ประเด็นเนื้อหาถอดความและเรียบเรียงจากเวทีเสวนา Dialogue Forum 1 l Year 4: นโยบายสิ่งแวดล้อมในบริบทการเมืองใหม่ (Environmental Policies in the New Politics) โดยความร่วมมือของสำนักข่าว Bangkok Tribune, Decode.plus, ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม, และ SEA Junction ด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ (Konrad Adenauer Stiftung, Thailand Office).

ประเด็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม

รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษานโยบายทรัพยากรธรรมชาติและการลดก๊าซเรือนกระจก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ปัญหาฝุ่น PM 2.5

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพแล้วก็เยาวชน ที่ผ่านมา มันจะผลุบๆ โผล่ๆ พูดยาก แต่ว่าการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ไม่ใช่เรื่องง่าย ในแง่หนึ่งมันเกิดขึ้นมาจากสภาพภูมิอากาศ คือ PM 2.5 ไม่ได้เกิดทั้งปี มันจะเกิดเฉพาะช่วงหน้าหนาวเป็นหลัก ดังนั้น ถ้าต้นตอสาเหตุมาจากอากาศ เราจะไปบอกว่าเราก็ต้องไปแก้ที่ชั้นบรรยากาศ มันพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะว่ายังไงก็ต้องแก้ที่ตัวคน เพราะฉะนั้น ถึงมันจะเป็นเรื่องที่โชคไม่ดี แต่ก็ต้องมาดูแลว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของเราเป็นยังไงบ้าง

ในส่วนของเรื่อง PM 2.5 ตัวการมีอยู่ไม่กี่คน แต่ว่าเวลาพูดถึงมาตรการบางทีมันจะมีลักษณะที่ออกเป็นเชิงเหวี่ยงแหมากเกินไป ความหมาย ก็คือว่า ถ้าเราจำกัดตัวละครที่สร้างปัญหาได้ การดำเนินมาตรการก็จะง่ายขึ้น เช่น จะมีกลุ่มรถที่ใช้น้ำมันดีเซลในการสันดาป โดยเฉพาะรถบรรทุกที่มีการเผาไหม้ที่ไม่ค่อยสะอาดเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น ตัวนี้เป็นเรื่องสำคัญ ทีนี้ ถ้าเกิดมาตรการเราไปเหวี่ยงแหเอารถยนต์ทุกชนิด มันก็จะเหนื่อย แล้วมันก็จะสิ้นเปลืองทรัพยากร แล้วมันก็จะยาก แต่ถ้าไปเฉพาะเจาะจงเฉพาะตัวรถที่ปล่อยของเสียออกมา ก็จะเป็นพวกรถบรรทุกขนาดใหญ่เท่านั้น ซึ่งสรรพกำลังในการจัดการก็ไม่ได้มีเยอะ

สอง จะเป็นกลุ่มพวกเกษตรกรการเผาของเหลือใช้จากภาคการเกษตร ถัดมาก็ hot spot ก็คือ การแอบเผาในที่ในป่า แล้วก็สุดท้ายก็เป็นเรื่องของหมอกควันที่พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน อันนี้ก็จะยาก เพราะในอดีตต่างประเทศเขาเจอปัญหาพวกนี้ เขาก็แก้ลำบาก อันนี้ต้องใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขนาดสิงคโปร์เองเขาเคยมีปัญหากับอินโดนีเซีย ก็พูดคุยกันหลายปีกว่าจะดีขึ้นมาได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้น อันนี้ก็เป็นโจทย์ข้อที่ 1 สำหรับรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะดำเนินมาตรการที่มันจำเพาะเจาะจงกับผู้ปล่อยได้อย่างไร ทางออกมีอยู่ แต่ต้องใช้ความกล้าหาญทางการเมืองพอสมควร 

การลดก๊าซเรือนกระจก

การลดก๊าซเรือนกระจก อาจจะเป็นประเด็นนานาชาติ แต่ว่ามันจะมีความเกี่ยวโยงกับประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องของการค้าระหว่างประเทศ ถ้าบ้านเราภาคการผลิตยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก ต่อไปอาจจะเจอเงื่อนไขทางการค้าที่เป็นอุปสรรคได้ ฉะนั้น ก็เป็นจุดหนึ่งที่เราอยากจะหาวิธีการลดก๊าซเรือนกระจกนี้

ก็คล้ายๆ กับ PM 2.5 ในแง่ที่ว่ามันมีตัวละครไม่กี่ตัวที่เป็นตัวปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลักๆ แต่ถ้าเราไปทำเยอะ ถุงกระดาษ ถุงพลาสติกอะไรพวกนี้มากๆ บางทีจะเรียกว่าใช้สรรพกำลัง แต่ประสิทธิผลอาจจะน้อย ตัวละครสำคัญสำหรับการกระจกก็จะมีภาคพลังงาน แล้วก็ภาคการเกษตร ถัดมาจะเล็กน้อย ก็คือ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต

ภาคพลังงาน รัฐบาลไทยก็ดำเนินการในเรื่องของมาตรฐานน้ำมันไปแล้ว พวกยูโรปรับมาตรฐานน้ำมัน ซึ่งก็จะมีผลน่าจะปีนี้ปีหน้า แต่เรื่องการใช้รถยนต์ก็ยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล แล้วทุกวันนี้เราพยายามมาเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าน่าจะทำให้ให้สะดวกขึ้น แต่ก็ไปเจอกำแพงภาษีของกรมศุลกากร  รถยนต์ไฟฟ้าถึงแม้ต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน เขาขายในราคา 300,000 บาท แต่พอมาเมืองไทย มันก็จะกลายเป็น 400,000 หรือ 500,000 บาท 

ในส่วนของรัฐบาลก็ได้ชี้แจงว่าได้มีการลดภาษีให้รถยนต์ไฟฟ้านำเข้า แต่ว่ารัฐบาลไม่ได้ลดภาษีให้ทุกคัน รัฐบาลก็จะลดหย่อนภาษีให้เฉพาะบริษัทรถยนต์ที่มีข้อตกลงกับรัฐบาลเท่านั้น ข้อตกลงก็คือ มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยถึงให้สามารถนำเข้าได้ในพิกัดอัตราภาษีที่ต่ำ มันก็เลยเกิดการพูดถึงละครเรื่องยาวก็คือ แล้วทำไมประเทศไทยจะต้องผลิตรถยนต์ ที่ผ่านมาเราพยายามผลิตรถยนต์มาแล้ว 50 ปี ซึ่งเราก็ไม่สามารถผลิตรถยนต์เป็นของตัวเองได้ เพราะฉะนั้น เงื่อนไขที่จะบอกว่าอยากให้โรงงานมาเมืองไทยเพื่อนำไปสู่การจ้างงาน เป็นเงื่อนไขที่ฟังลำบากเพราะว่าประเทศไทยเองก็เริ่มที่จะขาดแคลนแรงงาน ไม่เหมือนสมัยก่อน เพราะฉะนั้น การทบทวนนโยบายเรื่องรถไฟฟ้าแล้วก็ภาษีนำเข้า รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีโรงงานผลิตรถยนต์เองในประเทศ ยังเป็นเงื่อนไขของการพัฒนาหรือไม่

ขยะ

เรื่องขยะ บ้านเราขีดความสามารถในการกำจัดขยะยังไม่เพียงพอ ประเทศไทยมีขยะประมาณ 25 ล้านตันต่อปี เราเอาไปกำจัดได้แค่ 1 ใน 3 เท่านั้น อีก 1 ใน 3 ก็คือ เอาไปรีไซเคิล แต่ว่ามันยังเหลืออีก 1 ใน 3 ที่ทิ้งกันทั่วๆ ไป ยังไม่มีการกำจัดหรือจัดเก็บอย่างถูกต้อง พูดง่ายๆ ก็คือว่า 1 ใน 3 ของขยะที่เกิดขึ้นในบ้านเรายังต้องดูแลกันอยู่ 

สาเหตุเท่าที่รวบรวมได้ คือ ท้องถิ่นยังขาดขีดความสามารถในการจัดเก็บขยะ แม้กระทั่งกรุงเทพฯ เองเป็นเมืองที่ท้องถิ่นมีขีดความสามารถสูงก็ยังดำเนินการได้ไม่ทั่วถึง และปัญหาที่เยอะมาก ก็คือ ในพื้นที่ห่างไกล ในอบต. ในจังหวัดต่างๆ เขาไม่มีแม้กระทั่งรถขนขยะไปเก็บตามบ้าน ขยะมันจะไปไหน มันก็ไปในที่ๆ อยากจะไป ท้องถิ่นขาดงบประมาณส่วนกลางก็ไม่ได้จัดไปให้มาก บอกให้ไปเก็บเงินเอาเอง มันก็เลยเป็นปัญหางูกินหางกันอยู่ 

เมื่อขยะในพื้นที่ห่างไกลไม่ได้มีการดูแล ท้ายสุดมันก็จะลงไปในแม่น้ำลำคลองแล้วมันก็จะลอยไปเป็นขยะทะเล ไปติดอยู่ในท้องเต่าทะเล กับปลาโลมาที่เราเห็นเป็นข่าวกันอยู่ทุกวันนี้ ขยะพวกนี้ส่วนหนึ่งมาจากชายหาด แต่หลายส่วนมาจากแม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเล 

พื้นที่ป่าไม้

พื้นที่ป่าไม้ เราชูประเด็นเรื่องพื้นที่ป่าไม้มาโดยตลอด ประเทศไทยตั้งเป้าอยากจะมีพื้นที่ป่าไม้ที่ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ แต่ตอนนี้พื้นที่ป่าไม้เรามีแค่ร้อยละประมาณ 31 หรือ 32 เท่านั้น ก็คือ เราขาดพื้นที่ป่าไปประมาณ 8% แล้วก็ตลอด10 กว่าปี หรือ 20 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขที่เป็นช่องว่างพื้นที่ป่าไม้ที่หายไปก็ไม่ได้ดีขึ้นเลย อยู่ในสภาพทรงๆ มาตลอด เราต่ำกว่าเป้ามาน่าจะ 15-20 ปีมาแล้ว  8% คิดเป็นเนื้อที่ก็ประมาณ      26 ล้านไร่ที่หายไป อันนี้ก็เป็นปัญหาท้าทายให้กับรัฐบาลใหม่เหมือนกัน 

ป่าไม้มีความสำคัญถ้าเราจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบตัวแบบเรียกว่า BCG (Bio-Circular-Green Economy) การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าป่าไม้ถูกคุกคามแบบนี้ ฐานทรัพยากรเราจะไม่เหลือ แล้วเราจะไม่มีฐานทรัพยากรความหลากหลายที่จะไปสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า แล้วก้าวกระโดดไปเป็นเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงได้

ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ต้นตอส่วนหนึ่งมาจากการขาดขีดความสามารถของพื้นที่ป่าในการดูดซับน้ำฝนแล้วก็ชะลอการไหลของน้ำ แล้วก็ด้วยเหตุนี้เอง เราก็อยากให้มีการฟื้นสภาพป่า ช่วงที่ผ่านมาเราเห็นรัฐบาลไทยก็ได้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องก็คือ พยายามให้มีการปลูกไม้เศรษฐกิจมากขึ้น มีการปลดล็อคไม้หวงห้าม แต่ก็ยังปลดล็อคไปบางส่วน หลายส่วนก็ยังไม่ได้ปลดล็อค  ตัวอย่างอันหนึ่งก็คือ นักธุรกิจที่ทำไม้เศรษฐกิจ เช่น ปลูกไม้สัก 20 ปี จะตัดขายก็ยังติดปัญหาที่ไม้ที่ปลูกได้ไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ เพราะกระทรวงพาณิชย์ยังห้ามผู้ประกอบการส่งไม้ออกไปต่างประเทศ องค์กรเดียวที่จะส่งได้คือองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เพราะฉะนั้นเงื่อนไขแบบนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องมาดู

คนที่บุกรุกพื้นที่ป่า ก็จะมีหลายรูปแบบ แต่ที่สำคัญที่เราเกี่ยวข้องด้วยก็คือ ธุรกิจข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ลอยนวลอยู่ได้บนพื้นที่ป่าไม้แล้วก็ไม่มีใครสามารถเข้าไปดำเนินการอะไรได้ อันนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายกฎหมาย แล้วก็ส่วนราชการเป็นอย่างมาก 

ป่าไม้ยังมีประเด็นสำคัญอีกนิดหนึ่ง ถ้าเราจะเข้าสู่สังคมที่เรียกว่าคาร์บอนต่ำ หรือ Carbon Neutral นอกจากเราจะลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคขนส่งกับภาคพลังงานแล้ว การดูดซับกลับคืนไปหรือที่เรียกว่า Carbon Sink และ Carbon Sequestration ก็เป็นเรื่องสำคัญในบรรดาภาคเศรษฐกิจหรือเทคโนโลยีต่างๆ แต่ภาคที่จะดูดซับคาร์บอนได้ดีที่สุดคือภาคป่าไม้ นอกจากจะได้เนื้อไม้ไปขาย มีอุตสาหกรรมต่อเนื่องแล้ว เนื้อไม้เองก็ยังดูดซับคาร์บอน ซึ่งการพัฒนากลไกสนับสนุนให้คนปลูกไม้ ปลูกป่าแล้วก็เก็บคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ไว้ด้วย ก็เป็นอีกโจทย์การบ้าน เพราะที่ผ่านมาก็จะพยายามทำแต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย หวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะช่วยได้

น้ำ

เรื่องน้ำ บ้านเรามีปัญหาน้ำ 3 อย่าง น้ำท่วม น้ำแล้ง แล้วก็น้ำเสีย น้ำแล้งจะมีปัญหาอย่างหนึ่ง คือ พอถึงเวลาหน้าแล้ง เราจะอยู่ในสภาพที่เรียกว่า มือใครยาวสาวได้เสาเอา แล้วก็ทำให้คนที่มือไม่ค่อยยาวอย่างเกษตรกรจะไม่ได้น้ำ แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่เขามีลู่ทางในการสูบน้ำเข้ามา เขาก็จะอยู่รอดไปได้ เพราะฉะนั้น กลไกการจัดสรรน้ำเท่าที่ดูแลยังไม่ค่อยชัดเจนว่าเวลาน้ำไม่ค่อยพอ ท้ายสุดแล้วใครจะได้ใครจะไม่ได้ ก็เป็นการบ้านสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ให้ดูแลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้น้ำให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย

นโยบายสิ่งแวดล้อมในบริบทการเมือง

ดร. ภาคภูมิ โลหวริตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเมืองดี สิ่งแวดล้อมจะดี?

ไม่ว่าการเมืองจะใหม่หรือไม่ใหม่ สิ่งแวดล้อมมันก็ต้องเดินต่อ วันนี้เรามาเชื่อมให้ดูว่าการเมืองมันต้องดีเหรอ สิ่งแวดล้อมมันถึงจะต้องดี แล้วการเมืองคืออะไร? นิยามเยอะมาก แต่เรื่องของการจัดการ เรื่องอำนาจ เป็นเรื่องของการบริหารประเทศ เป็นเรื่องของการจัดการความขัดแย้ง เรื่องของการประนีประนอม นิยามเยอะมาก  

เนื่องจากเราพูดเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อม ก็ขอใช้นิยามเรื่องนี้ เรื่องของความหมาย เรื่องของการเมืองเป็นเรื่องการบริหารประเทศและการกำหนดนโยบายของรัฐ นโยบายคืออะไร นโยบายมันเป็นเรื่องของการกำหนดทิศทางในการบริหารประเทศ เราอยากให้ประเทศไปทางไหน เราอยากให้ประเทศนี้เศรษฐกิจดี สิ่งแวดล้อมดี มีระบบสาธารณะสุขที่ดี ทีนี้ถามว่าการเมืองที่ดีมันควรจะเป็นยังไง อันนี้จริงๆ ถ้าเราจะพูดแบบเชิงซับซ้อนมาก มันก็จะเป็นเชิงนิติปรัชญา เพลโต อริสโตเติล อะไรพวกนี้

แต่ถ้าเรามองในแง่ของความร่วมสมัย ในเวทีโลกในเวทีต่างๆ การเมืองที่ดีควรอยู่บนพื้นฐานของหลักประชาธิปไตย ก็คือ เป็นเรื่องของที่ทั่วโลกเขาคิดตรงกันว่า ระบอบประชาธิปไตยนี่แหละน่าจะดีที่สุด เพราะฉะนั้น มันอาจจะไม่ใช่ดีที่สุด คือมีบางท่านก็บอกว่ามันเป็นเรื่องที่เลวน้อยที่สุด เราพูดว่ามันเป็นสิ่งที่พอเหมาะพอควร สิ่งที่ควรจะเป็น

ทำไมมันควรอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตยฦ เพราะประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยสูงสุดเป็นของประชาชน พูดง่ายๆ ที่สุด เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศหรือการตัดสินใจ แต่พลเมืองไทยประชากรไทยมี 70 ล้านคน แล้วทุกคนจะมาโหวตมันก็เป็นไปไม่ได้ มันเลยเกิดสิ่งนี้ ก็คือ ประชาธิปไตยในระบบผู้แทน เรื่องประชามติเป็นไปได้ แต่ว่าเราจะให้ทุกคนมาทำประชามติในทุกเรื่องก็เป็นไปไม่ได้ มันเลยมีเรื่องของระบบผู้แทนราษฎรเข้ามา ผู้แทนราษฎรเลือกจากประชาชน เราให้ผู้แทนราษฎรเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจ ที่ประชุมสภามีเรื่องของการนำไปสู่การอภิปราย ตั้งคำถาม แล้วก็มีการถกเถียงในสรัฐสภา เป็นรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วมของประชาชน ก็คือ รูปแบบหนึ่งผ่านทาง ส.ส.

ในระบบของประชาธิปไตยตามกระบวนการรัฐธรรมนูญปัจจุบัน การเข้าชื่อเสนอกฎหมายก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการเข้ามามีส่วนร่วม เรื่องอากาศสะอาดก็ดี PRTR (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) เรื่องของการเคลื่อนย้ายมลพิษอะไรพวกนี้ ก็เป็นอีกช่องหนึ่งที่ประชาชนเข้ามาได้ หรือการเสนอความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ จะเป็น NGOs, องค์กรเอกชน อะไรก็แล้วแต่ อันนี้ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง หรืออาจจะร้องเรียนไปที่หน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียน ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือเรื่องของสำนักงาน เรื่องของสิทธิมนุษยชนอะไรพวกนี้ ก็เป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่งที่เราสามารถทำได้ 

แต่ทีนี้ สิ่งที่มันจะทำให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ จะต้องบวกอีกข้อหนึ่ง ก็คือ เรื่องของการถ่วงดุล และตรวจสอบ อันนี้สำคัญมาก แน่นอนว่าอะไรที่รัฐทำแล้วมันไม่ชอบมาพากล อย่างบางคนก็บอกนโยบายสิ่งแวดล้อมเรื่องนี้ไม่ได้เลย ทำไมไปให้ความสำคัญกับเรื่องนายทุน เรื่องขององค์กรภาคอุตสาหกรรม แต่ว่าสิ่งแวดล้อมคุณไม่สนใจหรออะไรพวกนี้ ถ้านโยบายหรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ หรือกฎหมายบางเรื่องที่มันอาจจะไม่เป็นไปตามหลักตามเกณฑ์ มันจะต้องถูกตรวจสอบถ่วงดุลได้ ทีนี้ รูปแบบก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลในสภา อะไรพวกนี้ก็สามารถทำได้ 

แล้วก็อีกเรื่องหนึ่งที่มันอาจจะต้องมี อันนี้เราเรียกว่า “free speech” เรื่องของการแสดงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งของสื่อ สรุปง่ายๆ ประชาธิปไตย คือ สิ่งที่ประชาชนมีส่วนร่วม แล้วก็ตามมาด้วยระบบการตรวจสอบถ่วงดุล และก็อาจจะต้องบวกเรื่องของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เขาอาจจะไม่เห็นด้วย ไม่ใช่เราผลักเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้ง คือ เราก็อาจจะต้องรับฟัง มันมีความอดทนต่อความเห็นที่แตกต่าง แล้วก็เคารพความแตกต่างซึ่งกันและกัน

มุมมองส่วนตัวในมุมมองสิ่งแวดล้อม เรื่องที่อาจจะต้องมี ก็คือ เรื่องของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แล้วก็เรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อาจจะต้องมากกว่านี้ เรื่องอื่นๆ จริงๆ เราก็เห็นในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างมีปัญหาอยู่ ชาวบ้านออกมาประท้วง โรงไฟฟ้า โรงขยะ ชาวบ้านก็ถูกจับ หรือว่าคนออกมา สื่อออกมา สื่อก็ถูกฟ้อง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดง่ายๆ คือ เราจะต้อง voice คนที่ไม่เห็นด้วย เขาควรมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นได้

ขออนุญาตยกตัวอย่าง คำสั่ง คสช. 4/59 เรื่องของการบังคับใช้ยกเว้นการใช้กฎกระทรวงบังคับผังเมืองรวมกับการประกอบกิจการบางประเภท พูดแบบสั้นๆ ง่ายๆ ที่สุด ก็คือ ตัวนี้มีปัญหา เพราะว่ามันเป็นเรื่องของการบังคับใช้ ยกเว้นการบังคับใช้กฎกระทรวงบังคับ       ผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ประกาศตัวนี้มีปัญหา เพราะว่าเป็นเรื่องของการยกเว้นเรื่องการบังคับใช้ผังเมืองรวมกับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ไม่ใช่โรงไฟฟ้าทุกอันที่มันจะไม่มีปัญหามลพิษ บางอันก็มีปัญหา ถ้าเราดูในเนื้อความของมัน ความมุ่งหมายมันอาจจะเป็นเรื่องที่เขาอาจจะต้องการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ณ สมัยนั้น แต่ว่าประกาศที่ออกนี้มาบอกว่า ต่อไปผังเมืองรวมไม่ต้องดู แปลว่าอะไร ตั้งตรงไหนก็ได้ อยากไปตั้งที่ไหนก็ได้       

ทีนี้สิ่งที่มันเป็นปัญหา คือ พอไปตั้งตรงไหนที่ได้ ชาวบ้าน ประชาชนอยากได้ไหม บางทีก็ไม่อยากได้ โรงไฟฟ้าขยะมันก็จะมีปัญหาในแง่ของการปล่อยมลพิษ เราต้องยอมรับว่าบางทีว่าโรงไฟฟ้ามันไม่ได้กรีนทั้ง 100% โรงไฟฟ้าขยะมีปัญหา มีปัญหาเพราะว่ากฎเกณฑ์ตัวนี้คำสั่งตัวนี้มันมีปัญหา เพราะว่ามันไม่ได้ผ่านเรื่องของการรับฟังความคิดเห็นเลย เพราะว่าอย่างที่ทุกท่านทราบ คือ อยู่ช่วงหลังรัฐประหาร เป็นเรื่องของคสช.ออกมาปุ๊บ ชาวบ้านยังไม่รู้เลย วันดีคืนดีโรงไฟฟ้าขยะมาตั้งข้างบ้านฉัน แล้วก็ไม่รู้ว่ามีคำสั่งตัวนี้ บอกกฎกระทรวงผังเมืองรวมไม่ต้องใช้

แล้วมันมีแพ็คคู่มาอีก ก็คือ EIA ปี 2561 ออกเป็นประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม กำหนดประเภทของกิจการที่ต้องขอ EIA ประกาศ EIA ปี 2561 ออกมาบอกว่า โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงไม่ต้องทำ EIA เกณฑ์เดิม ก็คือ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 10 เมกะวัตต์ ต้องทำหมด แต่ทีนี้พอปี 2561 ไปเขียนอันนี้ขึ้นมา ก็เลยมีปัญหาเหมือนกันว่า ผังเมืองก็ไม่ต้องทำ EIA ก็ไม่ต้องทำ กลายเป็นว่ากฎเกณฑ์การควบคุมเรื่องสิ่งแวดล้อมหายหมดเลย

ก็แสดงให้เห็นว่ากฎเกณฑ์พวกนี้ พอออกมาในยุคที่ไม่ได้มีการตรวจสอบ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ความเดือดร้อนของชาวบ้านก็เกิดขึ้น กรณีนี้มีการฟ้องศาลปกครอง แต่ว่าศาลปกครองท่านไม่รับ ฟังเหตุผลแล้วก็ค่อนข้างสลดใจ คือตอนนั้นมีการฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศตัวนี้ ศาลปกครองไม่รับคำร้องด้วยเหตุผลที่ว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2559 มาตรา 44 บอกว่า ให้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ออกมาถือว่าชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นที่สุด ศาลปกครองท่านก็ฟังตรงนี้ แล้วก็บอกว่า พอมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 59 เขียนบอกให้เป็นที่สุดก็จบ ศาลปกครองก็บอกศาลปกครองไม่รับ 

ซึ่งจริงๆ อันนี้ก็น่าสนใจ เพราะว่าถ้าเราดูจริงๆ ในเชิงเนื้อหา จริงๆ มันก็มีปัญหาอยู่ เพราะว่าเป็นเรื่องกระทบต่อสิทธิในสุขภาพและการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อันนี้กระทบเต็มๆ เรื่องผังเมือง คือ อะไรมันควรอยู่ตรงไหน แน่นอนว่าในการจัดทำผังเมือง ปกติต้องมีการรับฟังความคิดเห็นโดยตัวของกฎหมายผังเมือง แต่ประกาศตัวนี้ออกมาไม่มีเรื่องรับฟังความคิดเห็นเลย อยู่ดีๆ ก็ออกมา

ที่มันน่าตกใจ ก็คือ คำสั่งนี้ศาลก็ตรวจสอบไม่ได้อีก เพราะว่ามันเป็นมาตรา 44 เขียนว่ารัฐธรรมนูญเป็นที่สุด อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าอยู่ในภาวะที่การตรวจสอบทำไม่ได้เต็มที่ ก็มีปัญหา กรณีโรงไฟฟ้าอ่อนนุช ชาวบ้านเขาร้องเรียนมากเลย มีกลิ่น มีมลพิษ มันก็เป็นผลพวงมาจากประกาศตัวนี้ คำสั่งคสช. เรื่อง EIA เพราะว่ามันไม่ต้องทำ

สิ่งแวดล้อมในนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง

ตัวพรรคการเมืองและนโยบาย เวลาพรรคการเมืองหาเสียง เขาต้องนโยบายมาขาย พรรค ก, ข, ค เขาต้องเอานโยบายมาขาย แน่นอนว่า ก็มีพรรคที่ตัวนโยบายมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม บางพรรคก็ไม่มีเลย บางพรรคก็อาจจะน้อยหน่อย คือ มันเป็นเรื่องที่โอเค คุณเอานโยบายมาขาย เอานโยบายมาขายเสร็จ ประชาชนก็ไปเลือกจากนโยบาย

ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย มันมีความสัมพันธ์ระหว่างนโยบาย ก็คือ พรรคการเมืองที่ชนะจะเอานโยบายไปทำ แต่ว่าเขาจะเอาสิ่งแวดล้อมไปทำหรือเปล่ามันขึ้นอยู่กับว่าเฉดของพรรคที่มาเป็นพรรคร่วม เขาเอากับคุณหรือเปล่า เขาเอาสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเบอร์ 1 หรือเปล่า หรือบางพรรคก็บอก ไม่เอา เอาปากท้องก่อน ค่าแรง 400-500 เอามาก่อน หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมือง เรื่องนโยบาย กับเรื่องสิ่งแวดล้อม

เราเห็นอะไร ในปี 2566? เราเห็นหลายเวทีพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งอันนี้ดีใจด้วย เพราะว่าตอน ปี 2562 ไม่ค่อยเห็น เราไปดูในเนื้อใน ถามว่าพรรคไหน (ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม) ส่วนตัวคิดว่า ก้าวไกล ถ้าเราไปดูตัวเนื้อนโยบายค่อนข้างจะมีความครอบคลุมมากกว่าพรรคอื่น นเว็บไซต์เขาเยอะมากจนดูไม่ทั่ว เขาจะมี 100 นโยบาย 100 วันอะไรของเขา พรรคอื่นๆ ถามว่ามีไหม ก็มี ทุกพรรคพูดเรื่อง “ฝุ่น” เหมือนกันหมดเลย คือ มันอาจจะเป็นเรื่องที่มัน matter ก็คือ ทุกคนเห็นตรงกันหมดเลยว่า “ฝุ่น” เป็นเรื่องที่มี priority สูงสุด แต่ว่าจะแก้ไขปัญหาอะไรได้ บางอันยังคิดตามไม่ออก แล้วมันอาจจะยังไม่เป็นรูปธรรม ก็เข้าใจว่าแต่ละเวที อาจจะไม่ได้มีเวลาพูดเยอะ 

แต่ถามว่า สิ่งแวดล้อมมีการพูดถึงในเชิงการเมือง ในเชิงของนโยบายไหม? มี แต่แน่นอนว่าเราอาจจะต้องยอมรับว่า นโยบายสิ่งแวดล้อมยังไม่ใช่นโยบายหลัก มันเป็นขาที่เหมือนเข้ามาเสริม ในรอบที่ผ่านมาสิ่งที่ชูมากที่สุดคือ เศรษฐกิจ สถานการณ์ COVID-19 ก็คือ เศรษฐกิจพังมาก คนอยากได้เรื่องปากท้อง เรื่องสิ่งแวดล้อมก็พยายามเสริมๆเข้ามา ก็คือ เหมือน offer มาให้คนดูว่า ฉันมีนโยบายนี้ ครอบคลุมเหมือนหลายๆ ด้านที่หลายๆ ท่านเป็นห่วง ยังไม่ได้เห็นชูเป็นนโยบายหลัก

คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH Thailand) 

การจัดการมลพิษในบริบทการเมือง

5 ประเด็นที่อาจารย์อดิศร์พูดไว้ ถ้ามองในมิติของสิ่งแวดล้อมแล้ว จริงๆ ยังมีมุมที่อยู่ลึกลงไป แล้วมุมเหล่านั้นมันอาจจะไม่ได้ถูกหยิบยกมากล่าวถึง แต่ว่ามันมีปัญหาที่ใหญ่มากซ่อนอยู่ในแต่ละประเด็น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่หนึ่ง

เรื่องที่ 2 ที่ยังไม่มีการพูดถึงเลย คือ โครงสร้างของปัญหาที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ในช่วง 8-9 ปี ที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลชุดเดิม เรามีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมาก ง่ายๆเลย ก็คือ กฎหมายอะไรที่มีความสำคัญต่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม กฎหมายเหล่านี้ไม่ได้ออกมาเลย หรือว่าไม่ได้ถูกแก้ไขให้มันดีขึ้น 

ในทางตรงกันข้าม การแก้ไขกฎหมายไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม หรือว่าพ.ร.บ.โรงงาน และอื่นๆ มันกลับมีมิติที่แฝง ทำให้เป็นผลที่เกิดการทำลายด้านสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างง่ายๆ คำสั่งที่ 4/2559 ตัวพ.ร.บ.โรงงาน ที่มีการแก้ไขก่อนหน้านั้น ก็ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้น เพราะว่าตัวกฎหมายโรงงานที่ได้มีการแก้ไขในช่วงรัฐบาลที่กำลังจะเป็นรัฐบาลชุดก่อน เอื้ออำนวยต่อการลงทุนมากขึ้นแล้วก็มีการยกเลิกอายุของใบอนุญาต ใบประกอบกิจการต่างๆ ถอนมาตราที่ควรจะมีว่าด้วยเรื่องการประกันความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมให้            ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบปัญหาพื้นที่ปนเปื้อนต่างๆ

ในทางกลับกันได้มีการออกกฎหมายที่เอื้ออำนวยการลงทุนสูงมาก เอื้อต่อการผูกขาดของทุน จัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการแข่งขันการค้าระหว่างประเทศเป็นหมื่นล้าน ในขณะที่เวลาที่เราขอทุนหรือที่หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของบประมาณ ก็จะบอกว่าไม่มีทุน สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ ถ้าเทียบกับหลายๆ รัฐบาลที่ผ่านมา ต้องถือว่า อยู่ในยุคที่เลวร้ายมากของประเทศไทย ทำให้ประเด็นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของบ้านเราถดถอยไปเยอะ

ซึ่งโครงสร้างที่มีปัญหาตรงนี้มันยังไปทำลายเรื่องของสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนด้วย จะเห็นว่าหลายปีที่ผ่านมาประชาชนเข้าถึงข้อมูลยากมาก นับว่าเป็นประวัติการณ์ที่มีการปกปิดข้อมูล แล้วรัฐบาลเองไม่เคยสนใจเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐบาลนายกฯประยุทธ์ไม่เคยลงมาคุยกับชาวบ้าน ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาททางทรัพยากรธรรมชาติ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เคยไหม เคยเจอข่าวที่ท่านนายกฯ ลงมาคุยกับชาวบ้านในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมไหม? เราตามประเด็น เราไม่เคยเห็น 

เพราะฉะนั้น ข้อมูลที่ท่านฟังแล้วก็รับเอามาประกอบการตัดสินใจ มันจะเป็นข้อมูลจากภาคของนักลงทุน นักธุรกิจ และเป็นทุนขนาดใหญ่ด้วย เราก็ยังไม่เห็นท่านรัฐบาลที่ผ่านมาใส่ใจกับผู้ประกอบการทุนเล็กๆ หรือว่ากลุ่ม SME ต่างๆ ซึ่งก็มีปัญหาเยอะ เขาเองก็ส่งผลต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมเยอะ แต่เขาต้องการที่จะปรับปรุงแก้ไขแล้วก็ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ ตรงนี้เขาก็ถูกทอดทิ้งมาโดยตลอด

ในส่วนเรื่องของการมีส่วนร่วมก็ไม่ต้องพูดถึง ประชาชนต้องช่วยเหลือตัวเองโดยตลอด ทางอาจารย์พูดถึงเรื่องการถ่วงดุลอำนาจและการตรวจสอบ แต่ 9 ปีที่ผ่านมาทุกชุมชนที่เขาเดือดร้อนจากเรื่องสิ่งแวดล้อม เขาต้องต่อสู้ด้วยตัวเอง ต้องพึ่งพาตนเองในการตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษ หรือว่าต่อสู้เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการฟ้องคดีแพ่ง คดีปกครอง การร้องเรียน หรือการชุมนุมประท้วง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตลอดเส้นทางของการบริหารงานของพลเอกประยุทธ์ ซึ่งอันนี้เราเห็นได้ชัดอยู่แล้ว

เรื่องของฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นปัญหา ทำให้คนไทยตื่นกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก โดยเฉพาะเรื่องของมลพิษอากาศ ไม่ว่าจะเป็นคนจน คนรวp คนในกรุงเทพฯ หรือคนในต่างจังหวัดในทุกภูมิภาค เดือดร้อนโดยทั่วๆ กัน ถ้าไปดูแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของรัฐบาล กลไกในการแก้ไขปัญหา ก็คือ อยู่ในรูปของการตั้งคณะกรรมการ อาจจะให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นศูนย์การประสานงาน แต่ว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ อย่างมากสุดก็คือ แค่จัดประชุมและอำนวยการประชุมให้มีข้อสรุปไป แต่ข้อสรุปแต่ละข้อสรุปจะนำไปสู่การบังคับใช้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งโดยมากคือ ไม่ได้นำไปสู่การบังคับใช้

ประเด็นต่อมา เราจะสังเกตดูว่าเวลาที่เราพูดถึง PM 2.5 ในประเทศไทย แหล่งกำเนิดหลักๆ หรือประเด็นหลักๆ ที่มีการพูดทั้งโดยการนำพูดของรัฐบาล หรือของหน่วยอื่นๆ จะพูดถึงเรื่องของหมอกควันข้ามพรมแดน เรื่องของไฟป่า เรื่องการเผากลางแจ้ง การเผาในภาคเกษตร    แต่จริงๆ แล้ว เท่าที่เราติดตามมา ทุกประเทศไม่ว่าในยุโรป ในอเมริกา ในออสเตรเลีย ในจีน ในไต้หวัน สัดส่วนของการทำให้เกิดปัญหา PM 2.5 ที่รุนแรงและเป็นสัดส่วนที่ใหญ่กว่าทุกภาค คือ เรื่องการปล่อยจากภาคอุตสาหกรรม ประเทศไทยไม่พูดถึงเลย หรืออาจจะพูดกันแบบพูดถึงน้อยนิดมากๆ แต่ว่าไม่มีมาตรการชัดเจนในการที่จะกำกับเรื่องการปล่อยมลพิษอากาศโดยเฉพาะฝุ่น แล้วก็สารอันตรายต่างๆ จากปล่องของโรงงานต่างๆ

เราต้องยอมรับว่ารัฐบาลไม่มีข้อมูล การไม่มีข้อมูลทำให้เขามองไม่เห็นภาพอะไรในการแก้ไขปัญหา มองไม่เห็นผัง มองไม่เห็นที่มาที่ไป รัฐบาลไม่รู้หรอกว่าทุกวันนี้มีโรงงานที่ปล่อยมลพิษอากาศจริงๆ กี่โรงทั่วประเทศ แล้วแต่ละโรงปล่อยมลพิษอะไรบ้าง มีซัลเฟอร์ไดออกไซด์   (Sulfur dioxide) มีไนโตรเจนออกไซด์ Nitrogen Oxide มีฝุ่น หรือว่ามีสารอินทรีย์ระเหยง่าย มีสารโลหะหนักปนเปื้อนในฝุ่นไหม? รัฐบาลไม่รู้ว่าทั้งหมดมวลสารในอากาศมีกี่ชนิด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมีถึง 4,000 กว่าชนิด แต่สิ่งที่ภาครัฐไทยพูดถึงจะมีอยู่ประมาณ 5-6 ตัวเท่านั้น ซึ่งอันนี้ไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ ตราบใดที่คุณไม่รู้ คุณจะไม่สามารถวางแผนแก้ไขปัญหาได้ 

แล้วทุกวันนี้เราพูดถึง PM 2.5 เยอะ เราก็ยังไม่มีค่า PM 2.5 ที่เป็นมาตรฐานปลายปล่อง สู้กันมาพักนึงเรื่องการฟ้องคดีให้มีค่ามาตรฐานของฝุ่นในบรรยากาศ PM 2.5 ในบรรยากาศ แล้วก็การตรวจจับแหล่งกำเนิดของ PM 2.5 โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมจุดความร้อนทั่วประเทศ หรือว่ารอบๆ เพื่อนบ้านของเรา การอาศัยจุดความร้อนเป็นตัวบ่งชี้ว่า PM 2.5 ในพื้นที่ไหนรุนแรง หรือในฤดูกาลไหนที่รุนแรงไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้เดียว เพราะว่าปล่องของโรงงานแต่ละโรงไม่ปรากฏเป็นจุดความร้อน 

แล้วโรงงานบ้านเราที่อยู่ในฐานข้อมูลของกรมโรงงานมี 130,000 กว่าโรง ใน 130,000 กว่าโรง มีประมาณ 70,000-80,000 โรง ที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศที่สำคัญ ใน 70,000-80,000 โรง เคยปรากฏจุดความร้อนให้เห็นไหม? ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่ปรากฏ ข้อมูลตรงนี้มันหายไป ในเมื่อหายไป จึงไม่ถูกย้อนกลับมาเป็นการออกมาตรการในการกำกับดูแลและลดการปล่อย PM 2.5 จากภาคอุตสาหกรรม     

เอาง่ายๆ แค่ กทม. รู้ไหมว่า โรงงานในกทม.มีกี่โรงที่ปล่อยฝุ่น รอบๆ กทม.มีกี่โรงที่ปล่อยฝุ่น ตอบไม่ได้หรอก เราเชื่อเลยว่าวันนี้ไปถามท่านก็ตอบไม่ได้ ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ เวลาที่เราพูดถึงฝุ่น PM 2.5 เราก็จะคิดถึงฝุ่น แต่ในฝุ่น PM 2.5 มันมีขั้นปฐมภูมิ ขั้นทุติยภูมิ ในขั้นทุติยภูมิ คือการผสมผสาน การทำปฏิกิริยาทางเคมีของสารอันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากภาคอุตสาหกรรม และจากปัจจัยอื่นๆ ซึ่งจะมีทั้งตัวโลหะหนัก มีทั้งสารก่อมะเร็ง มีทั้งสารดีเซลระเหยง่ายที่เกาะกันอยู่ในอนุภาคเล็กๆ อย่างนั้น และนี่คือสิ่งที่อันตรายที่สุดที่ทำให้เป็นโรคมะเร็งหรือว่าโรค อื่นๆ อันนี้รัฐบาลก็ไม่ได้โฟกัสอยู่ที่ตรงนี้เลย รัฐบาลไม่มีข้อมูล แล้วก็มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับกลุ่มทุน ซึ่งกลุ่มทุนก็ผูกขาดกับอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้น มันก็จะโยงไปถึงกันทั้งหมด

เรื่องของโลกร้อน เราก็อึดอัดกับเรื่องโลกร้อนตรงที่ว่าเวลาที่พูดถึงภาคพลังงานเป็นตัวปล่อย greenhouse gas สูงที่สุด มันเป็นตัวเลขมันเป็นสัดส่วนที่เบลอๆ ควรจะต้องทำให้ชัดไปกว่านี้ว่า ภาคพลังงานที่ปล่อยสูงที่สุดเป็นพลังงานที่ใช้เพื่อผู้บริโภคทั่วไปหรือผู้ใช้ไฟทั่วประเทศที่เป็นประชาชนทั่วไปสัดส่วนเท่าไหร่ พลังงานที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมคือสัดส่วนเท่าไหร่ 

เวลาที่เราพูดถึงการปล่อยก๊าซฯ เราพูดถึงพลังงานใหญ่สุด แล้วก็พูดถึงภาคเกษตร ภาคเกษตรจะเป็นจำเลยในทุกเรื่อง ประเด็นอยู่ตรงที่ว่าในส่วนของภาคอุตสาหกรรมจะเป็นผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำมาก แต่ว่าไม่เคยวิเคราะห์เลยว่าอุตสาหกรรมต้องใช้เชื้อเพลิง ต้องใช้พลังงาน และเชื้อเพลิงที่โรงงานอุตสาหกรรมใช้จะมีตั้งแต่ถ่านหิน ถ่านโค้ก น้ำมันดิบ น้ำมันเตา น้ำมันผสม ขยะต่างๆ เยอะแยะไปหมด สิ่งเหล่านี้เป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงมาก 

เพราะฉะนั้น ถ้าเอาสัดส่วนการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรม และกระบวนการผลิตทั้งหมดของภาคอุตสาหกรรม เราเชื่อว่า sector ที่ใหญ่ที่สุดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือภาคอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับเรื่อง PM 2.5 เพราะฉะนั้น 2 ส่วนนี้ อยู่ที่คำถามว่า มีข้อมูลพอไหม? และอยู่ที่กล้าหาญพอไหมในการแก้ปัญหา?

เรื่องขยะ 25 ล้านตัน นั่นคือขยะจากชุมชน แต่ตราบใดที่บ้านเราส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรม แล้วบ้านเราไปเร็วมาก ขยะอุตสาหกรรมไม่อันตราย ตัวเลขขึ้นไปถึง 30-40 ล้านตันต่อปี แล้วขยะอุตสาหกรรมอันตรายจะเริ่มอยู่ที่ประมาณ 2-3 ล้านตันต่อปี อันนี้เป็นตัวเลขประมาณการ ซึ่งโดยส่วนตัวถือว่าต่ำมาก แล้วก็ไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง แต่ถึงแม้จะต่ำแบบนี้ ตัวเลขขยะอุตสาหกรรมอันตรายในปัจจุบันก็ลดลงเหลือประมาณล้านกว่าตัน ในขณะที่อุตสาหกรรมโตขึ้น การลงทุนมากขึ้น แต่ขยะอุตสาหกรรมอันตรายตัวเลขต่ำลง

ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่ามีการแก้กฎหมาย ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องของโครงสร้าง มีการแก้ประกาศกระทรวง อนุญาตให้มีการนำกากอุตสาหกรรมอันตรายมารีไซเคิลได้ ซึ่งกฎหมายเดิมถือว่าต้องเอามาเผา เอามารีไซเคิลไม่ได้ เพราะจะเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ร้ายแรงมาก แต่ทุกวันนี้เพื่อเป็นการช่วยภาคอุตสาหกรรมลดต้นทุน ฉะนั้น ขยะอุตสาหกรรมอันตรายถูกแปรมาเป็นเชื้อเพลิงได้ เอามารีไซเคิลได้ แต่ว่าในขณะเดียวกันเทคโนโลยีหรือระบบกำกับดูแลตรวจสอบเรื่องการปล่อยมลพิษจากการรีไซเคิลขยะของเสียตลอดเหล่านี้ไม่ได้แก้ไขตามไปด้วย เพราะฉะนั้นมาตรการต่างๆจึงอ่อนมาก แล้วก็เป็นตัวที่ทำลาย เป็นตัวซ้ำเติมมลพิษทางอากาศ 

PM 2.5 กับอื่นๆ ที่ปล่อยจากปล่องของโรงงานที่ระบายอากาศทิ้ง อากาศเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตและกระบวนการเผาไหม้ทั้งหมด คือการซ้ำเติมอากาศของประเทศไทยให้รุนแรงมากขึ้น เราไม่แปลกใจหรอกทุกวันนี้ผู้ที่ป่วยด้วยมลพิษอากาศเพิ่มสถิติเพิ่มเร็วมาก และคนตาย คนเสียชีวิตจากเรื่องนี้สูงมาก มีความเกี่ยวพันกันทั้งหมด

นอกไปจากนี้ ประเทศอุตสาหกรรมเองมีมาตรการมีกฎหมายควบคุมเข้มงวดมาก ไม่ว่าเขาจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามขีดขั้นความสามารถที่รัฐบาลของเขากำหนดไว้ เขามีกฎหมายสิ่งแวดล้อมควบคุมเรื่องมลพิษอากาศ หรือว่าควบคุมเรื่องน้ำเสีย ดินปนเปื้อน พวกนี้เข้มข้นเข้มข้นมาก กลุ่มประเทศเหล่านี้พยายามถ่ายโอนของเสียมาบ้านเรา เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์เก่า เครื่องยนต์เก่า อุตสาหกรรมเก่าๆ เทคโนโลยีเก่าๆ ตอนนี้บ้านเราเต็มไปหมดเลย เพราะบ้านเราใจดีเปิดรับหมดเลย ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมในยุคที่เพิ่งกำลังหลุดพ้น ท่านก็เอาเข้ามาเยอะมาก เพราะฉะนั้นมันคือสิ่งที่เป็นความไม่เป็นธรรมของการพัฒนา และก็เป็นการเอารัดเอาเปรียบของประเทศอุตสาหกรรมที่มีต่อประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย เพราะฉะนั้น คุณภาพสิ่งแวดล้อมของบ้านเราน่าจะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ

เวลาที่เราพูดถึงนโยบาย ตอนนี้เราไม่มีหวังแล้ว การเมืองไม่ใหม่แล้ว ณ เวลานี้ ต้องยอมรับว่าเรายังไม่มีหวัง และเชื่อว่าจะยังไม่มีหวังไปอีกระยะหนึ่งเลย ทำไมเหมือนกับ เราหวังอะไรก้าวไกลรึเปล่า ต้องยอมรับว่า เรามีความหวังกับพรรคก้าวไกล ที่มาของการเกิดพรรคนี้ เกิดจากการรวมตัวส่วนหนึ่งของภาคประชาชนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ และคุณภาพชีวิตของคน มีจุดเริ่มต้นจากคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการตรงนั้น ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรกับพวกเราที่เราทำงานตรงนี้ แต่เขาคิดว่าช่องทางการต่อสู้ คือต้องเข้าสู่วงจรการเมือง วิธีต่างกันแต่ว่าเป้าหมายไม่ค่อยต่างกัน 

สมาชิกของพรรคนี้เท่าที่เราเห็นหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลายปีที่เราทำงานเรื่องนี้มา จะมีสมาชิกของพรรคนี้เท่านั้นที่มาพูดคุย มาสำรวจ มารับฟัง มามีส่วนร่วมว่าปัญหาของคุณคืออะไร คุณมีข้อเสนออะไร มิติสิ่งแวดล้อมมีปัญหาอยู่ที่ไหนบ้าง แล้วข้อเสนอคืออะไร กฎหมายมีปัญหาไหม นโยบายมีปัญหาไหม มลพิษอากาศแบบนี้ส่งผลอย่างไร ขยะส่งผลอย่างไรแบบนี้ คือเขาเปิดใจรับฟัง รับฟังข้อมูล 

คุณจะวางนโยบายที่ดีได้ คุณต้องมีข้อมูลประกอบการวางนโยบาย และนี่คือพรรคเดียวที่ทำแบบนี้ เราไม่เห็นพรรคอื่น จริงๆ ไม่ใช่ว่าเรามี bias หรือว่าเราไม่อยากจะสนับสนุนเขา แต่มันคือข้อเท็จจริงที่เราเจอมาว่าเวลาที่คุณจะวางนโยบายที่ดีได้ คุณต้องวางจากข้อมูลที่คุณศึกษามา เหมือนกับคุณทำวิจัยเล็กๆ หลายๆ เรื่องแล้วก็เอามาผนวก มาผูกรวมมาเป็นนโยบายเสนอแล้วก็ต่อสู้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะแก้ได้ต้องแก้โครงสร้างใหญ่เลย และโครงสร้างใหญ่ผูกมัดกับการผูกขาดของทุนขนาดใหญ่ ผูกมัดหรือถูกทำลายโดยวงจรของการทุจริตคอรัปชั่น ของข้าราชการ ของนักการเมืองรุ่นเก่า แล้วก็ของนักธุรกิจ ที่ผูกกันแน่นมาก ไม่แปลกใจที่พรรคก้าวไกลวันนี้จะไม่ได้เป็นรัฐบาล เพราะศัตรูเขารอบด้านอยู่แล้ว 

นอกจากนี้แล้ว จริงๆ เรายังมีความหวังว่าไม่จำเป็นต้องก้าวไกล แต่เราอยากให้ทุกพรรคการเมืองมี mindset ใหม่ มีวิธีคิดใหม่ คิดใหม่เลยว่า สิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เรื่องเห็นสีเขียวๆ เห็นท้องฟ้าสีฟ้า เห็นน้ำทะเลใส ไม่ใช่แค่นั้น ไม่ใช่มายาการเพียงแค่นั้น แต่สิ่งแวดล้อม ยังหมายถึงมิติทางโครงสร้างอีกเยอะ หมายถึงกฎหมายอีกเยอะ แล้วสิ่งแวดล้อมถ้าไม่ดีซะอย่าง มีมลพิษ ปนเปื้อน หมายถึงความเสี่ยง ความทุกข์ หรืออันตรายที่มันใกล้ตัวเรามากๆ และสิ่งเหล่านี้ สามารถที่จะทำลายคุณภาพชีวิตของคนตั้งแต่ยังไม่เกิด เกิดมาแล้ว หรือว่ากระทั่งจนตาย   

ถ้าหากว่าสิ่งแวดล้อมไม่ดีด้วยมิติต่างๆ หรือปัญหาต่างๆที่พูดมาทำให้ศักยภาพของคนต่ำ แล้วเมื่อศักยภาพของคนไทยต่ำ ก็อย่าหวังว่าจะไปแข่งขันกับคนข้างนอกได้ เพราะฉะนั้นการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องปลูกฝังตั้งแต่ต้นๆเลย ตั้งแต่ในหลักสูตรการศึกษา แล้วก็ตั้งแต่ในเรื่องของการวางแผนของรัฐบาล ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย ตั้งแต่เรื่องของการอนุรักษ์ การรักษา       การปกป้องคุ้มครอง และการบังคับใช้กฎหมาย การต่อสู้กับการทุจริตคอรัปชั่นที่เป็นทั้งวงจร

คุณวรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อำนวยการแผนงานประเทศไทย RECOFTC

ป่าไม้ในบริบทการเมือง

ภายใต้หัวข้อเรื่องการเมืองกับป่าไม้ จะขอเติมคำว่าผู้คนเข้าไปด้วย เรื่องป่าไม้ในประเทศไทยเรายังมีคนที่อยู่ในนั้นอีกเยอะที่เราอาจจะต้องใช้การเมืองเข้าไปแก้ปัญหา แล้วก็ต้องเป็นการเมืองใหม่ ย้อนไปในเวลาที่คิดว่าน่าจะเรียกว่าจะบอกว่าเป็นการเมืองเก่า หรือการเมืองที่เราอาจจะยังไม่ได้คาดหวังถึงก็คือ เหตุการณ์เมื่อปี 2557 ณ ตอนนั้นก็เราเจอเรื่องของการรัฐประหาร เราเจอการเมืองที่ทหารเข้ามา 

ในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เราอาจจะไม่ได้เห็นเรื่องนักการเมืองหรือทหารที่จะเข้าไป แต่เรื่องป่าไม้ไม่เหมือนกับเรื่องอื่น ในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมทหารเข้ามาในเรื่องงานป่าไม้ และเป็นคนนำเรื่องป่าไม้มาก ดังนั้นในช่วงเวลาประมาณสัก 9 ปี เราเจอว่าสิ่งที่เป็นงานป่าไม้ เรามีทั้งเรื่องราชการแล้วก็ทหารเป็นคนนำเยอะมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ยังอยู่ในยุคคสช.ที่เป็นผู้บริหารประเทศ โดย ณ ตอนนั้น เรื่องปัญหาป่าไม้เสื่อมโทรมกลายเป็นภารกิจหลักที่มีการประกาศ คุณประยุทธ์ก็ประกาศว่าอันนี้จะต้องเป็นภารกิจหนึ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ แล้วก็ตามมาด้วยเรื่องของการแก้กฎหมาย สร้างกฎหมายใหม่จำนวนมาก เราบอกว่า กฎหมายในช่วงปี 2557 ออกมาเป็นครอกเลย ไม่ได้ออกมาฉบับเดียว ออกมา 5-6 ฉบับที่สำคัญมากกับเรื่องป่าไม้ไทย รวมถึงเรื่องมีการทำแผนแม่บทป่าไม้ ตัวเลข 40% ก็เป็นตัวเลขที่ถูกย้ำ คนที่ร่างเรื่องแผนแม่บทป่าไม้ขึ้นมาก็เป็น กอ.รมน. คือ เป็นฝ่ายความมั่นคงที่พูดเรื่องนี้ขึ้นมา แล้วก็บอกว่าจะต้องรีบทวงคืนผืนป่า อันนี้ถ้าทุกคนยังจำ wording นี้ได้  

 แล้วที่ตามมา ก็คือ มีคดีป่าไม้เต็มไปหมด เป็นช่วงทศวรรษที่เรียกว่า ก็คงจะมีคดีเรื่องคนกับป่าเรื่องที่ดินป่าไม้เยอะมากที่สุดในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ แต่ที่แปลกใจ คือ มันก็มีหลายกฎหมายที่ดูจะเหมือนเป็นสิ่งที่คนคาดหวังถึง อย่างเช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชน ก็เกิดขึ้นในยุคของคสช.เช่นกัน และมีการแก้กฎหมายที่ถือว่า hard core มากๆ อย่างเช่น พ.ร.บ.อุทยานฯ ซึ่งเราเคยมีปัญหาเรื่องคนกับป่าตรงที่ว่า เรายอมรับไม่ได้ที่พื้นที่อุทยานฯ จะมีคนเข้าไปอยู่ตรงนั้น แต่ว่าในช่วงนี้เอง มีการแก้ให้เปิดช่องว่าเรามาสำรวจดูว่า จริงๆ แล้วมีคนอยู่ในนั้นเท่าไหร่ และจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างที่จะเกิดเรื่องของการปรับปรุงให้เขามามีส่วน เรียกว่าอยู่หรือว่าทำกินในพื้นที่ตรงนั้นได้บ้าง มันอาจจะเป็นช่องที่จริงๆ แล้วไม่สมบูรณ์แบบ ไม่ 100% แต่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็น่าสนใจมากว่าการเมืองที่ทหารนำมันนำมาสู่สิ่งนี้ การแก้กฎหมายต่างๆ ในเรื่องป่าไม้ แล้วก็เรื่องของมาตรา 7

จริงๆ แล้วกฎหมายกับการนำกฎหมายไปใช้ หรือเนื้อหาสาระเรื่องของการมีส่วนร่วมเป็นอีกประเด็นหนึ่ง เรากำลังพูดถึงเรื่องประชาธิปไตย หรือการเมืองใหม่ เอาเข้าจริงแล้ว ตัวกฎหมายคงไม่ใช่ทั้งหมดอยู่แล้ว (ที่ช่วยแก้ไขปัญหา) แล้วก็จริงๆ กฎหมายยังคงมีคำถามอีกด้วยเหมือนกันว่าเนื้อหาสาระที่ออกมา ถูกใจคนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียตรงนั้นจริงหรือไม่ ก็อาจจะต้องละไว้ว่า เราอาจจะยังไม่สามารถที่จะไปตอบคำถามได้ทีเดียวว่า พอมีกฎหมาย เท่ากับทุกอย่างถูกแก้ไปแล้ว อย่างที่บอก คือมีทั้งคนที่เห็นด้วย และคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้เยอะพอสมควร แต่ว่าบรรยากาศของการเมืองในยุคนั้น ก็ต้องบอกว่า การที่เราจะได้รับฟังความเห็นของคนทุกส่วนจริงๆ ก็อาจจะไม่สามารถทำได้ 100% แต่นำมาสู่วิธีการแบบนี้คือ ความรวดเร็วในการแก้ปัญหา 

เอาเข้าจริงแล้ว เรื่องกฎหมายกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายเหมือนดีดนิ้วเลยถ้าอยากทำ ถูกไหม ก็คือ  5-6 ฉบับก็ออกมาภายในเวลาปีเดียว ที่สามารถจะคลอดออกมาได้ ดังนั้น เจตจำนงหรือการเอาจริงเอาจัง ก็คงเป็นคำถามใหญ่ว่าจริงๆ แล้ว รัฐบาลหรือผู้นำทางการเมือง มองเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็คงละทิ้งไม่ได้ เรื่องของการที่จะรับฟัง หรือจะให้คนที่เขาเป็นผู้มีส่วนได้เสียจริงๆ กับเรื่องนี้ได้เข้ามาอยู่ในกระบวนการ

ทีนี้ เรามาพูดถึงเรื่องการเมืองใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้มองว่าการเมืองใหม่น่าจะมีใครนำ เราก็หวังว่า พรรคการเมืองที่เป็นตัวแทน เป็นคนที่เราฝากความหวังไว้ได้จะเป็นมาเป็นคนนำ หวังว่าภาคประชาสังคมจะมีพื้นที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อตอนปี 2557 แล้วก็เริ่มเห็นว่าทุนจะเข้ามาในเรื่องป่าไม้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะเรื่องฝุ่น หรือว่าเรื่องการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วก็คงยังต้องมีข้าราชการอยู่ในนั้นพอสมควร เพราะว่าเรื่องป่าไม้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าค่อนข้างเป็นพื้นที่เฉพาะของฝ่ายราชการเหมือนกัน ดังนั้น เราก็หวังว่าน่าจะมีผู้เล่นหรือคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมได้มากขึ้น โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ในปี 2557 เหมือนกับตัวพรรคการเมืองหายไป ไม่ได้มีตัวแทนของพรรคไหนที่พูดเรื่องการเมืองออกมาให้เรารู้สึกว่าเราฝากความหวังไว้ได้ ส่วนใหญ่ก็จะไปที่ข้าราชการหรือจะไปที่ทหาร ถ้าย้อนไป 4 ปีก่อน ก็คิดว่าอันนี้ คือความแตกต่างส่วนหนึ่งที่เห็น แล้วก็หวังว่า บทบาทของการเมืองที่มีพรรคที่มาเป็นผู้ลงรับสมัครเป็นผู้แทน น่าจะเป็นคนที่เอาความต้องการของประชาชนไปนำเสนอได้ 

แต่นั่นก็เป็นคำถามแล้วว่า วันนี้การเมืองจะยังไม่ใช่เป็นพรรคที่เป็นตัวแทนประชาชนจริงๆ หรือว่าจริงๆ แล้วข้างหลังพรรคมีผู้อื่นที่จะมีอิทธิพลเหนือพรรคการเมืองหรือไม่? ตอนนั้นก็เลยคิดไปว่า ถ้าเราจะหวังอะไรได้ เราก็หวังว่า จะต้องการให้มีการที่ผู้คนต่างๆ มีสิทธิ์มีเสียง คือ คำว่ามีสิทธิ์มีเสียง ก็คงจะเป็นเรื่องนี้เช่นเดียวกันในเรื่องป่าไม้ เรื่องการตรวจสอบการวิพากษ์วิจารณ์ได้หายไป คือ ถ้าถามว่ามีกฎหมายแล้วอย่างไร? ด้านหนึ่ง ก็คือ กำลังจะบอกว่าที่ผ่านมาเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ขาดอยู่จริงๆ ในเรื่องป่าไม้ เราอาจจะมีกฎหมาย แต่เราไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์หรือเราไม่ได้มีสิทธิ์ที่จะถกเถียงกับมันมากพอหรือไม่ เราเห็นอย่างไรก็เป็นสิ่งที่เราคาดหวังว่าน่าจะเกิดขึ้นในยุคต่อไปได้

ความทันโลกหรือการสอดรับกับปัญหานี้ ก็เป็นอีกอันหนึ่งที่เราหวังว่าเรื่องงานป่าไม้ก็น่าจะไปในทิศทางที่เรียกว่าทันสมัยมากขึ้น ไม่ใช่เป็นงานอนุรักษ์ ไม่ใช่เพียงเรื่องที่หมายถึงการอนุรักษ์ การรักษาป่าไม้อย่างเดียว อนุรักษ์นิยมหรือการมองป่าไม้ในทิศทางที่เปิดรับกับทิศทางใหม่ๆด้วยจะเป็นไปได้หรือไม่? แล้วก็สุดท้ายก็คือ จะเป็นธรรมไหม? หรือจะยั่งยืนไหม? อันนี้ก็เป็นคำถามที่คิดว่าต้องการที่จะมองเห็นกับการเมืองที่กำลังจะมา ซึ่งก็ต้องรอดูว่าหลังจากนี้มันจะเกิดอะไรขึ้น

แล้วเราต้องอนุรักษ์เท่าไหร่? ตอนนี้ยังต้องให้ถึง 40% ใช่ไหม ถ้าจะบอกว่าอันนั้นคือเป้าในเชิงการอนุรักษ์หรือมีพื้นที่ป่าเพิ่ม เรายังไปไม่ถึง ซึ่งในความเห็นส่วนตัว เห็นด้วยว่าเราต้องมีพื้นที่เหล่านี้มากขึ้น แต่การมีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นหรือพื้นที่สีเขียวมากขึ้น อาจจะไม่ใช่เรื่องของการเก็บไว้หรือการอนุรักษ์อย่างเดียวเท่านั้น 

แล้วก็การอนุรักษ์จริงๆ เป็นความหมายที่เราอาจจะต้องมานั่งตีความกันใหม่ คืออนุรักษ์ไม่ได้แปลว่าห้ามคนเข้าไปแตะ ห้ามคนเข้าไปใช้ แต่จริงๆ หมายถึงเรื่องการวางแผนและการใช้อย่างฉลาด อะไรอย่างนี้ ซึ่งสิ่งนี้เราอาจจะไม่ค่อยได้พูดกัน ดังนั้น คือ ถ้ามองในเชิงของตัวการเพิ่มพื้นที่ป่า โดยส่วนตัวเห็นว่ามีความสำคัญ แต่การเพิ่มนั้นอาจจะไม่ได้หมายถึงการกีดกันไม่ให้มีคนเข้ามามีส่วนร่วม เรื่องของป่าไม้ทำไมถึงต้องพูดถึงเรื่องผู้คน เพราะจริงๆ แล้วเรายังมีผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกเรียกว่าพื้นที่ป่าไม้ของรัฐที่ยังไม่สามารถจะมีสถานะที่ชัดเจนว่า ตกลงตัวเองจะมีสิทธิ์อะไรในพื้นที่ตรงนั้นได้บ้าง ตัวเลขอันนี้ก็มากมายซึ่งตัวคนที่อยู่ในติดในพื้นที่เหล่านั้น อย่างเช่น พื้นที่อนุรักษ์ 4 พันกว่าชุมชนที่ก็ไม่รู้ชะตากรรมว่าตัวเองจะสามารถคาดหวังว่าตัวเองจะอยู่ตรงนี้ต่อไปได้อย่างไร หรือว่าจะใช้ที่ดินตรงนั้นทำมาหากินได้อย่างไร หรือว่าคนในพื้นที่ตั้ง 12.5 ล้านไร่ที่อยู่ในพื้นที่แบบนี้ ในป่าสงวน 

ฝุ่นควันก็ดี หรือว่าเรื่องของการทำเกษตรที่ไม่ยั่งยืนก็ดี มันก็ปนอยู่กับเรื่องของปัญหาป่าไม้ที่ดินด้วยเหมือนกัน ตรงที่ว่า พอเรื่องความไม่มั่นคงในที่ดินเกิดขึ้น มันก็กลับมาสู่เรื่องของการตั้งคำถามว่า แล้วเขาจะสามารถวางแผนชีวิตได้ขนาดไหน ถ้าเขาจะต้องมาปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินของเขาให้ยั่งยืนกว่าที่เป็นอยู่ หรือว่าแม้กระทั่งตัวพื้นที่ป่าชุมชนเอง คือ การที่เขามีพื้นที่ตรงนี้ เขารักษาเก็บไว้ เขาจะใช้ประโยชน์ เขาจะดูแลตรงนี้ไปเพื่ออะไร ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราต้องมาคุยกับคน แล้วก็มองเรื่องของป่าไม้ที่ไม่ได้เป็นเรื่องการอนุรักษ์เท่านั้น โจทย์คือ คนละประเด็น หมายถึงการที่จะทำให้เรามีการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนขึ้น ก็เป็นสิ่งสำคัญ คงไม่ใช่เป็นการทำการเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้เราแยกส่วนไม่ได้ อันนี้ คือ สิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นโจทย์

ในบริบทการเมืองวันนี้ เห็นว่า น่าจะมีประมาณ 4-5 ประเด็น ที่เรื่องการเมืองกับเรื่องป่าไม้น่าจะเกี่ยวข้องกัน อย่างแรกเลย ก็คือ สมมติ       ก้าวไกลขึ้นมา เรื่องใหญ่อันนึงที่ท้าทายมากเลย ก็คือ ไม่ใช่แค่เราได้เปลี่ยนรัฐบาล และมีนักการเมืองคนใหม่เท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว การบริหารราชการ เป็นเรื่องที่หนักหนาไม่น่าจะน้อยกว่าไปกว่ากัน คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐ หมายถึง ราชการหรือว่าหน่วยงานต่างๆ จริงๆ แล้วเป็นปัญหาใหญ่มาก

ตัวเองทำงานในเรื่องป่าไม้ ก็เห็นอยู่ว่าคอขวด จริงๆ แล้วก็อยู่ที่ภาคราชการด้วย ส่วนหนึ่งไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องการเลือกรัฐบาลใหม่ หรือพรรคการเมืองไหนจะนำเท่านั้น แต่ว่าการที่เข้ามานำแล้วต้องมี agenda ที่สำคัญเลย ก็คือ เราจะปรับปรุงหรือว่ายกระดับการทำงานของภาครัฐอย่างไร? อย่างงานป่าที่เราเจอตอนนี้ก็คือ มันมีการแยกส่วน คือคำว่าป่าชุมชนกลายเป็นว่ามีแค่บางกรมเท่านั้นที่จะพูดเรื่องป่าชุมชนได้ อย่างเช่น จะเป็นทางกรมป่าไม้ที่พูด ในขณะที่จริงๆ แล้ว ยังมีคนที่ติดอยู่ในพื้นที่ป่าอื่นๆ หรือว่าช่วยดูแลจัดการป่าอยู่ในที่อื่นด้วยเช่นกัน แต่ว่าเราไม่ได้พูดถึงเรื่องสิทธิชุมชนได้เท่ากันในทุกประเภทป่า อันนี้ก็จะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่พอราชการมองทุกอย่างเป็นส่วน เป็นกรม ก็จะกลายเป็นว่า เรื่องของป่าก็ถูกแยกเป็นส่วนๆ ไป 

หรือที่ผ่านมา การออกกฎหมาย 5-6 ตัว การเตรียมความพร้อมนอกเหนือจากการมีส่วนร่วมแม้กระทั่งข้าราชการให้เข้าใจหรือว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เอาเข้าจริง เราก็พบว่า มีปัญหาพอสมควรเลยว่า หลายๆ ส่วนเขาไม่ได้มีความพร้อมขนาดนั้น การจัดสรรงบประมาณ หรือว่าการที่จะเข้าไปสนับสนุนให้คนที่อยู่หน้างานสามารถทำงานได้ ก็อาจจะไม่ได้พร้อมขนาดนั้น อย่างในงานป่าชุมชน เรามีชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้ไปแล้ว 10,000 กว่าแห่ง เขาต้องทำแผนการจัดการซึ่งแผนการจัดการเป็นเรื่องสำคัญมากในงานป่าชุมชน แต่การสนับสนุนให้เขาสามารถที่จะทำแผนแล้วก็มีความมั่นใจในการที่จัดการป่าชุมชนของตัวเองได้ก็ยังมีอยู่น้อยมาก ไม่มีงบประมาณหรือว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปทำงานกับคนเหล่านั้น 

ประเด็นสุดท้ายอีกอันที่เป็นเรื่องที่น่ากังวล ในเรื่องการบริหารป่าไม้เรื่องราชการ ก็คือ แม้ว่ากฎหมายจะเปิดแล้ว เช่น การยกเลิกมาตรา 7 ที่เป็นเรื่องของการที่บอกว่าจะขอตัดไม้ทีมันยุ่งยาก ไม้หวงห้ามทำอะไรไม่ได้ แม้ว่าจะยกเลิกไปแล้ว มันยังมีข้อระเบียบอื่นๆ ที่ตามมาอีกที่จะต้องทำเรื่อง ซึ่งเรื่องต่างๆเ หล่านั้นล้วนแต่ยุ่งยากแล้วก็ใช้ดุลยพินิจ อันนี้ก็เลยจะเป็นปัญหา อยากจะมองว่าจริงๆ แล้วการเมืองใหม่อย่างเดียวไม่พอ ราชการหรือการบริหารประเทศ การบริหารราชการแบบใหม่ ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

คุณสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) 

สิทธิชุมชนในบริบทการเมือง

จริงๆ แล้ว การเมืองกับสิ่งแวดล้อมคือเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม มลพิษ การจัดการทรัพยากรต่างๆ ป่าไม้ ที่ดินสินแร่ แล้วก็อากาศ ส่วนสำคัญมาจากการบริหารจัดการนโยบายของภาครัฐ ทีนี้เรามามองว่านโยบายภาครัฐ หรือว่าเราจะมักจะพูดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาที่ยั่งยืนของนิยามตรงนี้คืออะไร? ถ้าจุดเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนมองเพียงเรื่องอุตสาหกรรมและเม็ดเงินมันก็ไม่ใช่ เพราะว่ามุมมองเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน สิ่งสำคัญที่มอง ก็คือ เรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนจะต้องเป็นคุณภาพชีวิตที่ดี

พอมาเชื่อมกับนโยบายหรือว่าการให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ของรัฐบาลโดยเฉพาะยุคคสช. ส่วนตัวมองว่าคือรัฐบาลสืบทอดอำนาจแม้ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม แค่รัฐธรรมนูญ 2560 เราจะเห็นชัดว่าตัดเรื่องสิทธิ์ในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีออกไป ตัดเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของโครงการของรัฐออกไป การพัฒนาใดๆ เพราะว่ารัฐธรรมนูญ 2540 กับ 2550 เขียนเรื่องนี้ชัด เรื่องการเข้าถึงการมีส่วนร่วมกับกิจการโครงการนโยบายของรัฐก่อนที่จะตัดสินใจ 

หรืออีกส่วนหนึ่งที่เราพยายามผลักดันและถูกตัดทิ้งไปเลยก็คือคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่มาถ่วงดุลเรื่อง EIA โครงการขนาดใหญ่ ถามว่าสิ่งนี้สำคัญอย่างไร? มันคือมุมมองของรัฐ มุมมองของการที่จะเข้ามาบริหารจัดการ ส่วนตัวมองว่าการวางกลไก เกมการเมือง หรือว่ากลไกในการเข้ามาบริหารจัดการ มันคือส่วนสำคัญไม่แพ้ประเด็น นโยบายหรือกิจการโครงการ

ถามว่า การผลักดันกฏหมายที่ออกมาเป็นร้อยฉบับในยุคคสช.และรัฐบาล สืบทอดอำนาจง่ายเพราะอะไร? เพราะว่าการผลักดันส่วนใหญ่มาจากรัฐบาลเอง และสว. 250 คน มาจากใคร? อันนี้คือส่วนสำคัญที่เขาผลักดันได้ง่ายและตอบโจทย์ของการที่จะขับเคลื่อนกฎหมายและนโยบาย แต่ว่าในทางกลับกัน กฎหมายของภาคประชาชนเอง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่มองถึงว่าทุกคนควรเข้าถึงอากาศสะอาด ถูกปัดตกโดยไม่ให้ความสำคัญ ไม่ให้สนใจ พ.ร.บ.PRTR ที่มีการขับเคลื่อนกันมาก่อนหน้านี้โดยพรรคการเมือง ถูกปัดตกโดยคำง่ายๆ ว่าคือ พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับการเงิน ถามว่า เรื่องสิทธิ์ในการมีชีวิตอยู่ สิทธิ์ในการเข้าถึงอากาศสะอาด รัฐควรลงทุนไหม ถ้ามันเกี่ยวกับการเงิน มันคือสิ่งสำคัญที่ต้องลงทุน ต้องคำนึงถึงและผลักดัน แต่กฎหมายเหล่านี้ถูกปัดตกโดยไม่ให้ความสำคัญ มองง่ายๆ เรื่องกรอบคิด การให้ความสำคัญนโยบาย เพราะฉะนั้น เรื่องสิ่งแวดล้อมและเรื่องการเมืองคือเรื่องเดียวกัน และเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องมีจุดเริ่มต้นจากตรงนี้

วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม นโยบายการพัฒนาใน 8-9 ปีที่ผ่านมา เราเห็นว่าส่วนสำคัญคือนโยบายที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคำสั่งที่ 4/2559, Roadmap การบริหารจัดการขยะ เรื่องการผลักดันเรื่องโรงไฟฟ้าขยะ กิจการด้านขยะของภาคตะวันออกที่ EnLaw ได้รวบรวมแค่ภาคตะวันออก กิจการ 101, 105, 106 มี 900 กว่าโรง ใน 8 จังหวัด ถามว่าสะสมอยู่เท่าไหร่ อันนี้คือแค่ถูกกฎหมาย เพราะเรารวบรวมจากข้อมูลในกรมโรงงาน ประเด็นเหล่านี้ เราพิจารณาอนุมัติอนุญาตรายวันและรายโรง แต่ว่าข้อมูลภาพรวมของการรองรับมลพิษ การรองรับการพัฒนาแบบนี้ ได้ถูกพูดถึงไหม? เพราะว่าเรื่องเหล่านี้คือสิทธิในสุขภาพ สิทธิในสิ่งแวดล้อม คือส่วนสำคัญที่ว่าคนภาคตะวันออกต้องรับมลพิษจากโรงงานหลายๆ โรง แม้ว่าแต่ละโรงปล่อยตามค่ามาตรฐานก็ตาม แต่ไม่พูดถึงเรื่องการสะสม และเขาต้องรองรับตรงนี้อย่างไร ตรงนี้คือส่วนสำคัญ 

ที่พูดภาคตะวันออกเพราะเดิมมีมาบตาพุดที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และเรายังประกาศเขตควบคุมลพิษเพราะภาคประชาชนบอกว่าฉันไม่ไหวแล้วกับการอยู่ตรงนี้ และเจตจำนงของการฟ้องเรื่องเขตควบคุมมลพิษก็คือ อยากลดการเพิ่มอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษในภาคตะวันออก แต่ยุคคสช. มีอะไร? ประกาศ 3 จังหวัด ภาคตะวันออกเป็น EEC (Eastern Economic Corridor) และ EEC ไม่ได้กระทบแค่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง แต่คือการกระทบของภาคตะวันออกทั้งหมด เพราะว่าการใช้น้ำมารองรับอุตสาหกรรมก็ต้องไปเอาจากจันทบุรีจากตราด ขยะอุตสาหกรรมก็ไปปราจีนบุรีด้วย 

เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกประเมินก่อน คือ ตัวพ.ร.บ.เองก็ไม่มีส่วนร่วม และ พ.ร.บ. EEC มาด้วยโครงการ ไม่ได้มาแค่ตัวกฎหมาย อันนี้มาด้วยโครงการยักษ์ใหญ่ หมายความว่า มีรายละเอียดโครงการอยู่ในนั้นแล้วว่าจะมีอะไร สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกประเมินว่าเขตควบคุมมลพิษเดิม การเพิ่มเข้าไป มลพิษมันจะเพิ่มไหมอย่างไร คนในพื้นที่ภาคตะวันออกจะอยู่อย่างไรกับการพัฒนานี้ 

ภาคประชาชนเรียกร้องให้ศึกษาการประเมินศักยภาพก่อนประเมินยุทธศาสตร์การพัฒนา แต่ว่าไม่ถูกให้ความสนใจ ตรงนี้คือส่วนสำคัญ เราคิดว่าเจตจำนงของรัฐบาลคือส่วนสำคัญ นโยบายที่มันไม่ถูกถ่วงดุล ไม่มีโอกาสที่จะมีกระบวนการมีส่วนร่วม มาจากตั้งแต่รัฐธรรมนูญที่มีกรอบยุทธศาสตร์ชาติ แล้วก็มากำหนดแผนปฏิรูป แล้วก็มาบอกว่าหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานจะต้องเขียนกรอบแผนให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูป ไม่อย่างนั้นคุณจะไม่ได้รับงบประมาณในการที่จะไปดำเนินการ 

ที่อาจารย์พูดว่าระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วม การถูกตรวจสอบ การแสดงความคิดเห็น ถ้าถามว่ารัฐบาลชุดก่อนมีไหม? ไม่มีเลย ฟันว่าไม่มีเลยตั้งแต่ระดับนโยบายและก็การกำหนดเชิงกระบวนการ ที่พูดมาคือนโยบายใช่ไหม พอนโยบายเขากำหนดได้ เห็นนโยบายว่าฉันจะทำอะไร สิ่งสำคัญที่เป็นปัญหาของเขาระดับต่อมา ก็คือ กฎหมายที่ยังไม่เอื้อต่อนโยบายต่างๆ จึงมาแก้กฎหมาย จึงมามีคำสั่งที่ 4/2559 ว่าเมื่อฉันมี Roadmap การบริหารจัดการขยะ อยากที่จะมีโรงไฟฟ้าขยะก็แก้ มันจะได้ตั้งในพื้นที่อื่นๆ ในพื้นที่หลากหลายได้ 

เพราะฉะนั้นมุมของรัฐ คือ มุมในเรื่องการพัฒนาเพิ่มเม็ดเงิน และอีกส่วนสำคัญคือ การนั่งพิจารณานโยบายและกำหนดนโยบายต่างๆ รัฐใกล้ชิดกับทุนขนาดใหญ่จนผนวกกันเป็นส่วนเดียวกันและกำหนด เพราะฉะนั้น เราก็ต้องไปตรวจสอบว่านโยบายต่างๆ ใครได้ประโยชน์บ้าง    โรงไฟฟ้าขยะเป็นของใครบ้าง หรือว่านโยบายเรื่องโรงงานชีวมวล และโรงงานน้ำตาลภาคตะวันออก 20 กว่าโรงงาน แล้วไปเปลี่ยนพื้นที่อาหารเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยแล้วก็สร้างโรงงาน ใครได้ประโยชน์บ้างอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ใครได้ประโยชน์บ้าง อันนี้ คือ ส่วนหนึ่งที่มองเรื่องนโยบายที่ไม่เห็นเรื่องคุณภาพชีวิตของคน หรือว่าจริงๆ ไม่มองเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะภาคตะวันออกเปลี่ยนพื้นที่อาหารเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเพิ่ม จากเดิมที่เป็นมาบตาพุดก็เปลี่ยนไปเยอะ แล้วมา EEC ก็ทำลายพื้นที่ที่เป็นอาหารไปเยอะแล้วด้วยอะไรอย่างนี้ อันนี้คือส่วนนโยบายการพัฒนา การพัฒนาเหล่านี้ตอบโจทย์ทุน และอีกส่วนคือสร้างมลพิษด้วย

พอมองมิติแบบนี้ไม่เห็นคน ก็เลยทำให้การมองทรัพยากรของรัฐมองแบบมองที่ดินเป็นอำนาจของตัวเองในการจัดการ โดยไม่ได้มองว่าที่ดินนั้นมีใครอยู่บ้าง หรือว่าน้ำ มองแค่ปริมาณน้ำ แต่ไม่ได้มองว่าสัดส่วนการใช้น้ำใครใช้อยู่บ้าง แล้วถ้าเพิ่มอุตสาหกรรมเข้าไปจะกระทบผู้ใช้ในสัดส่วนต่างๆ  ประเภทต่างๆอย่างไร อันนี้คือการมองการบริหารจัดการทรัพยากรกับการพัฒนาที่แยกขาดกัน โดยมองจากอำนาจของรัฐในการที่จะดำเนินกิจกรรมโครงการ 

แต่อีกส่วนอยากเชื่อมเรื่องทรัพยากรด้วยโดยเฉพาะป่าไม้หรือว่าแร่อะไรอย่างนี้ ส่วนสำคัญคือ ทรัพยากรใช้แล้วหมดไป แล้วเราผลิตเพิ่มไม่ได้ คือเราจะมาระเบิดภูเขาแล้วมาทำภูเขาก็คงไม่ได้หรือว่าถ้าได้ก็หลายปีมาก แต่ว่าการบริหารจัดการก็ไม่ให้ความสำคัญกับชุมชน เพราะว่าก็ไม่ได้สร้างเม็ดเงิน

ถ้าเรามองกรอบเรื่องสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ คือ ป่า ไม่ใช่แค่ต้นไม้  ป่า คือ ระบบนิเวศน์ที่สำคัญที่จะประกอบเรื่องการเป็นแหล่งต้นน้ำ การที่มีสัตว์ มีความสมดุล มีความหลากหลาย ไม่ใช่แค่ปลูกต้นไม้ แล้วก็ต้องมีการบริหารจัดการที่ดูแลด้วยใช่ไหมคะ ภาคประชาชนเองพยายามที่จะผลักดันว่าการบริหารจัดการป่า ถ้าคุณเคารพคนที่อยู่ในพื้นที่ ให้ความสำคัญ และเข้ามามีส่วนร่วม อาจจะมีการบริหารจัดการพื้นที่ป่าที่ดีขึ้นก็ได้แล้วก็ยั่งยืนก็ได้ แต่ว่าก็ไม่ให้ความสำคัญ ปัจจุบันยุคคสช.มีการทวงคืนถึงป่าเพื่อที่จะมาปลูกป่า ทวงคืนผืนป่า ไล่คน แล้วมาปลูก

เขามองว่าปลูกต้นไม้คือปลูกป่า ไม่ได้มองถึงความหลากหลาย แต่ว่าตอนนี้กังวลว่า “BCG” มาแทนคำว่า “ทวงคืนผืนป่า” หรือเปล่า “คาร์บอนเครดิต” จะมาแทนคำว่า “ทวงคืนผืนป่า” หรือเปล่า ก็คือมองเรื่องการเพิ่มพื้นที่ป่าโดยไม่คำนึงถึงคนอีกแล้ว คือ เปลี่ยนวาทกรรม แต่ว่ากรอบคิดยังเหมือนเดิม ซึ่งส่วนสำคัญก็คือมองคู่กันเรื่องมลพิษกับเรื่องการจัดการทรัพยากร เท่าที่ผ่านมารัฐบาลเอาประเด็นสิ่งแวดล้อมมาอ้าง แต่ว่าไม่ได้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและไม่คำนึงถึงคน แต่ว่าการอ้างเรื่องนี้ไปตอบโจทย์กับใครด้วย

ในที่สุดแล้ว ถ้ารัฐให้ความสำคัญและร่วมกับชุมชนในการจัดการ ก็เพิ่มพื้นที่ป่าหรือการบริหารจัดการป่าได้ใช่ไหม แต่เรื่องที่คนที่ปล่อยมลพิษ คุณก็ต้องจัดการในเรื่องความรับผิดชอบในการปล่อยมลพิษ อย่างเช่น ถ้าเขาปล่อยมลพิษ คุณก็ต้องเก็บภาษีการปล่อยมลพิษแล้วเอาภาษีนั้นมาบริหารจัดการเรื่องมลพิษ หรือว่าต้องไปกำกับเพื่อให้เขาลดมลพิษ ไม่ใช่ว่าให้ทุนที่ปล่อยมลพิษยังคงปล่อยอยู่แล้วเอาเงินไปปลูกป่า กลายเป็นว่าประชาชนสร้างความดีให้กับนายทุน เพื่อนายทุนจะปล่อยมลพิษต่อไปได้เลย มันควรจะแยกกัน 

คือผู้ก่อมลพิษก็ควรจะต้องรับผิดชอบในส่วนที่ก่อมลพิษใช่ไหม ทุกคน ไม่ใช่แค่เรื่องอุตสาหกรรม หมายความว่ากิจกรรมต่างๆ ที่ก่อมลพิษก็ต้องรับผิดชอบในมิติการก่อมลพิษ ทั้งเรื่องการจ่ายภาษีเพื่อมาบริหารจัดการเรื่องมลพิษ หรือการลดการปล่อยมลพิษ ดังนั้นส่วนนี้คือ ส่วนที่ต้องจัดการในเรื่องมลพิษ เพื่อไม่ให้เกิดทั้งฝุ่น PM 2.5 ก็คือ การทราบแหล่งกำเนิดและให้เขาลดหรือจัดการ การทำอย่างไรให้กิจกรรมเขาปรับเปลี่ยนเรื่องอุปกรณ์หรืออะไรเพื่อลด ไม่ใช่ว่าเขายังทำเหมือนเดิมแล้วใช้เพียงเม็ดเงินกำไรบางส่วนเพื่อไปบอกว่าฉันไปปลูกป่าอะไรอย่างนี้

คือไม่ได้หมายความว่า ชุมชนหรือว่าการบริหารจัดการป่าการเพิ่มพื้นที่ไม่สำคัญ แต่ว่าอยากให้มองในมิติเคารพสิทธิ์ของคนในพื้นที่ มองเรื่องการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม ไม่อยากให้เอาชุมชนมาเป็นเครื่องมือในการที่จะบอกว่าธุรกิจนี้แล้วก็มาเป็น CSR มามองตรงนี้ แต่ว่ามีความละเอียดซับซ้อนว่าการจัดการต่างๆ ไม่ควรไปละเมิดสิทธิมนุษชน ไม่ควรไปมองเขาเพียงว่าเป็นองค์ประกอบเท่านั้น แต่จะต้องให้ความสำคัญในการบริหารจัดการเขาด้วย

แล้วก็ท้ายที่สุดคือ เราคิดว่า UN เองบอกว่าสิทธิในสิ่งแวดล้อมคือสิทธิมนุษชน อย่างหนึ่ง แต่ประเทศไทยเราไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้เลยแล้วมันถอยหลังมาก คือ พอวันนี้ไม่เห็นอนาคตรัฐบาลใหม่ มันไปไม่ถูก จริงๆ อยากคาดหวังว่า เมื่อวานนี้ยังรู้สึกว่าถ้ารัฐบาลที่จะมาใหม่ว่ามันเป็นประชาธิปไตยที่ฟังเสียงประชาชน ประชาธิปไตยคือการฟังเสียงประชาชนและร่วมกัน  ก็ยังมีความหวังในการที่เราค่อยๆ เปลี่ยนวิกฤติตรงนี้ เพราะว่าความท้าทายใหญ่ คือต้องถอดรื้อของเก่ แล้วถ้ารัฐบาลที่มาคือรัฐบาลกรอบเก่า มันจะถอดรื้ออะไร ความท้าทายอยู่ที่ว่าเราจะไปอย่างไรกับรัฐบาลใหม่ที่เป็นกรอบเก่ารัฐบาล ไม่รู้แล้ว

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

ดร. ภาคภูมิ โลหวริตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ก็ไม่คาดหวัง (กับการเมือง) ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะมาจะไปก็แล้วแต่ เรื่องสิ่งแวดล้อมมันเดินหน้า ทุกวันนี้มีปัญหาให้เราแก้อยู่ทุกวันอยู่แล้ว ความท้าทายของการออกแบบนโยบายสิ่งแวดล้อมภายใต้การเมืองที่ไม่รู้จะเรียกว่าใหม่ได้หรือเปล่า อาจจะเป็นเหล้าใหม่ในขวดเก่าหรือเปล่า แม้ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม อย่างที่หลายๆ ท่านก็เสนอคือ เรื่องของการจัดลำดับความสำคัญในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม 

เลือกตั้งปี 2566 เราเห็นหลายพรรคชูนโยบายสิ่งแวดล้อมขึ้นมา แต่ว่ามันยังไม่ใช่ตัวเมน ไม่ใช่ตัวหลัก อย่างมากก็เอามาเสริม ส่วนใหญ่ไปมองเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องอะไรพวกนั้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด ประชาชนก็คาดหวัง และรัฐบาลใหม่มาเหมือนแสงสว่างที่อยู่ปลายอุโมงค์ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจดี แต่แน่นอนว่ามันก็ขึ้นอยู่กับว่าจะให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมแค่ไหนเพียงใด ซึ่งก็อันนี้อาจจะสัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญ 2560 เรื่องสิ่งแวดล้อมถูกตัดออกไปเยอะมาก

อันดับแรกที่อาจจะต้องพิจารณาทบทวนก็คือ เรื่องของการรับรองสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญในเรื่องของสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีควรกลับมาได้แล้ว รัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มีการตั้งสสร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) กระบวนการอาจจะค่อนข้างแปลกกว่าฉบับอื่น พอ ปี 50 ปี 60 มาภายใต้ระบอบของคณะรัฐประหาร แน่นอนว่าการออกแบบรัฐธรรมนูญโดยกลุ่มของรัฐประหารเขาอาจจะไม่ได้ออกแบบเรื่องสิ่งแวดล้อมไว้เป็นหลัก อาจจะมีเรื่องอื่นที่มองว่าสำคัญกว่า อย่างน้อยจะต้องมีการันตีเรื่องสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี

เรื่องของการมีส่วนร่วมมันก็หายไป มันควรมีการเติมเข้ามา แล้วก็อาจจะต้องมีการรับรองในระดับรัฐธรรมนูญด้วย เพื่ออย่างน้อยก็รับรองสิทธิแล้ว แน่นอนว่าก็อาจจะตามมากับเรื่องที่ว่า ถ้ารัฐบาลไม่ทำตาม ไม่ให้การันตีทั้งเรื่องสิทธิและสิ่งแวดล้อมที่ดี รัฐบาลไปออกนโยบายอะไรที่มันมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม แล้วก็ไม่ให้ประชาชนรู้ข้อมูลอะไร และอาจจะมีปัญหาในเรื่องที่อาจจะต้องรับผิดชอบในทางการเมือง ก็อาจจะต้องตามมาด้วยความรับผิดชอบบางอย่าง

อีกประเด็นคือ นโยบายสิ่งแวดล้อมก็อาจจะมากับเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจริงๆ คำนี้เป็นคำที่สวยมาก การพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องมี 3 หมวกด้วยกัน หมวกแรก ก็คือ เรื่องเศรษฐกิจ หมวกที่ 2 คือ เรื่องสังคม หมวกที่ 3 คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม ทำยังไงก็แล้วแต่ที่เราจะสร้างสมดุล 3 อันนี้ หมายความว่า โครงการอะไรก็แล้วแต่ที่เราจะพัฒนาต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอันที่ 1 มันมีเกณฑ์ EIA อะไรคลุมอยู่ แล้วคุณต้องดูเรื่องเศรษฐกิจ และที่สำคัญต้องดูเรื่องสังคม การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน 

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะเห็น ก็คือ เรื่องของการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ ก็คือ SEA (Strategic Environmental Assessment) ปัจจุบันเรามี EIA (Environmental Impact Assessment) ก็คือ การประเมินรายโครงการ จะสร้างเขื่อนจะสร้างโรงงานก็มาทำ EIA แต่ SEA เป็นเรื่องการประเมินเชิงนโยบาย มาก่อนโครงการอีก หมายความว่าโครงการรัฐบาล  โครงการอะไร ให้คิดก่อน ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่ทางภาคใต้  โรงไฟฟ้าจะนะหรือโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา        ที่กระบี่ชาวบ้านเขาเอาหรือเปล่า แล้วมันมีความจำเป็นต้องตั้งไหม มีทางเลือกอื่นไหม บางคนก็     บอกว่า ทางภาคใต้เขาก็อาจจะมีเรื่องไฟฟ้าดับบ่อย ไฟฟ้าไม่พอ ก็เลยต้องตั้ง แต่ทีนี้ถามว่า มันจำเป็นต้องตั้งชีวมวลไหม จำเป็นต้องเป็นถ่านหินไหม อันนี้ก็อาจจะต้องประเมิน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่อาจจะต้องเพิ่มเข้ามา 

ความยั่งยืน มันไม่ใช่เรื่องแค่ยุคปัจจุบัน มันต้องมองไปข้างหน้า เพราะว่าสุดท้าย โรงไฟฟ้าอะไรพวกนี้อยู่ในพื้นที่ ชาวบ้านอยู่ไม่ได้ ดมควันพิษขึ้นมาทุกวัน ชุมชนก็อยู่ไม่ได้ แน่นอนรัฐบาลก็อาจจะมีปัญหาด้วย คุณสร้างสิ่งที่มีมลพิษขึ้นมาอยู่ในพื้นที่ ชาวบ้านมีผลกระทบต่อสุขภาพ อันนี้ก็เริ่มจะไม่ยั่งยืน

เรื่องที่ 2 คือ พลวัตของปัญหาสิ่งแวดล้อม อันนี้อาจจะเชื่อมโยงกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นเรื่องเล็ก เป้าหมายที่ 2 องศา​เซลเซียส ทั่วโลกต้องช่วยกัน แล้วเราก็มีพันธกรณีระหว่างประเทศตาม Paris Agreement ที่เราต้องลดก๊าซเรือนกระจก 

ความเป็นพลวัต ก็คือ สภาพอากาศเปลี่ยนไปตลอด เราจะรับมือกับมันอย่างไร โลกร้อนขึ้น ปีที่แล้วฝนตกเยอะ ปีนี้ El Nino ภัยแล้งมา มันเป็นพลวัตของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปตลอด แน่นอนว่าก็จะต้องมีนโยบายที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย และก็อาจจะรวมไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้อยู่แค่ในประเทศไทย ปัญหาข้ามพรมแดน อย่างฝุ่นนี่ชัดเจน ตอนนั้นไฟป่าที่อินโดนีเซียถึงไทยเลย ทั้งๆที่ดูแล้วก็ไม่น่าจะมาได้ 

เราก็จะเห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเริ่มซับซ้อนขึ้น หลายๆ เรื่องอาจจะต้องคิดถึงเรื่องของพลวัตของปัญหาที่อาจจะไม่ใช่แค่ประเทศเดียวแล้ว เพราะว่าสุดท้ายเรามีประเทศเพื่อนบ้าน สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ก็กระทบประเทศไทยอยู่ดี อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ทางรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นอาจจะต้องไปทำความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นสิ่งที่อาจจะต้องคิดถึง 

เรื่องที่ 3 การออกแบบระบบการเมืองเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม อันนี้สำคัญมาก ทุกท่านย้ำมาหมดแล้วว่าในช่วงที่ผ่านมาเราไม่เห็นเลย ค่อนข้างน้อย การมีส่วนร่วมเพื่อออกแบบกลไก อะไรที่ประชาชน ภาค NGOs หรืออะไรก็แล้วแต่เขาไม่โอเค ว่ารัฐบาลออกนโยบายแบบนี้ไปเอื้อกลุ่มทุนหรือเปล่า ไม่โอเค สร้างโรงไฟฟ้าโรงขยะอะไรอย่างนี้ พอไม่โอเค เขาต้องมีสิทธิ์ที่จะได้ voice หรือแสดงความคิดเห็นออกไปในสิ่งที่เขาไม่ได้เห็นด้วย คือ อย่างน้อยประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น แล้วก็อาจจะรวมถึงเรื่องการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ซึ่งอาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 เข้าใจว่าตอนนี้เขากำลังแก้อยู่   เราอยากให้เห็นหรือกระทั่งมีในรัฐธรรมนูญเลยก็ดี เขียนกลไกชัดเจนในเรื่องของสิ่งแวดล้อม

การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รัฐธรรมนูญปี 2540 เขียนชัดเจน ข้อมูลข่าวสารเรื่องสิ่งแวดล้อม เราอาจจะต้องเขียนให้ชัดเจนในระดับรัฐธรรมนูญ แล้วก็เรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอย่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมปี 2535 ซึ่งเป็นคีย์หลักในเรื่องของการอนุรักษ์ เรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องมลพิษ ก็อาจจะต้องมีการทบทวนในเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำอย่างไรที่เขามีส่วนร่วมตั้งแต่เรื่องของการกำหนดนโยบาย

ในส่วนของกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตัวแทนภาคประชาชนไปไหน ในพ.ร.บ. ปี 35 เขียนว่า กรรมการภาคเอกชน มี 4 คน ส่วนที่เหลือเป็นภาครัฐหมดเลย ในชั้นของนโยบายการมีส่วนร่วมอาจจะค่อนข้างจำกัด อันนี้ก็อาจจะมีเรื่องของการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมในส่วนนี้เข้ามา    

สุดท้าย อุดมคติ พูดเรื่องอุดมคติเลย เอามาพูดเลย เพราะไม่รู้ว่าจะได้เห็นหรือเปล่า แต่ว่าเราคาดหวังก็แล้วกัน มันมีอนุสัญญาระหว่างประเทศตัวหนึ่ง เรียกว่า อนุสัญญาอาร์ฮูส (Aarhus Convention) เขาประชุมกันที่เดนมาร์ก อนุสัญญาตัวนี้พูดเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมสาธารณะในการตัดสินใจ และการเข้าถึงความยุติธรรมในคดีสิ่งแวดล้อม อันนี้ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องการดำเนินคดีด้วย อนุสัญญาตัวนี้จริงๆ ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคี แต่เรา adapt มาใช้ได้ไหม เราอาจจะมองแนวทางในการที่เราจะมาปรับปรุงกฎหมาย หรือนโยบายอะไรก็แล้วแต่ 

อันแรก ก็คือ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่อาจจะมีผลกระทบ สมมติรัฐบาลจะสร้างโรงไฟฟ้าอะไรก็แล้วแต่ ประชาชนต้องรู้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ โรงไฟฟ้าถ่านหินมาสร้างข้างบ้านไม่รู้เรื่องเลย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่อาจจะต้องการันตีในเรื่องนี้ เรื่องของการมีส่วนร่วมตัดสินใจในภาครัฐ การมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในเรื่องนโยบาย ก็อาจจะเป็นเรื่องของการออกกฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้อง แล้วก็เรื่องของการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในชั้นต่างๆ แล้วก็ access to justice, environmental justice อันนี้ก็สำคัญ ภาครัฐมีปัญหา ประชาชนเลยมีปัญหา ถ้ามันมีปัญหาเขาก็ควรได้รับการชดเชยเยียวยา ถ้าหากว่าบางเรื่องมันเป็นผลจากการกระทำของภาครัฐก็อาจจะต้องชดเชยหรือเยียวยาให้ 

เรื่องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเป็นเรื่องที่ยาก เรื่องการแสดงความคิดเห็น EIA (Environmental Impact Assessment) ถามว่าประชาชนมีส่วนร่วมไหม มี เพราะว่า พ.ร.บ. เขียนไว้ ประกาศกระทรวงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีไหม มันมี แต่บางทีการมีส่วนร่วมเราต้องแยก     

การมีส่วนร่วมในเชิงเนื้อหา กับการมีส่วนร่วมในเชิงรูปแบบ ถามว่า EIA มีไหม เขาบอก นี่ไง ตั้งโรงไฟฟ้ามา ฉันทำ EIA เรียบร้อย ฉันรับฟังความคิดเห็น สมมติ 1 ชุมชน มี 2,000 ครัวเรือน คุณไปถาม 20 ครัวเรือน เรียกว่ามีส่วนร่วมหรือเปล่า อันนี้ในคดีในศาลปกครองก็มี มีอยู่คดีหนึ่งที่เคยสอน ชาวบ้านมีอยู่ประมาณ 2,000 ครัวเรือน เขาถามไม่กี่ครัวเรือน แล้วศาลปกครองก็บอกว่า กระบวนการรับฟังความเห็นไม่ชอบ ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า คือ ตัวกฎหมายบางทีมันมี เรื่องการเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการ EIA มีแน่ๆ กฎหมายเขียนชัด แต่ว่าพอในชั้นของการ implement กลายเป็นว่าผู้ออกใบอนุญาต ในชั้นขอ license ก็ดูคือ พวกนี้ต้องยื่นขออนุญาต อย่างการประกอบกิจการไฟฟ้าก็ยื่นกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ก็นี่ไงออกครบแล้ว ไปขอ EIA ทำ EIA เรียบร้อย แต่ปรากฏว่าในเนื้อไส้      20 ครัวเรือน ใน 2,000 ครัวเรือนที่รับฟัง 2,000 ครัวเรือน รับฟัง 20 ครัวเรือน เรียกว่าประชาชนมีส่วนร่วมได้ไหม การมีส่วนร่วมในพวกนี้มันควรเป็นการมีส่วนร่วมในเชิงเนื้อหามากกว่าเชิงรูปแบบ หลายๆ โครงการที่เรารับฟังความคิดเห็น สมมติไป hearing ในพื้นที่ เป็นการรับฟังเชิงรูปแบบ เกณฑ์ชาวบ้านมาทั้งตำบลทั้งหมู่บ้าน 50 คน 100 ครัวเรือน มานั่งฟัง จบแล้ว

อันนี้ไม่ได้ ไม่ใช่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง คือถ้าบ้านคุณมีปัญหาอะไร สมมติตั้งโรงไฟฟ้าแล้วชาวบ้านบอกว่า ฉันกลัว ฉันมีลูกป่วยเป็นโรคปอดอยู่ ฉันก็กังวลนะ มาตั้งโรงไฟฟ้า มันต้องอย่างนี้ คือ ต้องแบบทำจริงๆแล้วรับฟังไปนะ อาจจะมีประเด็นเรื่องของการให้ความเห็นประกอบให้เหตุผลนะว่า โอเคสุดท้าย รัฐจะออกใบอนุญาตก็ไม่ได้ว่า แต่ว่าจะต้องอธิบายได้ อาจจะด้วเยหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ว่า โอเคฉันมีมาตรการที่บรรเทาผลกระทบแล้วนะ ฉันจะติดอะไรที่ไว้ที่ปล่องนะอะไรประมาณนี้ ก็คือ ต้องตอบคำถามได้ว่ารับฟังไปแล้วเอาไปทำอะไรด้วย

คุณสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

ปัจจุบันของประเทศไทย ประชาชนไม่ได้สิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แต่เป็นสิทธิ์ในการร้องขอเพราะถ้าสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร คือ ต้องจัดให้ ใช่ไหม จัดเตรียมให้ ซึ่งเหมือนที่ทาง EnLAW หรือ EARTH กำลังผลักดัน ทาง Earth ก็คือ เรื่องกฎหมายการเปิดเผยข้อมูลมลพิษ หรือ PRTR

เราคิดว่าสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ จะต้องเป็นสิทธิ์ที่รัฐจัดหาไว้ให้   เปิดเผยเข้าถึงอย่างง่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย สังคมเรามายุคสมัยที่เราใช้มือถือที่มีอินเตอร์เน็ต เราเข้าถึงข้อมูลกันได้ง่ายแล้ว ไม่ได้ยุคสมัยเดิมที่จะต้องไปขออ่านจากเล่ม เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีเหล่านี้จะมาช่วยเรื่องนี้ได้ ถามว่าข้อมูลข่าวสารสำคัญอย่างไร ถ้าเรามีชุดข้อมูลข่าวสารเดียวกัน ข้อมูลก่อนมีโครงการเราจะได้มาถกบนข้อมูลว่าโครงการนี้ผลกระทบ หรือว่าการประเมินแบบนี้มันถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอย่างไรตั้งแต่ต้น ไม่ใช่มาเข้าถึงแค่ใบอนุญาต แต่ตอนนี้ใบอนุญาตยังแทบจะไม่ได้เลย ข้อมูลข่าวสารจึงเป็นส่วนสำคัญแรกในกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย คือ เราต้องมีชุดข้อมูลที่ตรงกัน คุณจะประกอบกิจการอะไร มลพิษที่อาจจะมีคืออะไรบ้าง ความเสี่ยงคืออะไรบ้าง ประโยชน์ที่จะได้รับทั้งรัฐ เอกชน ผู้ประกอบการและประชาชน เราจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาอย่างไร

เมื่อมีชุดข้อมูลแล้ว การมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็น ก็จะตามมาด้วยว่า แล้วประชาชนเห็นด้วยกับประโยชน์ที่ได้รับ หรือมาตรการลดผลกระทบที่จะมีหรือไม่ อย่างไร ก็จะมาคุยบนฐานชุดข้อมูลเดียวกัน และการตัดสินใจ หมายความว่า ประชาชนจะต้องตัดสินใจบนฐานข้อมูลด้วย เพื่อที่จะเอาไปกำกับว่า เมื่อเราตัดสินใจแล้วว่าเรายินยอมให้มีกิจกรรม หรือนโยบายนี้บนพื้นฐานว่าเรารับได้ในมาตรการลดผลกระทบ มาตรการประโยชน์ที่ได้รับ แต่เมื่อประกอบกิจการแล้วไม่ได้เป็นไปตามนั้น ก็จะเอามากำกับในเชิงกระบวนการได้ อันนี้ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งเหมือนอาจารย์ว่า ไม่ใช่กระบวนการมีส่วนร่วมเพียงขั้นตอนที่ครบตามที่กฎหมายกำหนดเชิงรูปแบบ แต่จะต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมจากกระบวนการเชิงเนื้อหาว่าเราพูดคุยบนฐานข้อมูลเนื้อหาที่ตัดสินใจร่วมกันว่ายอมรับนโยบาย ยอมรับโครงการนี้ ยอมรับมาตรการนี้ และมีกลไกกำกับอย่างไรร่วมกัน จึงจะเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย

กับอีกส่วนท้ายที่สุด เมื่อเราร่วมกันตัดสินใจแล้วว่าจะมีหรือไม่มี เมื่อมีแล้วเกิดผลกระทบ กระบวนการการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมก็มีความสำคัญว่าประชาชนต้องเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม แต่ปัจจุบัน อย่างเช่น น้ำมันรั่ว รู้ว่าใครทำน้ำมันรั่ว หรือว่าที่ EARTH ทำงานกับชุมชน หลายๆ กรณีที่บริษัทประกอบกิจการเรื่องขยะแล้วก่อให้เกิดมลพิษ รู้ว่าใครทำ เกิดอะไรบ้าง อย่างไรบ้าง แต่ว่าการพิสูจน์ในกระบวนการศาล ภาคประชาชนเองก็ต้องหาข้อมูล หมายความว่าข้อมูลไปพิสูจน์ในกระบวนการศาลต้องมีค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งข้อเรียกร้องของเราตอนนี้มีการรับฟังความคิดเห็นเรื่องวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมของศาลยุติธรรมและศาลปกครอง เราคิดว่าคดีพวกนี้ คดีสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องคดีประโยชน์สาธารณะ ประเด็นพวกนี้ไม่ควรจะมีค่าธรรมเนียมศาล คือควรยกเว้นไปเลย

มันคิดเป็นอัตรา ตามทุนทรัพย์ที่เรียก ซึ่งคนที่เดือดร้อน รายได้ก็ไม่มีอยู่แล้ว นึกถึงชาวประมงที่น้ำมันรั่ว รายได้ก็ไม่มีอยู่แล้ว พอไปฟ้องเรียกค่าเสียหายก็ต้องไปหาเงินมาวางค่าธรรมเนียมศาลอีก แล้วกว่ากระบวนการศาลจะพิจารณาเสร็จ กว่าจะได้ ก็คือการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยังมีปัญหาอยู่ แล้วก็บรรทัดฐานในการตีความในการให้ค่าชดเชยเยียวยา เราคิดว่ายังไม่เป็นธรรมในปัจจุบัน เราจะพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้รับรองสิทธิ์หรือว่ามองเรื่องนี้ให้เป็นธรรมมากขึ้นอย่างไร อันนี้ก็คือตอบโจทย์ 3 อันนี้ ก็เลยย้อนกลับมาว่า จริงๆแล้ว หลักประกันก่อนที่จะมาถึงสิ่งเหล่านี้ ก็คือ อยู่ในรัฐธรรมนูญ เราจะตั้งต้นว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนรับรองสิทธิ์และมีหลักประกันสิทธิ์ในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี กระบวนการการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หรือการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนได้อย่างไร

ถามว่า สำคัญอย่างไร เพราะจะสำคัญในการมากำกับว่า ถ้ากฎหมายลูกต่างๆ หรือคำสั่งคสช.ต่างๆที่มีอยู่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ต้องถูกทบทวนและแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ศาลเองก็จะหยิบหลักการในรัฐธรรมนูญมาพิจารณาพิพากษาได้ เพราะหลายคดีที่พูดถึงการเข้าถึงการมีส่วนร่วม หรือการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ศาลก็หยิบ ถ้าเราฟ้องว่าเราไม่มีส่วนร่วมตามที่รัฐธรรมนูญกำกับอย่างนี้ ศาลก็หยิบหลักการนี้มาประกอบการพิจารณาได้ ดังนั้นมันเลยเป็นสิ่งสำคัญที่เราภาคประชาชนเองที่ผลักดันการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ อันนี้คือส่วนหนึ่ง มันมีหลายๆ ส่วนในรัฐธรรมนูใหม่ที่เราผลักดัน แต่ว่าส่วนในเรื่องกระบวนการหรือเนื้อหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็คือ ส่วนสำคัญที่เราคิดว่าต้องผลักให้เกิดขึ้น แล้วก็ทบทวนกฎหมายทั้งหมดที่มีอยู่ที่ลดทอนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และมีมาตรการในกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

อยากฝากถึงพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมไว้ว่า ถ้าคุณยังจะผลักดันเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อมบนฐานหลักการประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน จากวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม เราเชื่อว่าองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และภาคประชาชนพร้อมที่จะเดินกับคุณ และพร้อมที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม อาจจะเริ่มจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ เพราะฉะนั้น อยากเป็นกำลังใจ และอยากฝากไว้ว่า เราจะไปกับคุณถ้าคุณยังพร้อมที่จะผลักดันเรื่องนโยบาย ผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมบนฐานหลักการประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชน

คุณวรางคณา รัตนรัตน์ – ผู้อำนวยการแผนงานประเทศไทย รีคอฟ

วันนี้โจทย์ที่เอามาพูดเป็นหลัก คือ เรื่องของคนที่ยังอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งพื้นที่ป่าไม้เป็นพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่ แล้วก็เป็นปมปัญหาหลักเลย ในประเด็นที่วันนี้เราคุยกัน อันนี้เป็นตัวเลขที่ให้เห็นแล้วว่าเรามีตัวพื้นที่ประมาณเท่าไหร่ที่มีคนเข้าไปทำกินหรือว่าอาศัยอยู่ ประเทศไทยแบ่งพื้นที่ป่าไม้ออกมาเป็นชั้นลุ่มน้ำ ก็คือ 1,2 ซึ่งค่อนข้างจะบอกว่าเป็นพื้นที่ sensitive แล้วก็ 3,4,5 ที่เอามาทำกินหรือใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้บ้าง

ปัญหาเรื่องนี้ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ตั้งแต่เรามีการที่จะพยายามประกาศพื้นที่ป่าหรือว่าพื้นที่อนุรักษ์ออกไป คนที่ตกอยู่ในพื้นที่ลักษณะแบบนั้นก็จะเจอปัญหาเรื่องป่าทับที่คนอะไรอย่างนี้ แล้วการถกเถียงกัน เอ๊ะ ใครมาก่อนใครมาหลัง ก็มีการพยายามหาวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งก็ได้ข้อสรุปออกมาว่า ถ้าอย่างนั้นเราต้องมีการพิสูจน์สิทธิ์ ตัวมติครม.ที่ใช้เพื่อแก้ปัญหานั้น ก็คือ มติที่เรียกว่า 30 มิถุนายน 2541 มีการสำรวจด้วยเมื่อตอนช่วงปีนั้นว่ามีคนอาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้เท่าไหร่

ตัวเลขที่ได้มา คือ ประมาณ 6 ล้านไร่ หมายถึงว่า มีคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าไม้แบบนี้ประมาณ 6 ล้านไร่ แล้วก็ตัวกฎหมายบอกว่าจะต้องสำรวจ แล้วก็ถ้าสามารถที่จะพิสูจน์ได้แล้วว่าเขาอยู่มาก่อน ก็ต้องมีการรับรองสิทธิ์อะไรบางอย่างให้เขาสามารถที่จะได้รับการคืนสิทธิ์ตรงนั้นไป ปรากฎว่าตั้งแต่ปี 2541 จนถึงเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่เกิดการรัฐประหาร ก็ยังไม่เคยมีใครที่จะทำสำเร็จเลย ในการพิสูจน์สิทธิ์ ใช่ไหม เวลาตั้งแต่ช่วงนั้นจนถึงช่วงปี 2557 ไม่รู้กี่ 20 ปีมาแล้ว เกือบ 30 ปี เวลาเสียไปแล้ว 30 ปีในการพิสูจน์สิทธิ์ และตั้งแต่เมื่อมีตัวการที่จะพิสูจน์สิทธิ์นั้นไปแล้ว  เมื่อคสช.เข้ามาแล้วบอกว่าจะประกาศทวงคืนผืนป่า ใช่ไหม แล้วจะแก้ปัญหาเรื่องป่าไม้ ก็เลยมีการทำสำรวจใหม่อีกครั้งหนึ่งเมื่อปี 2557

สิ่งที่ได้มา ก็คือตัวเลขของคนที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น เรียกว่าขยายตัว 100% ก็คือ จากแต่ละพื้นที่ที่เคยสำรวจได้ ตอนนี้เพิ่มมาอีก 1 เท่าตัว ก็คือ กลายเป็นว่า ตอนนี้เรามีคนที่อยู่ในที่ดินป่าไม้ ประมาณ 12.5 ล้านไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ตรงนี้ คือ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ด้านหนึ่งแปลว่าอะไร ก็คือ มันนานจนกระทั่งตัวรัฐเองก็ควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ กับอีกอันนึง คือ นานจนกระทั่งว่าสุดท้ายแล้วเขาเองก็สูญเสียสิทธิ์ในการพัฒนาไปแล้วจำนวนมากเลย คือ เด็กคนหนึ่งเผลอๆ ก็โตมาเป็นผู้ใหญ่แล้ว แม้ตอนนี้เมื่อปี 2557 นโยบายที่คสช.ประกาศออกมาภายใต้คุณประยุทธ์ ก็คือ การให้มีนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือออกมาเป็นเรียกว่า คทช. ก็พยายามจะออกแนวทางออกมาว่า ต่อไปนี้จะจัดสรรให้คนเข้ามาอยู่ในที่ดินแบบนี้ต้องทำอย่างไรบ้าง แล้วคนเหล่านั้นจะต้องพิสูจน์สิ่งต่างๆ และมีเงื่อนไขที่จะใช้ที่ดินในพื้นที่เหล่านี้ ก็คือ มีการออกระเบียบต่างๆ ออกมา ในขณะที่ในช่วงประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ระเบียบอะไรต่างๆ ก็มีการออกมาอยู่เรื่อยๆ กลายเป็นวาระทางการเมืองที่บางทีพรรคการเมืองหรือคนที่มานำการเมืองก็มักจะใช้ส่วนหนึ่งเป็นการหาเสียง ส่วนหนึ่งก็เป็นเหมือนกับการที่จะเหมือนสร้าง agenda ขึ้นมา ในการที่จะขอรับการสนับสนุน กลายเป็นว่าเรื่องเหล่านี้ก็เลยเหมือนกับนับหนึ่งใหม่อยู่เรื่อยๆ 

สิ่งที่กำลังจะตั้งคำถาม คือ เราจะต้องนับหนึ่งใหม่อีกไหมกับเรื่องการแก้ปัญหาเรื่องคนที่ยังอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ และถ้าต้องนับหนึ่งใหม่ คือ เขารอมาตั้งแต่ปี 2541 ถ้าเราเอาแค่ปี 2541 เป็นตัวตั้ง ตอนนี้ปี 2566 เรายังต้องให้เขารออีกกี่ปี ในขณะที่เฉพาะแค่ภายใต้ปี 2557 ที่ คทช. มีการสำรวจใหม่และพยายามจะแก้ปัญหา ตอนนี้คือ 6 ปีแล้ว ต้องบอกจริงๆ ว่าเปอร์เซ็นต์ที่เขาสามารถแก้ปัญหาได้น้อยมาก แต่หา record ยากพอเหมือนกับการหาข้อมูลข่าวสารของรัฐอย่างอื่นๆ แต่ว่าอันนี้ คือ สิ่งที่เรากำลังประสบปัญหาอยู่ตรงที่ว่าจำนวน 12 ล้านไร่ โดย 30% อันนี้ตัวเลขประมาณการที่แก้ปัญหาได้ ก็จะแปลว่ายังมีพื้นที่แบบนี้ที่ก็จะเป็นปมปัญหาอยู่เสมอของปัญหาเรื่องป่าไม้ที่ดินของประเทศไทย

ถ้าสุดท้ายแล้วมันยังกลายเป็นสิ่งที่ประวิงเวลา หรือสุดท้ายเป็นเพียง agenda ในการที่จะมาหาเสียง หรือว่ามารับคะแนนสนับสนุนเฉยๆ คนที่ยังติดอยู่ตรงนั้น เขาสูญเสียสิทธิในการพัฒนาจริงๆ และมันมีกติการะหว่างประเทศที่ตอนนี้เขาเรียกร้องมากขึ้น อย่างที่เราคุยกันว่า โลกกำลังรู้สึกรับไม่ได้กับการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ใช่ไหม การที่จะบอกว่าตัวเองพัฒนาอย่างยั่งยืนส่วนหนึ่งแล้วกลายเป็นกติการะหว่างประเทศ หรือแม้กระทั่งว่าเป็นเงื่อนไขในการค้า ก็คือ การพิสูจน์ให้ได้ว่าคุณไม่ตัดไม้ทำลายป่า การที่จะบอกว่าคุณไม่ตัดไม้ทำลายป่า หรือคุณไม่ทำไม้เถื่อน ส่วนหนึ่งก็ต้องย้อนกลับไปตรงที่ว่าแล้วคุณมีสิทธิในที่ดินตรงนั้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ใครรับรองให้คุณใช้ที่ดินตรงนั้นได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อคุณไม่สามารถที่จะพิสูจน์สิ่งนั้นได้ กลายเป็นว่าคนจำนวนนี้เขาจะเข้าไม่ถึง แม้กระทั่งเรื่องของตัวการค้าขาย มีตัวอย่าง เช่น คนที่เคยทำเกษตรปลอดภัย เขาต้องได้ GAP ปรากฏว่าก็มีเงื่อนไขว่าคนที่อยู่ในพื้นที่ที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าตัวเองมีสิทธิ์ที่ทำกินตรงนั้น ไม่ได้รับการรับรอง GAP ด้วย 

กติกาที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกตัวหนึ่งคือ มันมีนโยบายที่ตอนนี้ EU  ออกมาหลังจาก COP26 ซึ่ง COP26 ก็ถูกบอกว่าเป็น COP ป่าไม้ที่มีการประกาศปฏิญญาต่างๆออกมา EU ก็รีบตอบรับตัวปฏิญญาเรื่องนี้ทันที โดยการที่จะบอกว่า ต่อไปนี้สินค้าที่จะนำเข้าสหภาพยุโรปต่อไปนี้ ซึ่งตอนนี้มีสินค้าประมาณ 6 ประเภท อย่างเช่น ช็อกโกแลตหรือโกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน ตัวปศุสัตว์ แล้วก็ตัวไม้และยางพารา ถ้าจะนำเข้าไปสหภาพยุโรป ผู้นำเข้าจะต้องแสดงสำแดงได้ว่าสินค้าเหล่านั้นไม่ได้มาจากการทำลายป่าไม้ ประเทศไทยกระทบหนัก ตอนนี้ที่เขากำลังคุยกันก็น่าจะไม่พ้นเรื่องของตัวยางพารา ซึ่งยางพาราเคยเป็นโจทย์ตอนสมัยทวงคืนผืนป่าที่โดนตัดฟันออกไป คือ เขาไปไล่ตัดยางพาราอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่าไม่รู้ว่าตกลงตรงนั้นเป็นพื้นที่ป่าไม้หรือเป็นพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน

เราจะเจอปัญหานี้แน่นอนในอนาคต ในแง่ที่ว่าเมื่อเราไม่แก้ปัญหาที่รากฐานตรงนี้ให้ชัดเจน และไม่ทันเวลา โลกกำลังจะไปในลักษณะแบบนี้แล้ว หมายถึงการค้าเองก็ต้องการความรับผิดชอบ ซึ่งกำลังจะมีประเด็นหนึ่งที่อยากจะเห็น ก็คือว่า การพูดกันเรื่องป่าไม้จึงไม่ใช่แค่บอกว่าชาวบ้านที่เป็นชุมชนหรือเกษตรกรรายย่อย แม้กระทั่งผู้ประกอบการที่เป็นทุนขนาดใหญ่ และที่ป่าไม้ที่บอก 12 ล้านไร่ที่เราเห็นว่าเป็นเขาหัวโล้นต่างๆ เอาเข้าจริงแล้ว คือ แหล่งผลิตอาหารเกษตรที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ คือ อุตสาหกรรมเกษตรที่มีทุนขนาดใหญ่ที่เป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง และก็สร้าง Supply Chain เหล่านี้ขึ้นมา แล้วส่งออกไปสู่ตลาดโลกได้ สิ่งเหล่านี้ คือ ความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกัน

ดังนั้น ถ้าเราจะพูดถึงปัญหาป่าไม้แล้วเท่ากับเฉพาะคนที่เป็นชาวบ้าน หรือว่าคนชนบทเท่านั้นบางทีก็อาจจะเป็นการมองภาพที่ไม่ครบถ้วน เราจะพูดปัญหาป่าไม้เฉพาะจุดแบบนี้คงเป็นไปไม่ได้แล้วที่จะแก้ปัญหาที่เราเจออยู่ ไม่ว่าจะเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือฝุ่นควัน เพราะเรากำลังเอาที่พื้นที่ป่าไม้ไปผลิตอาหารป้อนโลก ซึ่งสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ คือ เรากำลังสร้างให้เกิดตัวการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และปัญหาการใช้ที่ดินแบบที่ไม่ยั่งยืน ก็นำไปสู่ปัญหาที่เป็นปัญหาร่วมกันของโลกเรา

เรื่องคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) จริงๆแล้วมีหลาย sector ที่เข้าไปเกี่ยวข้องไม่ใช่เฉพาะภาคป่าไม้ จริงๆ ภาคป่าไม้ในตอนนี้โครงการที่ขึ้นเป็นคาร์บอนเครดิต มีอัตราส่วนน้อยมากถ้าเทียบกับตัวคาร์บอนดิตที่มาจากภาคอื่น อย่างเช่น การทำโซล่าฟาร์ม (Solar farm) หรือว่าการใช้ EV (Electric Vehicle) คือ เมื่อไหร่ที่เรามี project ที่เราลดคาร์บอน (Carbon) ทางอบก. (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก) สามารถที่จะกำหนดให้ได้ว่าตัวเครดิตที่คุณจะสามารถที่จะเคลมได้มีประมาณเท่าไหร่ ภาคป่าไม้คือหนึ่ง ใน sector ที่ทำเรื่องนี้ได้ แต่ว่าจริงๆแล้วเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก จึงเหมือนกับเรากำลังคาดหวังอะไรบางอย่างที่อาจจะเกินตัวไปพอสมควร เหมือนกันมีคาร์บอนเครดิตในภาคป่าไม้แล้วก็การที่จะเข้ามาลงทุนหรือว่าจะมาสนับสนุน อุดหนุนอะไรต่างๆ เอาจริงก็ยังค่อนข้างห่างไกลกับความเป็นจริงอยู่พอสมควร

แต่สิ่งที่น่าสนใจที่เราสังเกตเห็น พอเริ่มรู้สึก คือ ภาคธุรกิจเขาก็มองภาคป่าไม้เหมือนกับเป็น Oasis หมายถึงว่า เขากำลังมองหาแหล่งน้ำ หรือหาวิธีการที่จะสามารถบรรเทาปัญหาที่ทางภาคธุรกิจกำลังจะเจอได้ เราก็มาเจอแหล่งน้ำแล้วก็หวัง แล้วก็กลายเป็นว่าตอนนี้คนที่จะเข้ามาทำงานในภาคป่าไม้ก็จะคาดหวังคาร์บอนเครดิตเป็นผลตอบแทน ในขณะที่เมื่อก่อนเวลาเราพูดถึงเรื่องของภาคป่าไม้หรืองานป่าชุมชนแล้วกัน ถ้าเอาแบบประเด็นค่อนข้างตรงตัว ก็มองว่าจะมาสนับสนุน เมื่อก่อนเคย CSR ก็ยังรู้สึกว่าไม่ได้ดีเท่าไหร่ ไม่ถูกใจทั้งหมด แต่ก็ยังดีตรงที่ว่าชุมชนก็ยังจะได้รับประโยชน์บางอย่างจากภาคธุรกิจ แต่ตอนนี้ถ้าเราคุยกับทางภาคธุรกิจให้มาสนับสนุนชุมชนทำเรื่องป่าไม้ ถ้าไม่ได้คาร์บอนเครดิต อาจจะไม่มา ก็คือ อาจจะไม่สนใจ และออกไม่ได้ ไม่ได้เครดิตหรอ ไม่ได้คาร์บอนหรอ ก็อาจจะไม่สนใจ ดังนั้นอันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยากสะท้อนเหมือนกันว่า ถ้าเรื่องของภาคป่าไม้อย่าไปคาดหวังกับมันเยอะ เรื่องคาร์บอนเครดิตเป็นเพียงปลายนวม หรือมันเป็นส่วน ท็อปปิ้งคือ เป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่สาระหลักของการที่เราต้องเข้ามาช่วยดูแลเรื่องป่าไม้ เรื่องป่าไม้อย่างที่หลายๆ ท่านพูดถึง จริงๆ แล้วเราต้องการพื้นที่ป่าไม้อีกมากเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บ ที่อาจารย์พูดถึงว่าจะต้องมีเรื่องพื้นที่ในการกักเก็บให้ได้ ดังนั้น คือ ถ้าเราจะมาสนับสนุนเพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิตอย่างเดียว อาจจะกลายเป็นเรื่องที่ล่าช้าเกินไปจนกระทั่งเราไม่ได้แก้ปัญหาที่เราควรจะทำ

สอง คือ ภาคป่าไม้หรือภาคชุมชนที่ต้องทำหน้าที่ในการดูแลป่า เขายังต้องการการสนับสนุนอีกเยอะ แล้วเขาเองก็เผชิญปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ด้วย ชุมชนชนบทจำนวนมากพึ่งพิงแหล่งน้ำจากป่า ที่บ้านตัวเองไม่ได้มีประปาที่ต่อท่อมาจากประปา แต่ตัวเองใช้น้ำมาจากป่าชุมชน ถ้าเขาไม่มีแหล่งน้ำจากป่าชุมชน นั่นก็หมายความว่าเขาก็จะไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ไม่มีน้ำในการที่จะทำการเกษตร อันนี้คือ ปัญหาที่เขากำลังเผชิญอยู่กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็คือ ถ้าฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ป่าไม้ไม่ได้เก็บน้ำไว้ให้เขาตลอดปี เขากำลังเผชิญปัญหาที่เขาเองก็ต้องมีการสนับสนุน 

ดังนั้น อีกส่วนหนึ่งที่เราอยากจะเห็น ก็คือ การเข้ามาสนับสนุนทำงานด้วยกันกับภาคป่าไม้เป็นเรื่องที่ควรจะเกิดขึ้น แต่ไม่ควรจะเริ่มต้นด้วยการที่บอกว่าเราจะเข้ามาปลูกป่าเพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิต แต่ควรจะเป็นตรงที่ว่า เรามาช่วยดูแลป่าเพื่อให้คุณตอบปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของตัวเองให้ได้ด้วย แล้วสิ่งนั้นปลายทางอย่างที่บอกไปเป็นท็อปปิ้ง คือ คาร์บอนเครดิต เป็นเหมือนกับของที่เราได้ประโยชน์ร่วมกัน แล้วเราก็สามารถที่จะเคลมเป็นประโยชน์ที่เราสร้างขึ้นมา แต่มันไม่ควรจะนับหนึ่งหรือเริ่มต้นการพูดคุยที่สิ่งนั้น

แล้วก็ที่อาจารย์อดิศร์ได้พูดถึงเรื่องความหลากหลายทางทางชีวภาพ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเหมือนกัน คือ พอทุกอย่างเป็นคาร์บอน กลายเป็นว่าบางทีในป่า จริงๆ แล้วประโยชน์ที่เราได้รับสิ่งนี้ เรียกว่า บริการทางนิเวศน์ เราได้รับอย่างอื่นด้วยที่ไม่ใช่แค่คาร์บอน เราได้รับอย่างอื่นแล้วก็มีองค์ประกอบอื่นที่ต้องดูแลพร้อมๆ กัน  อย่างเช่น ความหลากหลายทางทางชีวภาพ ก็ควรจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ภาคธุรกิจหรืออะไรต่างๆ เข้ามาเรียนรู้ แล้วก็ทำหน้าที่ในการช่วยดูแลด้วย ไม่ได้เป็นเรื่องการที่ทุกอย่างตอนนี้จะถูกมองไปเหมือนกับในมิติเดียวเกินไป ซึ่งมันอาจจะหลงทางได้

คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH Thailand)

จริงๆมันก็มีมิติกับมีประเด็นให้พูดเยอะมาก ซึ่งก็ไม่สามารถพูดให้มันรวบรัดภายในระยะเวลาที่สั้นได้ แต่ก็น่าจะมีเวทีแบบนี้อีก แต่ในสำหรับวันนี้ โดยภาพสรุปเราคิดว่า สังคมไทยกำลังอยู่ในยุคของขาขึ้นเรื่องการตื่นตัวต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะถ้าในเชิงของสังคมโดยภาพรวม เราคิดว่าประเด็นเรื่องฝุ่น PM 2.5 ทำให้คนพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะขึ้น กับเรื่องขยะ ซึ่งคนทั่วไปก็คิดเรื่องสิ่งแวดล้อมใหญ่ๆ 2 มิตินี้ใน 2 ประเด็นนี้ แต่ในภาคชุมชน ประชาชนรากหญ้า ชนบท ภาคเกษตร หรือว่าชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ เขาตื่นตัวเรื่องทรัพยากร เรื่องสิ่งแวดล้อมมานานพอสมควรเลย

แล้วเขาคือด่านแรกของการปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้กับบ้านเรา ให้กับทุกๆ คน ซึ่งความตื่นตัวมันเริ่มมาตั้งแต่อาจจะก่อนหน้าปี 2540 เล็กน้อย แต่ว่าหลังปี 2540 คือยุคที่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในยุคนั้นช่วงการใช้สิทธิชุมชนเนี่ยมันเบ่งบานทั้งประเทศเลย จะเห็นว่าทุกคนพูดถึงเรื่องการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ การมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากร การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แล้วทุกคนก็กลัวมลพิษ อาการกลัวมลพิษ ระบาดไปทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นจากปี 2540, 2541 เรื่อยมาจนกระทั่งในช่วงปี 2550 จะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ โครงการลอยฟ้า โครงการอุตสาหกรรมเยอะทั้งประเทศเลย

ซึ่งถ้ามองจากตัวรัฐธรรมนูญปี 2540 มันคือ การขานรับกระแสโลกด้วย การขานรับกระแสโลก การขานรับสถานการณ์ภายในประเทศว่าทั่วโลกกับภายในประเทศ สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมกำลังเสื่อมถอย คุณภาพมันทรุดโทรมลง ถ้าโดยสถานการณ์โลกมันมาตั้งแต่ปีที่โดดเด่นมากๆ แล้วก็เป็นการเปิดทั้งโลกเลย ก็คือ Earth Summit การประชุมสุดยอดสิ่งแวดล้อมในปีค.ศ. 1992 หรือ พ.ศ. 2535 ซึ่งตรงนั้นเป็น landmark ที่สำคัญที่พูดถึงเรื่องจากนี้ไปทุกประเทศทั่วโลกต้องก้าวเดินไปสู่ทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งอาจารย์บอกว่ามันเป็นนามธรรมมาก เห็นด้วpว่ามันเป็นนามธรรมมาก จริงๆมันมีข้อถกเถียงด้วยว่าบางประเทศไม่อยากใช้คำนี้เลย เขาอยากใช้คำว่า “ความเป็นธรรม” เขาไม่อยากใช้ “ความยั่งยืน” เขาอยากจะใช้ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม ความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากร ความเป็นธรรมในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ว่าก็ตกไป ความเป็นธรรมก็ยังไม่หายไปไหน แต่ว่ามันไม่ได้เป็นกระแสที่ทุกประเทศใช้กัน

ทีนี้ย้อนกลับมาเรื่องความยั่งยืน จริงๆ มันมีแนวทางของมันอยู่ ถ้าเป็นแนวทางเรื่องของสิ่งแวดล้อม มีการพูดชัดเจนใน Rio Declaration แล้วตามมาด้วย Agenda 21 หรือว่า แผนปฏิบัติการ 21 ซึ่งทุกคนรู้จัก ในแต่ละ Chapter ของ Agenda 21 จะมี Chapter ที่พูดถึงเรื่องของการจัดการสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาโลกร้อน หรือว่าการแก้ปัญหามลพิษด้วยการบอกว่า ภาคอุตสาหกรรมจะต้องรับผิดชอบมากขึ้นด้วยการลดการปล่อยมลพิษ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งตรงนี้ มันนำมาซึ่งอนุสัญญาเรื่องว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วก็นำมาซึ่งเรื่องของพื้นฐานของการว่าด้วยเรื่องกฎหมาย PRTR แล้วก็นำมาซึ่งเรื่องของหลักการ 3 ใหญ่ที่อาจารย์พูดถึงเรื่องอนุสัญญาออร์ฮูส ที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิการเข้าถึงข้อมูล สิทธิการมีส่วนร่วม และก็สิทธิการเข้าถึงความเป็นธรรม ตอนนี้ในกลุ่มประเทศเอเชียบางประเทศ เขากำลังพูดว่าอยากให้ภูมิภาคเอเชียมี Aarhus Convention มี Convention แบบ Aarhus ในแถบเอเชีย เขาเริ่มพูดกันมาพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง

ทีนี้ตัว Aarhus เป็นตัวขานรับที่สำคัญที่ทำให้มาตรการหนึ่งที่จะทำให้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วย การผลักดันให้อุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แล้วก็การปล่อยมลพิษในทุกๆด้าน ซึ่งในที่ประชุมสุดยอดสิ่งแวดล้อมโลกในปีนั้นบอกว่า ขอให้ทุกประเทศได้มีการทำสิ่งที่เขาเรียกว่า Emission Inventory ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น PRTR

ทีนี้ตัว PRTR เขาบอกว่าเวลาที่เราพูดถึงสิทธิการเข้าถึงข้อมูล บางทีก็เป็นนามธรรมด้วยเหมือนกัน เพราะว่าตราบใดที่มันไม่มีกลไก ไม่มีระบบและไม่มีกฎหมายมารองรับให้มันเกิดข้อมูล การเข้าถึงข้อมูลมันก็ไม่มีข้อมูลให้เข้าถึง เพราะฉะนั้นตัวกฎหมาย PRTR ที่สหประชาชาติผลักดันให้ทุกประเทศทำ มันคือตัวฐานเลย เป็นกฎหมายพื้นฐาน คือระบบ คือกลไกที่จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษต้องส่งรายงานว่าเขาผลิตอะไร เขาปล่อยอะไร เขามีมลพิษอะไรบ้างที่ปล่อยทางอากาศ ทางน้ำ กากอุตสาหกรรมมีสารปนเปื้อนอะไร ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร ข้อมูลเหล่านี้ต้องรายงานเข้ามาสู่หน่วยงานที่กำกับดูแล

เพราะฉะนั้น ถ้าเราต้องการรู้ว่าประเทศไทยตอนนี้ในภาคอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ปริมาณกี่ลูกบาศก์เมตร หรือกี่ตันต่อปี อย่างนี้จะมีตัวเลขแล้ว ถูกไหม ปล่อยฝุ่น PM 2.5 กี่ตันต่อปี จะมีตัวเลขแล้ว แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกฎหมาย PRTR สิ่งเหล่านี้จึงไม่เกิด เมื่อสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิด พอเราพูดถึงเราต้องมีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล เราจะไปเข้าถึงอะไร มันไม่มีข้อมูลให้เข้าถึง อันนี้เป็นอย่างนี้ ยกตัวอย่างให้ฟัง ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ว่าตอนนี้เรากำลังรณรงค์ ก็คือ อยากให้ทุกคนถ้าเราคิดว่า 3 เสาหลักที่อาจารย์พูดถึง หรือว่าทางคุณสุภาภรณ์พูดถึง คือ การเข้าถึงข้อมูล การมีส่วนร่วม แล้วก็การเข้าถึงความเป็นธรรม กฎหมาย PRTR จะเป็นการวางหลักพื้นฐานที่เป็นรูปธรรมให้สามารถ 3 เสาหลักที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิ์อันนี้เป็นรูปธรรมที่ที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกคนช่วยเข้าไปลงชื่อในเว็บไซต์นี้

ถ้าเรามีกฎหมายตัวนี้ตัวเดียว อย่างน้อยๆ เราแก้ไขปัญหาเรื่องมลพิษได้ในทุกด้าน เราจะแก้ปัญหา PM 2.5 ได้ เราจะรู้ว่าประเทศไทย มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกแหล่งกำเนิดอย่างไรบ้าง แล้วจะจัดการอย่างไรบ้าง จะไปลดอย่างไรบ้าง ประชาชนทุกคนจะมีเครื่องมือในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และก็ปกป้องสุขภาพของตัวเองด้วย เพราะว่ากฎหมายนี้จะทำให้รู้ว่าโรงงานตั้งอยู่ใกล้บ้านเขาปล่อยมลพิษอะไร แล้วเขาจะปกป้องยังไง หรือเขาจะตรวจสอบยังไง จะทำให้ระบบการถ่วงดุลและคานอำนาจระหว่างภาคประชาชน หน่วยงานรัฐ หน่วยงานต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อมสุขภาพโรงงาน ผู้ก่อกำเนิดภาคอุตสาหกรรม และภาคทุน มีความสมดุล ซึ่งอันนี้จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ทีนี้กำลังคิดว่าแต่มันน่าเสียดายนิดนึงกฎหมายนี้ว่า ยังไม่เกิด จากปี 2535 จนปีนี้ 2566 31 ปีแล้ว อยากให้ทุกคนช่วยกัน 

จริงๆ น่าเสียดายตรงที่ว่าภาครัฐกับภาคทุนผูกขาด เขามองเห็นรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนา เพราะฉะนั้น จึงมีการแก้รัฐธรรมนูญ แล้วจะมีการตัดมาตราที่เป็นการริดรอนสิทธิ์ของประชาชนลงเรื่อยๆ จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งถ้าหากว่าภาครัฐไทย กลุ่มทุนไทยลดการเห็นประโยชน์ของพวกพ้องลง ลดการเห็นแก่ประโยชน์ของผลกำไรของตัวเองลง เราเชื่อว่าจากปี 2540 เราจะมีรัฐธรรมนูญที่ดีขึ้น มากขึ้น แล้วก็มีกฎหมายที่ดีขึ้น แล้วก็ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมของบ้านเราจะดีขึ้นแน่นอน สุขภาพคนไทยจะดีขึ้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น เราคิดว่าอย่างไรก็ตามวันนี้ แม้ว่าการเมืองใหม่จะยังไม่เกิดขึ้น ยังวนลูปอยู่ในการเมืองน้ำเน่าแบบเดิม หรือการเมืองในยุคแบบเดิมๆ แต่เราคิดว่าอันนี้เป็นก้าวเริ่มต้นที่สำคัญที่จะทำให้มิติใหม่ของการเมืองบ้านเราเริ่มขยับไปในทิศทางที่ดีขึ้น แล้วก็เรื่องการตื่นตัวของประชาชนทุกๆ ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นคนในเมือง หรือในภาคชนบท ภาควิชาการหรือนักการเมือง ข้าราชการต่างๆ หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบกิจการต่างๆ เราเชื่อว่าเขาเริ่มตระหนักมากขึ้นว่าเขาต้องการการเมืองใหม่ ถ้าต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่อย่างนั้นเขาก็หนีปัญหาไม่พ้น

หมายเหตุ: เวทีเสวนาจัดขึ้นในวันเดียวกันกับที่รัฐสภานัดโหวตนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 (19 กรกฎาคม) ก่อนทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องคดีถือหุ้นไอทีวีของผู้ได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤกษภาคมมากที่สุดคือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส่งผลให้นายพิธาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ทันที และรัฐสภาลงมติไม่เห็นด้วยในการนำเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 ด้วยการอ้างถึงข้อบัญญัติในกรณีของญัตติที่ตกไปแล้วของรัฐสภา

Source : https://bkktribune.com