ่งไม่ไผ่ มีเสาไฟฟ้า มีเสาสัญญาณโทรศัพท์ มีดาวเทียม มีดูบอล พนันบอล เวลามีบอลคนก็แห่กันไปดู ซึ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความอยู่นาน บ้านคือการประกาศว่าเขาอยู่ที่นี่ ไม่ได้ไปไหน แม้เขารู้ว่ามีข่าวจะปิด แต่เขาก็สร้างเพิ่ม สร้างใหม่

ดังนั้นมันจริงเป็นการมองระหว่างสิ่งที่รัฐอยากให้เป็น สิ่งที่ค่ายผู้อพยพควรเป็น และสิ่งที่เขาอยู่จริงในนั้น มันมีที่เคลียร์และไม่เคลียร์ว่าเป็นสิ่งถาวรหรือไม่ ซึ่งเราว่าเป็นศิลปะในการอยู่ระหว่างความเป็นชั่วคราวกับถาวร ซึ่งสำหรับเขาดูเป็นถาวรมาก

ในทางกลับกันเมืองก็เป็นความชั่วคราว ยกตัวอย่างคอนโดมิเนียมมีสัญญาเช่า 30 ปี แต่เรารู้สึกนานจัง ขณะที่พอเป็นในค่าย 30 ปี มันกลายเป็นความรู้สึกชั่วคราว

มิติของเมืองก็ต้องการความเป็นชั่วคราว ร้านในสยามสแควร์เปลี่ยนไปตลอดเวลา ถ้าร้านไม่เปลี่ยน ก็ไม่มีพลวัต น่าเบื่อ ซึ่งในค่ายผู้ลี้ภัยก็แบบนั้นเหมือนกัน เป็นสภาวะชั่วคราวกึ่งถาวร ซึ่งเราก็อยู่ในสภาวะแบบนี้พอๆ กัน ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรืออยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 

ดูเหมือนคนในค่ายเองก็ยังเชื่อมต่อกับโลกภายนอกได้ แล้วจริงๆ เขารู้สึกว่าในค่ายยังเป็นพื้นที่ปิดไหม?

จิราพร: ถ้าเป็นชนชั้นก็อาจพอช่องทางเข้าออกค่ายได้ง่าย ขณะที่กลุ่มชาวบ้านอาจรู้สึกไปไหนไม่ได้มากขนาดนั้น แต่เขาก็ออกไปทำงานข้างนอกได้อยู่บ้าง ซึ่งมันสะท้อนความเป็นรัฐในแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือรัฐที่ไม่มีความเป็นทางการในการจัดการกับพลเมือง การที่มันไม่ทางการ ไม่แน่นอน ทำให้กฎมันอ่อนลงมาได้ เพราะเขารู้ว่าอยู่ในค่ายตลอดเวลาคนพวกนี้จะไม่สามารถทำมาหากินได้มากพอ รัฐท้องถิ่นเขาก็มีความเข้าใจในระดับหนึ่ง ดังนั้นตราบใดที่คุณไม่สร้างความเดือดร้อนให้รัฐและสังคมไทย คนในค่ายก็ยังพอเข้าออกได้

คนส่วนใหญ่ในค่ายอยากได้สัญชาติไทยไหม?

จิราพร: ถ้าได้สัญชาติไทยเขาอาจเข้าถึงเรื่องอื่นๆ ได้อีกมาก เช่นเรื่องการศึกษา การทำมาหากิน การเดินทางที่จะไม่โดนตำรวจสุ่มตรวจจับ

เราคิดว่าถ้าเลือกได้เขาอยากได้สัญชาติไทยมากกว่าพม่า แม้เขายังมีสัญชาติพม่าได้ แต่ความรู้สึกของเขาคือเขาเป็นคนในแม่สอด เขาเป็นคนในพื้นที่ชายแดนที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้บอกว่าตรงนี้คือไทยหรือพม่า พ่อแม่เขาก็ข้ามเส้นไปมาอยู่แล้ว เส้นแบ่งพรมแดนรัฐชาติจึงไม่ได้แบ่งคนที่แตกต่างกัน แต่แบ่งคนที่เหมือนกันขาดออกจากกันมากกว่า

เรามองว่าพรมแดนรัฐชาติคือแม่น้ำเมย เหมือนเส้นทางคมนาคมอย่างหนึ่ง แต่พอความเป็นรัฐชาติเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน อยู่ในบัตรประชาชน ตั้งแต่เกิด เจ็บ ตาย หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เขาจะรู้สึกว่า ครั้งหนึ่งฉันเคยมีชาติ และชาติฉันหายไป เขาอาจคิดว่าฉันยังอยากอยู่ตรงนี้ ซึ่งตอนนี้มันบูรณาการเข้ากับรัฐไทยไปแล้ว ในขณะที่เขาเดินเข้าๆออกๆ เขาเข้าไปทำงานในเมือง เขาพูดภาษาไทยได้ แต่ในทางกฎหมายเขาไม่ใช่คนไทย

ถ้าเราคิดในร่มของรัฐชาติและความเป็นพลเมือง ความเป็นพลเมืองเกิดขึ้นจากการมีชาติ คุณก็จะไม่เห็นอะไรอื่นนอกจากคนพวกนี้เป็นพวกไร้รัฐไร้ชาติ ไม่มีแผ่นดินอยู่ ไม่ถูกยอมรับ อยู่ระหว่างกลาง แต่เราสามารถจินตนาการให้ก้าวข้ามรัฐชาติได้ไหม เราจะมีความเป็นพลเมืองที่ไม่เชื่อมโยงไอเดียของรัฐชาติได้ไหม

ตอนนี้ค่ายผู้ลี้ภัยอยู่มานานและเหมือนเป็นเทรนด์ทั่วโลกที่มีคนตกอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัย คนพวกนี้อาจเป็นแบบคนที่แม่หละหรือที่อื่นๆ ในไทยด้วย คือมีสถานะผู้ลี้ภัย แต่ไม่ได้เป็นพลเมือง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสมาชิกของสังคมนี้กลายๆ อาจมีสิทธิได้ทำงาน ได้อยู่ 

ในเมื่อโลกนี้มีผู้ลี้ภัยประมาณ 20 ล้านคน อีก 10 ล้านคนอยู่ในประเทศโลกที่สาม แอฟริกา ปากีสถาน บังคลาเทศ อิรัก เลบานอน คนพวกนี้ไม่ได้สัญชาติเหมือนกันแต่อยู่ตรงนั้นนานแล้ว มันคือคนประเภทใหม่ มีสิทธิที่จะได้อยู่อาศัย แต่ไม่มีสิทธิจะเป็นพลเมือง เพราะความเป็นพลเมืองถูกตีกรอบด้วยความคิดของรัฐชาติ เมื่อคุณไม่มีรัฐก็กลายเป็นคนไร้รัฐ ทำไมเขาต้องตกอยู่ในสภาวะกลับไม่ได้ ไปไม่ถึง กลืนไม่เข้า คายไม่ออกแบบนี้ มีอะไรที่หลุดไปจากกรอบของรัฐชาติได้ไหม

กำลังจะบอกว่าผู้ลี้ภัยควรถูกจัดเป็นพลเมืองประเภทใหม่?

จิราพร: อาจเป็นพลเมืองของโลกประเภทหนึ่ง คือผู้ลี้ภัยที่อยู่ในสภาวะนี้มานาน แต่ปัญหาคือเขาก็ยังจะมีสิทธิน้อยกว่าพลเมืองในประเทศอยู่ดี เราอาจต้องวิจารณ์ว่ากรอบคิดเรื่องรัฐชาติแคบเกินไปแล้วเมื่อโลกเป็นโลกาภิวัฒน์ คนอพยพย้ายถิ่นไปทั่วโลก คุณจะเห็นประเด็นสัญชาติต่างไปได้ไหม 

ง่ายสุดในประเด็นสัญชาติคือ ‘the right to have right’ หรือสิทธิที่จะมีสิทธิ คุณจะจำกัดสิทธิคนๆหนึ่งเมื่อเขาไม่ใช่คนในประเทศของคุณแค่นั้นหรือ ถ้าวันหนึ่งคุณไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วถูกรถชน รัฐญี่ปุ่นต้องดูแลคุณไหม ดูแลในฐานะอะไร ในเมื่อคุณก็กลายเป็นอื่นในสังคมอื่นได้ เราเห็นความเชื่อมโยงระหว่างพวกเรากับพวกเขาไหม ในเมื่อตอนนี้ทุกคนเดินทางไปไหนมาไหนก็ได้รอบโลก

นวลขนิษฐ์: คนทำงานแบบนี้จะเจอคำถามบ่อยมากว่าทำไมต้องมาช่วยผู้ลี้ภัย ไปช่วยคนไทยด้วยกันดีกว่าไหม ซึ่งเราคิดว่าเป็นวิธีการมองคนละแบบ คนเขาอยู่ที่ตรงนั้นมานานแล้ว แต่บังเอิญมีเส้นมากำหนดทำให้เขากลายเป็นคนอื่นไป ความจริงเขาก็คือพวกเดียวกับเรา 

จิราพร: ซึ่งจริงๆ แล้ว ความเป็นชาติเกิดมาไม่นานี้เอง โดยเฉพาะในไทย สำนึกความเป็นคนไทย ความเป็นชาติไทยเพิ่งมีไม่นาน ก่อนหน้านี้ยังเป็นอาณาจักรต่างๆ อยู่เลย ทำไมเราถึงคิดว่าความเป็นชาติเป็นเรื่องธรรมชาติที่ติดตัวมากับเรานัก ทั้งที่จริงมันถูกสร้างขึ้นมา ถ้าคิดย้อนกลับไป ครอบครัวเรามาจากเมืองจีน ถ้าเราไม่ได้รับสถานะ เราก็คงมาเป็นอาจารย์แบบนี้ไม่ได้ คือมันคิดให้สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับตัวเราเองก็ได้ เพราะเราต่างก็มีหลายเชื้อชาติมารวมกัน ทำไมเราถึงไม่รับความแตกต่างหลากหลาย แต่มักรับกับความเป็นประเภทเดียว ทั้งที่อาหารที่เรากิน ภาษาที่เราใช้ วัฒนธรรมที่เรามี ก็มาจากการผสมกับคนอื่นๆ ไม่ใช่หรือ ทำไมกลายมาเป็นเรื่องที่ถูกจำกัดว่าอันนี้เป็นไทย อันนี้ไม่ใช่

Source: https://prachatai.com/journal/2019/06/82850