ชุมทางอุษาคเนย์ (SEA-Junction) ร่วมกับ องค์การนิรโทษกรรมสากล ประเทศไทย( Amnesty International Thailand), เครือข่ายสนับสนุนสันติภาพกะเหรี่ยง (Karen Peace Support Network), ALTSEAN-Burma (Alternative ASEAN Network on Burma), โปรเกรสซีฟ วอยซ์ (Progressive Voice) และ มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน (Friends Without Borders Foundation) จัดงานสัมนาภายใต้ชื่อ “Time for A Change World Refugee Day 2023” “ถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง วันผู้ลี้ภัยโลกประจำปี 2566” ในวันที่ 20 มิถุนายน 2566 เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก ณ SEA-Junction ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เวลา 17.30-19.30 น.

 ในงานสัมนามีกิจกรรมชมภาพยนตร์สั้น “The Nightmare and A Dream” โดย Salween IDP Film Production ร่วมกันสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และพูดคุยเรื่องการพลัดถิ่นบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา: ก่อนและหลังรัฐประหาร โดยวิทยากร 4 ท่าน และ อ่านจดหมายเปิดผนึกจากผู้ลี้ภัยถึงว่าที่รัฐบาลไทย โดยคุณนอ วาคือชี เทเนอร์ เครือข่ายสนับสนุนสันติภาพกะเหรี่ยง

‘นอ เกอะญอ พอ (Naw K’Nyaw Paw)’ เลขาธิการองค์กรสตรีชาวกะเหรี่ยง (KWO) ได้เล่าประสบการณ์การลี้ภัยจากการถูกโจมตีโดยทหารพม่ามายังชายแดนไทย และยังได้กล่าวถึงปัญหาสวัสดิการ การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยของรัฐบาลไทยว่าสวัสดิการในด้านต่างๆ ยังไม่เพียงพอสำหรับผู้ลี้ภัย ปัญหาการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนที่ยังไม่เพียงพอ ขาดแคลนอุปกรณ์และตำรา ครูไม่มีรายได้ที่ดี ห้องเรียนและโรงเรียนไม่เพียงพอต่อผู้ลี้ภัย รวมไปถึงเรื่องความปลอดภัยและการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยของรัฐบาลไทยที่เจ้าหน้าที่รัฐยังคงผลักดันให้ผู้ลี้ภัยกลับไปยังเมียนมาร์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ทำให้ผู้ลี้ภัยรู้สึกไม่ปลอดภัย ทั้งยังมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยอย่างการให้รัฐบาลไทยเคารพสิทธิมนุษยชนขอผู้ลี้ภัย ไม่ควรมองว่าผู้ลี้ภัยเป็นภาระและให้พวกเขาได้รับสิทธิที่ดีขึ้นเพื่อช่วยพัฒนาสังคมไทยต่อไปได้

‘ที นาย’ อดีตผู้ลี้ภัยในเมืองจากเมียนมายุคทศวรรษ 1990 เล่าประสบการณ์ที่ถูกตำรวจตามจับกุมในขณะที่ทำงานในประเทศไทย รวมถึงเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ออก Persons of concerns to UNHCR (POC) ให้แก่ผู้ลี้ภัยชาวพม่า เนื่องจากผู้ลี้ภัยชาวพม่าไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างถูกต้อง ตำรวจมีพฤติกรรมทุจริตกับผู้ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยไม่ได้รับสิทธิ์การคุ้มครองช่วยเหลือจากไทย ทำให้ผู้ลี้ภัยหลายคนอยู่ในภาวะเครียดและกังวล 

‘ธิษะณา ชุณหะวัณ’ ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้ง ตัวแทนพรรคก้าวไกล ประนามการกระทำที่ทำให้ผู้ลี้ภัยให้เกิดอันตรายและไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม พร้อมทั้งผลักดันกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติหรือเชื้อชาติ และเสนอแนะมาตราการที่รัฐบาลไทยควรใช้ต่อเจ้าหน้าที่ที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ลี้ภัยว่าควรที่จะลงโทษเจ้าหน้าที่ทหารเมียนมาร์ที่เข้ามาทำร้ายผู้ลี้ภัยในชายแดนไทยตามแบบยุโรป ซึ่งเป็นการลงโทษแบบปัจเจกบุคคลไม่ใช่ทั้งประเทศ เพื่อที่จะสนับสนุนสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย

‘กัณวีร์ สืบแสง’ ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้ง ตัวแทนพรรคพลังธรรม กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์รัฐประหารพม่า รวมถึงบอกว่ารัฐบาลไทยไม่ยอมรับว่ามีผู้ลี้ภัยในประเทศ และหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะคำนึงถึงเรื่องของสิทธิมนุษยชน อยากที่จะนับสนุนด้านมนุษยธรรมและผลักดันกฎหมายสสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยให้มีทางเลือกในการเข้าช่วยผู้ลี้ภัยที่ยั่งยืน

วันผู้ลี้ภัยโลก จัดขึ้นทุกวันที่ 20 มิถุนายนของทุกปีด้วยการริเริ่มจากองค์การสหประชาชาติ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและอุทิศเกียรติให้แก่ผู้ลี้ภัยทั่วโลก โดยเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2001 ในวาระที่ครบรอบ 50 ปี การมีสถานะผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นในระบบกฎหมายระหว่างประเทศหลังวิกฤติสงครามโลกครั้งที่สอง

Source : https://workpointtoday.com/refugee-day-230520/