Loading Events

« All Events

  • This event has passed.

งานเปิดตัวหนังสือ “Who Cares? โควิด-19 การตอบสนองการคุ้มครองสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” และงานเสวนาถอดประสบการณ์ประเทศไทยสู่บทเรียนในอนาคต

25 October, 2023 @ 5:30 pm - 7:00 pm

ในวันที่ 25 ตุลาคม 2566 เวลา 17.30 น. SEA Junction ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม และ สำนักพิมพ์ซิลค์เวิร์ม จะจัดงานเปิดตัวหนังสือ เรื่อง “Who Cares? โควิด-19 การตอบสนองการคุ้มครองสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ฉบับภาษาไทย เรียบเรียงโดยโรซาเลีย ชอร์ติโน จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม ในงานจะมีหนังสือตัวอย่างจำนวนหนึ่งจัดไว้สำหรับผู้เข้าร่วม

งานเปิดตัวครั้งนี้จะมีการเสวนา โดยเน้นเนื้อหาของหนังสือในบทที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยที่นำเสนอการคุ้มครองทางสังคมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และอภิปรายถึงนโยบายในการดำเนินการสำหรับประชากรไทยในภาพรวม เช่น สวัสดิการสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ แรงงาน กลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง และการช่วยเหลือในรูปแบบของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่รัฐบาลไทยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมหภาค ด้วยการโอนเงินอุดหนุนจากรัฐบาล รวมถึงโครงการคนละครึ่งที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค สนับสนุนภาคธุรกิจ และส่งเสริมเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นมาตรการที่ยังคงนำกลับมาใช้ในปัจจุบันนี้ ในช่วงที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าอยู่ในจุดสูงสุด อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้กลับไม่ได้ก่อประโยชน์กับผู้ที่ขาดแคลนและไม่ตอบสนองความต้องการอันเร่งด่วนของผู้ด้อยโอกาสมากนัก เนื่องจากมาตรการเหล่านี้จำกัดทางเลือกในการซื้อของเฉพาะจากเครือร้านค้าขนาดกลางและขนาดใหญ่ (จึงไม่ใช่ผู้ขายรายย่อยและธุรกิจครอบครัวขนาดเล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดมากที่สุด)

เนื้อหาในบทนี้เป็น ‘สิ่งที่เกิดขึ้นจริง’ ผู้เขียนได้อภิปรายถึงการตอบสนองของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในช่วงปีที่สองของการระบาดใหญ่ แม้ว่าหลายคนจะถือว่าวิกฤตการระบาดโควิดได้จบลงแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมยังคงอยู่ และอย่างน้อยที่สุดเราก็สามารถเรียนรู้จากอดีตที่ผ่านมาว่าจะจัดการกับวิกฤตได้ดีที่สุดอย่างไร

งานเสวนาจัดเป็นภาษาไทย โดยมีกำหนดการดังนี้

  • กล่าวต้อนรับโดย รศ. ดร. อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
  • กล่าวต้อนรับโดย คุณตรัสวิน จิตติเดชารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม
  • กล่าวแนะนำหนังสือโดย ศ.ดร. มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม คนไทย 4.0

ผู้ร่วมเสวนา

  • รศ.ดร.ธีรนงค์ สกุลศรี ผู้เขียนร่วม สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
  • อ.ดร. ระพีพันธ์ จอมมะเริง ผู้เขียนร่วม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ศ. ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม ทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
  • คุณสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการบริหาร Homenet Southeast Asia และกรรมการควบคุมคุณภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

งานเสวนาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการภาพถ่าย “Who Cares? โควิด-19 กับความเหลื่อมล้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” จัดโดย SEA Junction ร่วมกับ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ในวันที่ 17-29 ตุลาคม พ.ศ. 2566 จัดแสดงบนผนังโค้ง ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร- โดยการถ่ายภาพจากช่างภาพจาก 6 ประเทศ อันได้แก่ Edy Susanto จากอินโดนีเซีย, Hasnoor Hussain จากมาเลเซีย, Ta Mwe จากเมียนมา, Kimberly dela Cruz จากฟิลิปปินส์, Grace Baey จากสิงคโปร์, และ สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ จากประเทศไทย เพื่อแสดงให้เห็นถึงการกักตุนและการกระจายทรัพยากรความช่วยเหลืออันไม่เท่าเทียม ผลกระทบต่อความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชากรกลุ่มต่าง ๆ โดยย้ำให้เห็นถึงความไม่เสมอภาคที่ฝังรากลึกในสังคม กลุ่มผู้ด้อยโอกาสถูกจำกัดและลดความคุ้มครอง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกลุ่มนี้จำนวนมาก กลุ่มช่างภาพเล็งเห็นความจำเป็นในการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง และการขจัดความแตกแยกที่เกิดจากโรคระบาดอย่างจริงจัง เพื่อสร้างสังคมที่เที่ยงธรรมมากขึ้น งานเปิดนิทรรศการในวันที่ 18 ตุลาคม 2566 เวลา 17.30 น. ที่ SEA Junction มีจัดการเสวนาโดยช่างภาพ 4 ท่าน จาก 6 ท่าน ได้แก่ Edy Susanto, Hasnoor Hussain, Kimberly dela Cruz และ สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ โดยการเสวนาดำเนินเป็นภาษาอังกฤษ (กำลังพิจารณาล่ามแปลเป็นภาษาไทย)

ในการจัดแสดงนิทรรศการตลอดจนการผลิตหนังสือ (ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย) และการเปิดตัวหนังสือ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยระดับภูมิภาคที่ดำเนินการในช่วงแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี พ.ศ. 2564-2565 ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ( IPSR) ด้วยทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการวิจัยยุทธศาสตร์บูรณาการสังคมศาสตร์ : คนไทย 4.0

มีล่ามแปลภาษาอังกฤษ สำหรับผู้เข้าร่วมงานที่ SEA Junction

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ info@seajunction.org หรือ +66970024140

เกี่ยวกับผู้ร่วมเสวนา

มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก Australian Nation University (ANU) และศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และดำรงตำแหน่งที่สำคัญอีกหลายตำแหน่ง เคยดำรงตำแหน่งรองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นประธานสถาบันนโยบายสาธารณะ (PPSI) และเป็นผู้นำโครงการคนไทย 4.0 งานวิจัยของดร.มิ่งสรรพ์ มุ่งเน้นที่นโยบายสาธารณะ การท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปี 2546 ดร.มิ่งสรรพ์ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่น จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และในปี 2561 ได้รับรางวัลศิษย์เก่าออสเตรเลียจากสถานทูตออสเตรเลีย กรุงเทพฯ

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ รองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม ทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย วรวรรณได้รับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Alberta ประเทศแคนาดา และเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต รวมถึงเศรษฐศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง ผู้ประสานงาน Homenet Southeast Asia (HNSEA) สมาชิกคณะทำงาน Homenet International และรองประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet) และยังดำรงตำแหน่งผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงอีสานและกรรมการควบคุมคุณภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (NHS)

ระพีพันธ์ จอมมะเริง อาจารย์ประจำภาควิชาสุขภาพชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สอนเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ระเบียบวิธีวิจัย สุขภาพโลก รสนิยมทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ รพีพันธ์เป็นนักเคลื่อนไหวด้าน LGBTIQ+ ร่วมกับสมาคมสายรุ้งแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2545 และเป็นกรรมการของมูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย ระพีพันธ์ได้รับปริญญาเอกสาขาประชากรศาสตร์พร้อมทุนวิจัยที่ Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health ในเมืองบัลติมอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เขามีปริญญาโทถึง 5 สาขาในด้านการวิจัยประชากรและการอนามัยเจริญพันธุ์ การสื่อสารมวลชน สาธารณสุข การบริหารรัฐกิจและการจัดการธุรกิจ ผลงานที่ถูกตีพิมพ์ ได้แก่ พฤติกรรมเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย การพัฒนาระบบการรักษาพยาบาลแบบกำหนดเป้าหมาย และการประเมินโครงการในประชากรกลุ่มเปราะบาง น

ธีรนงค์ สกุลศรี ได้รับปริญญาเอกสาขาการศึกษาประชากร จากมหาวิทยาลัยมหิดลในปี 2558 และเป็นรองศาสตร์จารย์ที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (IPSR) ในปี 2562 ได้รับทุนวิจัยจาก  Migrating out of Poverty Research Programme Consortium มหาวิทยาลัย Sussex และในปี 2561 ยังได้รับทุนจากกองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อดำเนินการวิจัยเชิงนโยบายเกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นอย่างปลอดภัยสำหรับผู้อพยพจากประเทศในแถบลุ่มน้ำโขงสู่ประเทศไทย ปัจจุบันดำเนินโครงการที่มุ่งเน้นไปที่สิทธิแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย โดยเฉพาะในอาชีพเกษตรกรรมและการดูแลผู้สูงอายุ

จัดโดย

SEA Junction ภายใต้การดำเนินการของมูลนิธิเพื่อการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งสร้างความเข้าใจและความซาบซึ้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทุก ๆ ด้านของมิติสังคมวัฒนธรรม ตั้งแต่ศิลปะและวิถีชีวิต ไปจนถึงเศรษฐกิจและการพัฒนา ตั้งอยู่ที่ห้อง 407-408 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (ตรงข้ามมาบุญครอง สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ) SEA Junction ได้ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งความรู้และการแลกเปลี่ยนของบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สนใจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาดูที่หน้าเว็บไซต์ www.seajunction.org เข้าร่วมกลุ่ม Facebook: http://www.facebook.com/groups/1693058870976440/ และติดตามเราทาง Twitter หรือ Instagram ที่ @seajunction

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งขึ้นในปี 2514 โดยมีภารกิจหลักในการทำงานวิจัยด้านประชากรและสังคมที่มีผลกระทบสูงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมทั้งนำความรู้และประสบการณ์ตามความถนัดของสถาบันฯ ขยายผลออกไปเพื่อสร้างสังคม ทั้งด้วยการจัดฝึกอบรมระยะสั้น การเผยแพร่ความรู้ข่าวสารด้านประชากรและสังคมในรูปแบบต่างๆ และการเป็นที่ปรึกษาแก่หน่วยงานอื่นๆ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาดูที่หน้าเว็บไซต์ https://ipsr.mahidol.ac.th/

Details

Date:
25 October, 2023
Time:
5:30 pm - 7:00 pm
Event Category: