วันที่ 25 ตุลาคม 2566 เวลา 17.30 น. SEA Junction ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม และ สำนักพิมพ์ซิลค์เวิร์ม จัดงานเปิดตัวหนังสือ เรื่อง “Who Cares? โควิด-19 การตอบสนองการคุ้มครองสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ฉบับภาษาไทย เรียบเรียงโดยโรซาเลีย ชอร์ติโน จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม โดยในงานมีหนังสือตัวอย่างจำนวนหนึ่งจัดไว้สำหรับผู้เข้าร่วม

งานเปิดตัวครั้งนี้ได้มีการเสวนา เน้นเนื้อหาของหนังสือในบทที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยที่นำเสนอการคุ้มครองทางสังคมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และอภิปรายถึงนโยบายในการดำเนินการสำหรับประชากรไทยในภาพรวม เช่น สวัสดิการสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ แรงงาน กลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง และการช่วยเหลือในรูปแบบของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่รัฐบาลไทยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมหภาค ด้วยการโอนเงินอุดหนุนจากรัฐบาล รวมถึงโครงการคนละครึ่งที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค สนับสนุนภาคธุรกิจ และส่งเสริมเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นมาตรการที่ยังคงนำกลับมาใช้ในปัจจุบันนี้ ในช่วงที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าอยู่ในจุดสูงสุด อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้กลับไม่ได้ก่อประโยชน์กับผู้ที่ขาดแคลนและไม่ตอบสนองความต้องการอันเร่งด่วนของผู้ด้อยโอกาสมากนัก เนื่องจากมาตรการเหล่านี้จำกัดทางเลือกในการซื้อของเฉพาะจากเครือร้านค้าขนาดกลางและขนาดใหญ่ (จึงไม่ใช่ผู้ขายรายย่อยและธุรกิจครอบครัวขนาดเล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดมากที่สุด)

เนื้อหาในบทนี้เป็น ‘สิ่งที่เกิดขึ้นจริง’ ผู้เขียนได้อภิปรายถึงการตอบสนองของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในช่วงปีที่สองของการระบาดใหญ่ แม้ว่าหลายคนจะถือว่าวิกฤตการระบาดโควิดได้จบลงแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมยังคงอยู่ และอย่างน้อยที่สุดเราก็สามารถเรียนรู้จากอดีตที่ผ่านมาว่าจะจัดการกับวิกฤตได้ดีที่สุดอย่างไร

งานเสวนาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการภาพถ่าย “Who Cares? โควิด-19 กับความเหลื่อมล้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” จัดโดย SEA Junction ร่วมกับ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ในวันที่ 17-29 ตุลาคม พ.ศ. 2566 จัดแสดงบนผนังโค้ง ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร- โดยการถ่ายภาพจากช่างภาพจาก 6 ประเทศ อันได้แก่ Edy Susanto จากอินโดนีเซีย, Hasnoor Hussain จากมาเลเซีย, Ta Mwe จากเมียนมา, Kimberly dela Cruz จากฟิลิปปินส์, Grace Baey จากสิงคโปร์, และ สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ จากประเทศไทย เพื่อแสดงให้เห็นถึงการกักตุนและการกระจายทรัพยากรความช่วยเหลืออันไม่เท่าเทียม ผลกระทบต่อความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชากรกลุ่มต่าง ๆ โดยย้ำให้เห็นถึงความไม่เสมอภาคที่ฝังรากลึกในสังคม กลุ่มผู้ด้อยโอกาสถูกจำกัดและลดความคุ้มครอง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกลุ่มนี้จำนวนมาก กลุ่มช่างภาพเล็งเห็นความจำเป็นในการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง และการขจัดความแตกแยกที่เกิดจากโรคระบาดอย่างจริงจัง เพื่อสร้างสังคมที่เที่ยงธรรมมากขึ้น งานเปิดนิทรรศการในวันที่ 18 ตุลาคม 2566 เวลา 17.30 น. ที่ SEA Junction มีจัดการเสวนาโดยช่างภาพ 4 ท่าน จาก 6 ท่าน ได้แก่ Edy Susanto, Hasnoor Hussain, Kimberly dela Cruz และ สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ โดยการเสวนาดำเนินเป็นภาษาอังกฤษ (กำลังพิจารณาล่ามแปลเป็นภาษาไทย)

ในการจัดแสดงนิทรรศการตลอดจนการผลิตหนังสือ (ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย) และการเปิดตัวหนังสือ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยระดับภูมิภาคที่ดำเนินการในช่วงแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี พ.ศ. 2564-2565 ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (IPSR) ด้วยทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการวิจัยยุทธศาสตร์บูรณาการสังคมศาสตร์ : คนไทย 4.0

 

Photo Credit: Lattapol Jirapathomsakul