เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 ณ ชั้น 4 ห้องประชุม SEA JUNCTION หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ SEA JUNCTION และ MIGRANT WORKING GROUP ได้จัดการแถลงข่าวเรื่อง “Policy Reframing:Replacement Migration กรอบนโยบายในเรื่องการทดแทนประชากร”

ทั้งนี้สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการศึกษาเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานและแรงงานข้ามชาติ โดย นักประชากรศาสตร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ กล่าวว่า สถิติการฉายภาพ (projection) ยืนยันว่า ปัจจุบันจนสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับที่สองรองจากประเทศญี่ปุ่น ที่จะมีจำนวนประชากรลดลงจากปัจจุบันมากกว่าครึ่งหนึ่ง คือ เหลือเพียง 30 กว่าล้านคนเท่านั้น นี่แสดงถึงวิกฤตเศรษฐกิจและมาตรฐานการครองชีพของเรา หากเราไม่สามารถรวม แรงงานมืออาชีพต่างชาติ (professional foreign workers) ผู้อพยพ (immigrants/refugees) และแรงงานข้ามชาติ (migrant workers) เป็นประชากรวัยทำงานของเราได้

ในปีพ.ศ. 2544 สหประชาชาติได้เสนอนโยบายการย้ายถิ่นทดแทน (replacement migration) ให้เป็นเครื่องมือทางประชากรกับประเทศที่เริ่มมีปัญหาอัตราการเกิดต่ำ โดยประเทศพัฒนาแล้วที่ปัจจุบันมีอัตราการเกิดต่ำกว่าระดับทดแทน เช่น สหราชอาณาจักร เยอรมนี สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย โดยผ่านการตรวจคนเข้าเมืองอย่างผ่อนคลาย เมื่อสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้ ประเทศเหล่านี้กลับจะมีประชากรเพิ่มขึ้น เพราะประเทศเหล่านี้มีนโยบายและกำหนดเป้าหมายจำนวนคนเข้าเมืองอย่างชัดเจนมาโดยตลอด และดำเนินนโยบายการย้ายถิ่นทดแทนมาเป็นเวลานาน ก่อนสหประชาชาติได้เสนอนโยบายดังกล่าวอีกด้วย ดังนั้น ประเทศไทยควรดำเนินนโยบายการย้ายถิ่นทดแทน ด้วยการตั้งเป้าจำนวนประชากรต่างชาติเพื่อให้ได้สัญชาติไทยปีละ 200,000 คน ใน 80 ปี จะได้ประชากรไทยเข้ามา 16 ล้านคน เท่ากับการทดแทนประมาณ 50% ของประชากรที่หายไป และการรับประชากรอพยพ(immigrants) ไม่จำเป็นต้องทดแทนทั้งหมด 100% เพราะประเทศสามารถใช้นโยบายอื่นๆ ร่วมด้วยได้ เช่น การสร้างสังคมผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ การพัฒนาแรงงานอย่างจริงจัง การเลื่อนอายุเกษียณ และการใช้เทคโนโลยีรวมทั้งหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ตลอดจนการแบ่งปันทรัพยากรแรงงาน กันในระบบภูมิภาค เช่น ในอาเซียน ด้วยกัน

ด้านรัฐศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สักกรินทร์ นิยมศิลป์ เสริมว่า ประเทศไทยต้องการแรงงานข้ามชาติที่มีทักษะนับล้านคนในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง และเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่มีรายได้สูง ทั้งประเทศไทยจำเป็นต้องรับผู้ย้ายถิ่นฐานถาวรมากขึ้น เพื่อชะลอจำนวนประชากรและกำลังแรงงานที่จะลดลงต่อเนื่อง ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินโครงการสมาร์ทวีซ่า เพื่อดึงดูดแรงงานที่มีทักษะ ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาจึงได้ออกนโยบายวีซ่าพำนักระยะยาว (Long-term Resident Visa – LTR Visa) เพื่อดึงดูดแรงงานที่มีทักษะและผู้ที่มีรายได้สูงจำนวนราว 1 ล้านคน เข้าสู่ประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม โครงการLTR ดังกล่าวไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายเท่าที่ควร เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ ประเทศไทยจึงควรปรับปรุงนโยบายการย้ายถิ่นฐานในเชิงรุก เพื่อดึงดูดผู้มีทักษะระดับสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เข้ามาทำงานในประเทศได้สะดวกขึ้น เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศ มากกว่าที่จะเน้นกลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก เช่น การดำเนินโครงการวีซ่าแบบยืดหยุ่น เพื่อให้ประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาว่าผู้อพยพที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสามารถอยู่ได้นานขึ้นและมีเส้นทางสู่การปรับสถานะเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรหรือเส้นทางสู่การเป็นพลเมืองได้อย่างไร

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า จากการคาดการณ์โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประชากรวัยทำงานมีแนวโน้มลดลงจาก 43.26 ล้านคน ในปีพ.ศ. 2563 เหลือ 36.5 ล้านคน ในปีพ.ศ. 2583 การก้าวสู่สังคมสูงวัย (Aged Society) แบบสมบูรณ์ ซึ่งในอนาคตอาจกระทบต่อกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยที่ยังต้องพึ่งพากำลังแรงงานข้ามชาติจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และงานภาคบริการโดยเฉพาะงานดูแลผู้สูงอายุ การใช้แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านถือเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ทำงานคุณภาพดี และแรงงานเหล่านี้ถือเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การปฏิรูปกฎหมายคนเข้าเมืองให้เอื้อต่อเงื่อนไขการจ้างงานแรงงานข้ามชาติ อย่างต่อเนื่องและการปฏิรูประบบการให้ถิ่นที่อยู่อาศัยถาวรในประเทศไทยและการพิจารณาให้สัญชาติไทยสำหรับผู้ที่อยู่ในระยะยาว เป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรเร่งดำเนินการ

นักเศรษฐศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. เฉลิมพล แจ่มจันทร์ เปิดเผยว่าการประเมินสถานการณ์เด็กข้ามชาติในประเทศไทยและผลกระทบจากโควิด-19 ที่พบว่า เด็กข้ามชาติได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้แก่ การเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ การศึกษา อาหารและโภชนาการ นอกจากนี้ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งก็คือการหลุดหรือตกหล่นจากระบบการศึกษา ระบบประกันสุขภาพ การจดทะเบียนการเกิด และความเสี่ยงจากการขาดผู้ดูแล ความรุนแรงในครอบครัว รวมถึง การถูกละเมิดสิทธิ์ ดังนั้น ประเทศไทยควรมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่ครอบคลุมเด็กข้ามชาติ การบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการจัดการดูแลเด็กข้ามชาติที่เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะด้านการศึกษาและสุขภาพ เพราะเด็กกลุ่มนี้สามารถเป็นกำลังแรงงานขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยได้ในอนาคต

Source : https://www.matichon.co.th/publicize/news_4135188