Brief Description

วินิสสา ขัตติยะอารี นักวิจัย SEA Junction ได้นำเสนอว่า นโยบายถูกขับเคลื่อนโดยระบบราชการด้วยข้อมูลทางการแพทย์และเศรษฐกิจมหภาคที่มีลักษณะเชิงปริมาณ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่เพียงพอในการมองภาพสถานการณ์อันสมบูรณ์ ขาดการบูรณาการข้อมูลด้านสังคมศาสตร์ นักสังคมศาสตร์มีส่วนร่วมอย่างจำกัดในโครงการของรัฐ ถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ อย่างไรก็ตาม นักสังคมศาสตร์ก็มีบทบาทนอกโครงสร้างราชการ งานวิจัยอันหลากหลายเน้นย้ำถึงแง่มุมสังคมที่ถูกมองข้ามไป และถือเป็นข้อมูลอันสำคัญและเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย

ดร. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้อธิบายเสริมถึงลักษณะความรู้ทางสังคมศาสตร์ว่าทำงานอย่างไร และมีความสำคัญในการจัดการโควิด 19 อย่างไร การขาดมุมมองทางสังคมทำให้เกิดข้อจำกัดในการตอบสนองต่อภาวะวิกฤต ความรู้เชิงเดี่ยวมุมมองเดียวไม่ได้ผิด แต่ไม่พอสำหรับการแก้ปัญหา นอกจากนี้ ข้อจำกัดทางการเมือง เช่น รัฐขาดความสำนึกรับผิดชอบ (democratic accountability) การแก้ไขเป็นไปแบบเฉพาะหน้า ไม่ได้เป็นระบบ ไม่มีความโปร่งใส และไร้ความน่าเชื่อถือ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้การแก้ไขปัญหาสั่นคลอนยิ่งขึ้น

ดร. นฤมล ทับจุมพล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสริมเพิ่มในประเด็นความรู้ด้วยคำถามที่สำคัญว่า ความรู้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ใครมีอำนาจในการกำหนดมากกว่ากัน โดยได้ชี้ให้เห็นถึงการผลิตความรู้ที่เกี่ยวกับโควิด 19 และอำนาจที่อยู่เบื้องหลังการผลิตความรู้ดังกล่าว อ.ได้เสนอให้มีการผลิตองค์ความรู้ร่วมโดยจะต้องมีการมีส่วนร่วม การบูรณาการ การต่อรอง และการเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมทั้งยังทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญของสังคมศาสตร์ ไม่ใช่ในฐานะที่เป็นศาสตร์ แต่เป็นสังคม และสังคมมีคนอยู่ตรงนั้น เราต้องพูดเรื่องโควิดโดยที่มีคนอยู่ตรงนั้น

ทั้งนี้ ดร. จิราพร เหล่าเจริญวงศ์ อาจารย์ประจำสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ได้สรุปใจความสำคัญและให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมตลอดการเสวนา ท่านสามารถรับชมงานเสวนาฉบับเต็มได้ที่ https://fb.watch/9nClHI7jbZ/

Photo by

ลัทธพล จิรปฐมสกุล และ Rosalia Sciortino