ผอ.กรีนพีซเผย “ผิดหวัง-ถอยหลัง” โดยเฉพาะความคืบหน้าเรื่องยกเลิกเชื้อเพลิงฟอสซิล 

Global Compact ระบุ “แผนประเทศไทยยังไม่ชัดเจน ลุ้นให้มีกลไกภาคบังคับในพรบ.ที่กำลังจะออก” 

ด้านนักเศรษฐศาสตร์สะท้อน “ไม่มีพัฒนาการเท่าไร กลไกการเงินลดโลกร้อน-กองทุน” ขณะ Climate Watch Thailand ระบุ “ถดถอย-สูญเสีย” โดยเฉพาะมิติความเป็นธรรม

พร้อมหลากข้อเสนอรับความท้าทายลดโลกร้อนไทยปีหน้า ขณะกรมโลกร้อนเผย “พรบ.โลกร้อนที่กำลังเร่งออก น่าจะช่วยสร้างความชัดเจนมากขึ้นในการจัดการ”

นราวิชญ์ เชาวน์ดี รายงานจากเวทีเสวนา “COP28 และเส้นทางสู่อนาคต” วันนี้

“ผิดหวัง-ถอยหลัง ผลการประชุม COP28” กรีนพีซ

“ในฐานะที่เป็นผู้สังเกตการณ์อยู่ข้างนอก มีคำ ๆ หนึ่งที่เถียงกันเยอะมากในหมู่ของภาคประชาสังคม นักวิทยาศาสตร์ รวมถึงสื่อมวลชนที่เกาะติดเรื่องนี้มาโดยตลอดก็คือ Transition away from fossil fuels ในมุมมองของผมเห็นว่าประโยคนี้เป็นภาษาที่มีช่องว่างเยอะมาก คำว่า Transition มันตีความหมายได้เยอะมาก เป็นคำที่ไม่ช่วยให้กลุ่มประเทศยากจน หมู่เกาะที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตอบโจทย์ตรงนั้นได้เลย

นอกจากนั้นสหรัฐอเมริกาที่เป็นประเทศผู้ผลิตฟอสซิลอันดับ 1 ของโลก และส่งน้ำมัน ฟอสซิลไปส่วนต่าง ๆ ของโลก รวมถึงจีน และอินเดีย ทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวก็ยังคงดันถ่านหินอยู่ ทำให้เป็นที่สงสัยว่าการจะ Transition away นั้นจะทำได้อย่างไร

แต่อีกฝ่ายเขาก็มองว่า เราคุยกันมากว่า 30 ปี เราไม่เคยแตะช้างตัวใหญ่ที่อยู่ในห้องเลย (ฟอสซิล) แต่ครั้งนี้ก็ถือเป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงเรื่องนี้ซึ่งหลายฝ่ายก็มองว่าเป็นเรื่องดี” 

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย เปิดเผยในเวทีเสวนา COP28 และเส้นทางสู่อนาคต ณ SAE-Junction ชั้น 4 หอศิลปแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) วันนี้ (22 ธ.ค. 2566) ซึ่งจัดโดย สำนักข่าว Bangkok Tribune และเครือข่ายพันธมิตร

ธารา เปิดเผยต่อว่า จากการไม่ชัดเจนดังกล่าวทำให้มีความท้าทายต่อว่าใน COP29 ครั้งหน้าที่จะจัดขึ้นที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน ซึ่งเคยเป็นรัฐบริวารของรัสเซีย และเป็นผู้ส่งออกน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลก คำว่า Transition away from fossil fuels อาจถูกทำให้ด้อยค่าลงอีกครั้งก็

“เราคิดว่าคำที่ชัดเจนที่สุดก็คือ phase out แต่ก็ต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่ายด้วย ถ้าถามผมว่าผลจากการประชุม COP28 ครั้งนี้ถอยหลังไหม ผมคิดว่าภาษาที่ใช้ถอยหลังแน่นอน” ธารา กล่าว

“แผนไทยยังไม่ชัดเจน ลุ้นมีกลไกภาคบังคับในพรบ.ที่กำลังจะออก” Global Compact

“ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่มีปีไหนในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เราลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ ดังนั้นนี่คือสิ่งที่เจ็บปวดมาก ประเทศไทยยังไม่มีกลไกที่จะใช้บังคับคนให้ลดการปล่อย คนทำก็ทำไป คนไม่ทำก็ไม่ทำ

เรื่องต่อไปที่อยากจะบอกก็คือ กลไกตลาดที่เป็น Carbon Pricing เป็นกติกาที่ดีกว่า carbon tax หรือ คาร์บอนเครดิต ซึ่งถ้าเราทำกลไกตลาดดี ๆ ผู้ที่เป็นคนปล่อยในประเทศจะได้รู้ตัว และเขาจะพยายามปรับตัวของเขาเอง” ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand)

ธันยพร เปิดเผยต่อว่า คงต้องจับตาดูว่าใน พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะมาในปีหน้า จะมีการพูดถึงเศรษฐศาสตร์เครืองมือทางการเงินที่จะกำหนดกลไกให้ผู้ผลิตสินค้า และบริการมีความรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นหรือไม่

“เพราะถ้ามีพรบ.ช่วยบังคับ อย่างน้อยคนทำดีที่มีทั้งทำดีมาก และทำดีน้อย อย่างน้อยคนที่เขียวน้อยจะได้เขียวมากขึ้น

นอกจากนั้นภาคส่วนธุรกิจที่ยังไม่ได้ปรับตัว ที่ยังขายของได้อยู่ ที่เขาคิดว่ายังไม่ถึงเวลาของเขา ถ้ามีกลไกบังคับเขาก็จะทำให้เขาต้องปรับตัว” ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าว

“ไม่มีพัฒนาการเท่าไร กลไกการเงินลดโลกร้อน-กองทุน” นักเศรษฐศาสตร์

“ในเรื่อง Climate Finance ครั้งนี้ก็ไม่ได้มีพัฒนาการมากเท่าไหร่ เราตั้งใจว่าจะต้องมีเงินเพื่อช่วยให้ประเทศเปราะปางปรับตัว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่จริง ๆ แล้วควรจะต้องมีประมาณ 2 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ แต่ความจริงล่าสุดรวบรวมกันได้เพียงแค่ 85 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ 

ปัญหาตรงส่วนนี้มาจากแต่ละประเทศคิดว่า ชั้นบรรยากาศโลกเป็นสินค้าสาธารณะ เพราะฉะนั้นไม่มีปรเะทศไหนที่อยากจะจ่ายเงินให้คนอื่นได้ประโยชน์ ส่วนประเทศตนเสียประโยชน์ รวมถึงไม่มีอำนาจกฎหมายใด ๆ ในโลกมีอำนาจสั่งให้ประเทศใดประเทศหนึ่งหยุดปล่อย” รศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วิษณุ กล่าวเพิ่มเติมถึงกองทุน Loss and Damage ที่ปัจจุบันรวบรวมเงินบริจากได้ประมาณ 792 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 27,720 ล้านบาท ที่ถือว่าน้อยมาก รวมถึงประเทศที่ปล่อยมลพิษเป็นอับดับต้น ๆ อย่างสหรัฐอเมริกาก็บริจาคมาน้อยมาก โดยมีการพูดถึงว่าถ้าจะลดความเสียหายให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาจริง ๆ ต้องใช้เงินกว่า 3 – 20 ล้านล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินที่รวบรวมได้ในปัจจุบันถือว่ายังห่างอยู่อีกมาก ซึ่งอาจจะไม่พอ รวมถึงประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศที่ได้รับเงินสนับสนุนยาก เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่อยู่ในฐานะปานกลางค่อนข้างดี

“นอกจากนั้นภายใน COP28 ก็ยังไม่ได้สรุปขอบเขตของความสูญเสียและความเสียหาย รวมถึงไม่ได้สรุปว่าประเทศใดบ้างที่ควรมีสิทธิ์ได้รับการสนับสนุน มีการพูดกว้าง ๆ ว่าประเทศกำลังพัฒนามีสิทธิ์ได้รับ แต่คำถามก็คือประเทศจีนที่ปล่อยเยอะ และเป็นประเทศกำลังพัฒนาจะได้เงินด้วยหรือไม่ ที่ก็เป็นข้อถกเถียงที่ยังไม่ได้คำตอบ

ข้อสรุปแนวทางในการนำเงินของกองทุนมาใช้อย่างไร จะเพียงพอไหม และจะทันการหรือไม่ก็ยังไม่มีข้อสรุป จึงค่อนข้างผิดหวังเล็กน้อยในเรื่องของความก้าวหน้า” รศ. ดร.วิษณุ กล่าว

วิษณุเปิดเผยถึงความกังวลอีกหนึ่งเรื่องคือ จากนี้ไปในแต่ละปีจะมีเงินมาเข้ามาในกองทุนเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ หรือเป็นการบริจาคแบบครั้งเดียวจบ เนื่องจากปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นทุกปี ถ้าเป็นการบริจาคแค่ในครั้งนี้การเปลี่ยนรักษาไม่ให้อุณหภูมิโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจะเป็นเรื่องที่ลำบากมาก

“ถดถอย-สูญเสีย” Climate Watch Thailand

“การประชุมในครั้งนี้ถือว่าเป็นความถดถอยและสูญเสียอย่างมาก ไม่ได้สนใจความเป็นธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบเลย เงินไม่มีให้แต่บอกว่าจะให้เราลดการปล่อย ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยมีเรื่องให้ใช้งบประมาณเยอะมากทั้งการศึกษา สุขภาพ คุณจะให้เราเจียดเงินเหล่านี้ไปดูแลเรื่องโลกร้อน โดยที่ประเทศไทย พี่น้องเกษตรกร และพี่น้องกลุ่มอื่น ๆ ไม่ได้เป็นคนก่อได้อย่างไร

ส่วนสิ่งที่ดีใน COP ครั้งนี้เรื่องเดียวก็คงเป็นการตกลงกันไม่ได้เรื่อง carbon trading หรือการซื้อขายคาร์บอน มิฉะนั้นคงจะส่งผลเสียมากทั้งต่อพี่น้องที่ดูแลป่า รวมถึงจะก่อให้เกิดการปกปิดข้อมูลว่ามีใครมาทำสัญญาจากภาครัฐแน่นอน” วนัน เพิ่มพิบูลย์ ผู้อำนวยการบริหาร Climate Watch Thailand.

ความท้าทายที่รออยู่-ข้อเสนอ

ปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า เพื่อความเป็นรูปธรรมในด้านการจัดการสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ทาง กรมฯ จะดำเนินการเร่งออก พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้เร็วที่สุด 

“สาเหตุที่เราต้องเร่งออกพรบ. ก็คือ หลาย ๆ เรื่องถ้าไม่มีความชัดเจนการดำเนินการก็จะยากขึ้น ส่วนในพรบ.เองก็จะมีการพูดถึง climate finance ไม่ว่าจะเป็น carbon pricing carbon tax carbon market ซึ่งจะหาบริบทที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย 

สิ่งเหล่านี้รัฐบาลจะดำเนินการให้ดีที่สุด ซึ่งเราจะทำในลักษณะรัฐ ประชาชน เอกชน เดินไปพร้อมกัน ไม่มีการทิ้งใครไว้ข้างหลัง” รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าว

วิษณุ กล่าวว่า เนื่องจากเงินสนับสนุนในครั้งนี้ถือว่าไม่เป็นไปตามเป้า ซึ่งอาจจะยากกับไทยที่จะได้รับ แต่อยากให้คิดว่า เราสามารถปรับบางสิ่งบางอย่างที่เราทำอยู่แล้วให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้หรือไม่ จากจำนวนเงินที่เรามีอยู่แทนที่จะหวังกับเงินข้างนอก

“การบ้านข้อแรกที่เราจะต้องมานั่งคิดหลังจากนี้ถ้าเราหวังเงินจากข้างนอกก็คือ ต้องให้กรมทุกกรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องหันมาวางแผนกันว่าเราจะจัดเตรียมข้อเสนอโครงการขอเงินอย่างไร ทั้งจากกองทุน Loss and Damage หรือจาก climate finance ที่ไม่ได้ของ่าย ๆ เราต้องเตรียมการอย่างดี

เรื่องที่ 2 เนื่องจากรัฐบาลมีงบประมาณจำกัด เพราะฉะนั้นการหาพันธมิตรมาช่วยไม่ว่าจะเป็นจากรัฐบาลของประเทศอื่น ภาคเอกชน หรือจาก NGO ต่าง ๆ ก็จะสามารถเข้ามาช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้” อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผย

วนัน เสนอเพิ่มเติมว่าในการเขียนโครงการเพื่อของการสนับสนุนจากกองทุนต่าง ๆ ภาครัฐควรให้ภาคประชาสังคม และกลุ่มต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย แทนที่จะนำแผนของแต่ละกระทรวงมาพิจารณาเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา

ธันยพร เสนอว่าในอนาคตควรนำหลักการทางเศรษฐศาสตร์เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้ภาคธุรกิจหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

“พฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นสิ่งที่น่ากลัวของนักธุรกิจ เพราะว่าธุรกิจไม่แคร์ว่าโลกนี้กำลังจะร้อน แต่เขาสนใจว่าจะไม่มีใครมาซื้อสินค้า เพราะฉะนั้นถ้าเราใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์สื่อสารให้ถูกต้อง กลไกเหล่านี้จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านได้” ธันยพร เปิดเผย

source : https://greennews.agency/?p=36549