ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน ปี 2559 ณ กรุงเทพมหานครแห่งนี้ ได้ร่วมประจักษ์ต่อการผลิใบของธงสีรุ้ง โดยมีผู้เข้าจากทั่วทุกมุมโลกที่เข้าร่วมการประชุมนานาชาติขององค์กรเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล กลุ่มข้ามเพศ และกลุ่มภาวะเพศกำกวม (International Lesbian, Gay, Bisexual, Trans* and Intersex Association (ILGA) World Conference) ซึ่งหนึ่งในนั้นมีการจัดกิจกรรมที่ถ่ายทอดสดผ่านโซเชียลมีเดียจัดโดย ชุมทางอุษาคเนย์ (SEA Junction) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในด้านสุขภาพทางเพศของผู้ชาย หรือแอพคอม (APCOM)4 และเฮนริชบอลสติฟทังแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Heinrich Böll Stiftung Southeast Asia) ที่สามารถดึงดูดความสนใจเป็นอย่างมากนั่นก็คือการบรรยายสาธารณะในหัวข้อ “การคุกคามสิทธิกลุ่ม LGBT ในอินโดนีเซีย” ในช่วงบ่ายของวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเปิดให้ผู้อื่นที่นอกเหนือจากผู้เข้าร่วมการประชุม ILGA มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ผู้บรรยายในกิจกรรมนี้คือ เดเด้ โอเอโตโม (Dédé Oetomo) นักเคลื่อนไหวชาวอินโดนีเซียที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรกายา นูซานตรา (GAYa NUSANTARA) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กร LGBT แรกๆ ในอินโดนีเซีย ปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิแอ็พคอม (APCOM Foundation) และเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาของกลุ่มความร่วมมือเพื่อสิทธิทางเพศและทางร่างกายในสังคมมุสลิม (Coalition for Sexual and Bodily Rights in Muslim Societies)
โรซาเลีย ซิออติโน สุมาร์โยโน หรือ ลีอา ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ SEA Junction และรองศาสตราจารย์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR) มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้เปิดการบรรยายสาธารณะนี้
ด้วยการต้อนรับผู้เข้าร่วมมากกว่า 70 คนที่แน่นขนัดในองค์กร SEA Junction ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) หลังจากการกล่าวเปิดงานแล้ว โรซาเลีย ซิออติโนได้ทำการแนะนำองค์กร ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร วัตถุประสงค์และระเบียบของงาน รวมถึงประวัติคร่าวๆ ของผู้บรรยาย
คลื่นการโจมตีสองระลอก
นายเดเด้ โอเอโตโม ได้เริ่มด้วยการเน้นย้ำว่าความสนใจของสถานการณ์ LGBT ในอินโดนีเซียเป็นนั้นเป็นเพราะการเพิ่มขึ้นของภาวะการไม่ยอมรับความแตกต่าง การต่อต้านกลุ่มรักร่วมเพศและกลุ่มแปลงเพศที่เพิ่มขึ้นตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา รวมไปถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างความตระหนักรู้กับเรื่องนี้ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ภาวะดังกล่าวสะท้อนจากเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ที่มีการจับกุมผู้ชายเกย์ 13 คนที่รวมตัวกันในคอนโดระดับกลางแห่งหนึ่ง การบุกเข้าจับกุมกระทำโดยกลุ่มแนวหน้าผู้พิทักษ์ศาสนาอิสลาม (Islamic Defender Front – FPI) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคร่งศาสนาอิสลาม และได้กล่าวหากลุ่มที่ถูกจับกุมว่าทำการมั่วสุมโดยจุดประสงค์เพื่อการมีเพศสัมพันธ์หมู่ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะได้รับการปล่อยตัวในวันรุ่งขึ้น เพราะไม่มีหลักฐานการประพฤติผิดทางเพศ แต่การขยายตัวของการกระทำนอกขอบเขตของกฎหมายของกลุ่ม FPI นั้นเป็นสิ่งที่น่ากังวล ในอดีตที่ผ่านมา FPI และกลุ่มอื่นๆ ที่คล้ายกัน ทำการเพ่งเล็งกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่ม LGBT ที่จัดในที่สาธารณะ พร้อมทั้งบังคับให้ยกเลิกกิจกรรมเหล่านั้น รวมไปถึงการประชุมอิลก้าในภูมิภาคเอเชียปี 2010 (2010 ILGA Asia Conference) ที่เมืองสุราบายา ถึงแม้กลุ่มเคร่งศาสนาเหล่านี้จะได้รับอนุญาตให้มีบทบาทอย่างสูงในภาคการเมืองในปัจจุบันของประเทศอินโดนีเซีย แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจขยายบทบาทไปสู่ภาคเอกชนเช่นกัน ซึ่งจะยิ่งเป็นการจำกัดพื้นที่สำหรับกลุ่ม LGBT มากขึ้นไปอีก
หลังจากเกริ่นนำข้างต้นนี้ เดเด้ โอเอโตโมก็นำผู้เข้าร่วมงานเข้าสู่เนื้อหาที่ระบุถึงคลื่นการโจมตีกลุ่ม LGBT ทั้งสองระลอก ที่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยและสิทธิของกลุ่ม LGBT การโจมตีครั้งแรกที่ก่อให้เกิด “วิกฤติ LGBT ของอินโดนีเซีย” ที่เริ่มขึ้นในต้นปีของปี 2016 โดยที่คณะรัฐมนตรี พนักงานรัฐ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้นำทางศาสนาอิสลามที่ได้รับการยอมรับนับถือ ต่างก็ออกมากล่าวถ้อยคำที่รุนแรงต่อกลุ่ม LGBT ผ่านสื่อต่างๆ การต่อต้านช่วงแรกมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวิจัย เทคโนโลยี และอุดมศึกษา นายมูฮัมหมัด นาซิร ผู้ที่ประกาศกร้าวในเดือนมกราคม ให้มหาวิทยาลัยทำการยกระดับมาตรฐานของ ‘ค่านิยมและคุณธรรม’ และได้กล่าวหากลุ่มนักศึกษาที่รวมตัวก่อตั้งกลุ่มขนาดเล็กอย่างไม่เป็นทางการชื่อว่า ‘กลุ่มสนับสนุนและศูนย์แหล่งข้อมูลการศึกษาเรื่องเพศวิถี’ (The Support Group and Resource Center on Sexuality Studies – SGRC) ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติอินโดนีเซีย ว่าทำการสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่ม LGBT เพียงเพราะกลุ่มนักศึกษานี้ได้ทำการศึกษาเรื่องเพศ นายมะห์ฟุดซ์ ซิดดิค ประธานสำนักงานคณะกรรมการที่ 1 รับผิดชอบด้านกลาโหมและด้านการต่างประเทศในสภาผู้แทนราษฎร ที่กล่าวว่าประเด็นเรื่อง LGBT สามารถสร้างความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และความเชื่อของชาวอินโดนีเซีย ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายรามิซาร์ด ราจูดู ได้อธิบายความพยายามให้เกิดการยอมรับสิทธิของกลุ่ม LGBT ว่าเป็นความพยายามจากประเทศตะวันตก ที่ต้องการจะบ่อนทำลายอธิปไตยของอินโดนีเซีย เป็นสงครามตัวแทนที่จะล้างสมองคนอินโดนีเซีย และเสริมต่อด้วยว่าปัญหาจากกลุ่ม LGBT นั้น ‘ร้ายแรงยิ่งว่าระเบิดนิวเคลียร์’ และยังไม่รวมถึงการที่นายกเทศมนตรีของเมืองตะเงอรัง นายอารีฟ อาร์ วิสมานชาห์ พูดว่า “ถ้าคุณเลี้ยงลูกของคุณด้วยนมผงและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พวกเขาจะกลายเป็นเกย์!” โดยภาพรวมของสถานการณ์ดังกล่าว มีการเรียกร้องให้พฤติกรรม LGBT และการเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBT เป็นสิ่งผิดกฎหมาย และบังคับให้เกิด “การรักษาให้กลับสู่สภาพเดิม” สำหรับกลุ่มคนLGBT ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มสมาคมจิตแพทย์อินโดนีเซีย (Indonesian Psychiatric Association) ได้ประกาศให้การรักร่วมเพศเป็น “ความเจ็บป่วยทางจิต”
คำกล่าวอันไร้ซึ่งมูลความจริงและมีอคติ รวมไปถึงสภาวะที่พวกเขาสร้างขึ้น มีผลผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งนำไปสู่การส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่กลุ่ม LGBT สามารถถูกละเมิดและตัดทอนเสรีภาพขั้นพื้นฐานได้อย่างง่ายดาย ตัวอย่างเช่น โรงเรียนประจำสำหรับการศึกษาศาสนาอิสลามของอินโดนีเซียหรือเปซานเตรน (Pesantren) ที่เป็นโรงเรียนสำหรับผู้หญิงข้ามเพศ (เรียกว่า “waria” ในภาษาอินโดนีเซีย) ที่สามารถดำเนินกิจการเป็นเวลาหลายปีในเมืองยอกยาการ์ตาถูกบังคับให้ปิดตัวลงอันเป็นผลมาจากการประท้วงของกลุ่มหัวรุนแรงที่ได้รับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งในอดีต ผู้คนเหล่านั้นก็เคยอยู่ร่วมกับโรงเรียนได้อย่างสงบสุข
ภายหลังจากไม่กี่เดือนของความเงียบสงบ ในเดือนมิถุนายน ปี 2016 คลื่นการโจมตีระลอกที่สองก็มาถึง โดยมีความพยายามที่จะจำกัดพฤติกรรมทางเพศ (ซึ่งไม่ใช่สำหรับกลุ่ม LGBT เท่านั้น) ผ่านกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ นำโดยองค์กรอนุรักษ์นิยมสององค์กรคือ กลุ่มพันธมิตรรักครอบครัว (Aliansi Cinta Keluarga หรือชื่อภาษาอังกฤษ Love Family Alliance – AILA) และกระบวนการสร้างอารยธรรมแห่งอินโดนีเซีย (Gerakan Indonesia Beradab หรือชื่อภาษาอังกฤษ Civilized Indonesia Movement) ขอให้ทบทวนเพื่อพิจารณาขยายคำจำกัดความในประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยเรื่องการผิดประเวณี (มาตรา 284) การข่มขืน (มาตรา 285) และการมีเพศสัมพันธ์กับผู้เยาว์ในเพศเดียวกัน (มาตรา 292) การเปลี่ยนคำจำกัดวามที่ถูกเสนอขึ้น ได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง อาทิ คณะกรรมาธิการแห่งชาติเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิง (National Commission on Violence Against Women) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Commission) และกลุ่มเพื่อสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิเยาวชน (Youth Sexual and Reproductive Health and Rights Groups) เพราะถ้าหากการขยายคำจำกัดความนี้ผ่าน ทุกเพศสัมพันธ์นอกการแต่งงาน ไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ จะถือว่าผิดกฎหมายและจะถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีพฤติกรรมทางเพศของผู้ใหญ่เพศเดียวกันที่มีการยินยอม จะกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึงห้าปี
ในเดือนกันยายน หลังจากความโกลาหลเกี่ยวกับเรื่องการค้าประเวณีบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะในเมืองบัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอร้องไปยังกระทรวงการสื่อสารและข้อมูลเพื่อทำการประกาศห้ามใช้ 16 แอพพลิเคชั่น รวมไปถึงเว็บไซต์หาคู่ อย่างไรก็ตามแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์หาคู่ส่วนใหญ่ก็ยังใช้งานได้อยู่ นอกจากนี้ ผู้ให้การสนับสนุนทางด้านการเงินจากต่างประเทศยังถูกกีดกันไม่ให้บริจาคเงินแก่องค์กร LGBT รวมถึงพนักงานขององค์กรเหล่านี้บางคนยังประสบปัญหาการต่ออายุวีซ่าอีกด้วย
ย้อนดูอดีต
ในการวิเคราะห์การโจมตีทั้งสองระลอกนั้น นายเดเด้ โอเอโตโม ผู้ที่ฝึกฝนด้านภาษาศาสตร์ด้วยตนเอง อธิบายเสริมจากคำศัพท์ที่ใช้ ซึ่งเป็นที่น่าสนใจที่คำว่า “LGBT” ไม่เป็นที่รู้จักก่อนหน้านี้ ถูกนำมาใช้มากกว่าภาษาหรือสำนวนเฉพาะของที่นั้นๆ ประหนึ่งว่าจะปฏิเสธปฏิบัติการทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเองของแต่ละท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลด้านวรรณกรรมและประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า ในอดีตนั้น มีการเปิดกว้างเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศและความสัมพันธ์ทางเพศมากกว่าปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากวัฒนธรรมบูกิส (Bugis) ในสุลาเวสีใต้ที่ให้การยอมรับการจำแนกเพศมากถึงห้าเพศ ได้แก่ ชาย หญิง ชายข้ามเพศ หญิงข้ามเพศ และ บิสสุ (เหนือเพศ) อีกทั้งในยุคศตวรรษที่ 19 มีบันทึกกวีนิพนธ์เล่มหนึ่งในภาษาชวา ชื่อว่าเซอรัต เจนตินี (Serat Centhini) บรรยายเรื่องราวของคนพเนจรสองคนที่ผ่านการผจญภัยต่างๆ รวมถึงการเผชิญหน้าและการทดลองทางเพศของพวกเขา
ภายหลังเมื่อลัทธิพิวริทันได้แผ่ขยายผ่านบรรทัดฐานของอาณานิคมแบบวิคตอเรียและค่านิยมของศาสนาคริสต์ ที่กลุ่มคนชนชั้นนำในท้องถิ่นของอินโดนีเซียรับมาปรับใช้ เช่นเดียวกับการรับแนวคิดแบบศาสนาอิสลามอันบริสุทธิ์ รวมไปถึงลัทธิความคิดสมัยใหม่นิยม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เน้นทางโลกหรือกลุ่มที่เคร่งศาสนาโดยธรรมชาติ ต่างก็ได้สร้างนิยามใหม่ของคำว่าคุณธรรมให้เป็นสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมเนียมตะวันออก” (adat ketimuran) ซึ่งได้ถอนรากจารีตเกี่ยวกับเรื่องเพศที่เป็นแนวทางเสรีออกจนหมดสิ้น
ช่วงเวลากว่า 30 ปีของระเบียบใหม่ (New Order) โดยประธานาธิบดีซูฮาร์โต5 (ปี 1965-1998) “รัฐลัทธิอิบูส์” (State Ibuis)6 ซึ่งเป็นอุดมการณ์เรื่องเพศที่มีอิทธิพลที่สุดในขณะนั้น ด้วยคำอธิบายว่าผู้หญิงมีหน้าที่รับผิดชอบในฐานะภรรยาและมารดา เป็นหนึ่งสิ่งที่ถูกบัญญัติในมาตรฐานทางพฤติกรรมแบบปิตาธิปไตยและบรรทัดฐานทางเพศ จนนำไปสู่การควบคุมทางสังคมรูปแบบหนึ่ง และโดยนัยยะนี้ ถือว่าคนอินโดนีเซียที่เป็นกลุ่มรักร่วมเพศไม่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติ อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่พวกเขาไม่เปิดเผยตัวตน พวกเขาก็จะสามารถใช้มีชีวิตได้ตามความต้องการ ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงข้ามเพศที่แต่งกายด้วยชุดผู้หญิงและทำงานที่สถานเสริมความงามมานานหลายทศวรรษก็ได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
การสิ้นสุดอำนาจของประธานาธิบดีซูฮาร์โตในปี 1998 และประชาธิปไตยใหม่ นำมาซึ่งความคิดแบบเสรีนิยมในสังคมอินโดนีเซีย โดยประชาธิปไตยมีวัฒนธรรมที่ตั้งอยู่บนสิทธิมนุษยชน รวมถึงแนวคิดด้านสตรีนิยม สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์และสุขอนามัยทางเพศ รสนิยมทางเพศ และการเคลื่อนไหวด้านอัตลักษณ์ทางเพศ จากการประจักษ์ถึงแรงขับเคลื่อนที่เกิดจากการปฏิรูปและเสรีภาพสื่อที่ไม่เคยมีมาก่อน กลุ่ม LGBT จึงรู้สึกว่าพวกเขาสามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ของตนเองและส่งเสียงสู่สังคมได้มากขึ้น ดังนั้น ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วขององค์กร LGBT และในวันนี้ มีเครือข่ายระดับชาติอยู่สองแห่ง และมีองค์กรมากกว่า 200 องค์กร ในจำนวนนั้นมี 120 แห่งที่ผ่านการตรวจสอบและการลงทะเบียน (ถึงแม้ว่าไม่มีการระบุถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงไว้อย่างชัดเจน) ยังไม่รวมถึงกลุ่มต่างๆ จำนวนมากในสื่อสังคมออนไลน์
อินโดนีเซียและการทำให้เป็นอนุรักษ์นิยม
เมื่อไม่นานมานี้ จะสามารถเห็นได้ชัดเจนว่าระบบเก่าทั้งหลายยังฝังรากลึกในสังคมและแนวทางอนุรักษ์นิยมไม่มีวี่แววว่า
จะจางหายไป การยกระดับของการจัดระเบียบกลุ่ม LGBT ในที่สุดก็เผชิญกับการต่อต้าน ด้วยทั้งจากบริบทของศาสนาและกลุ่มทางศาสนาต่างๆ ที่มีบทบาททางการเมืองมากขึ้น และนักการเมืองก็ใช้ประโยชน์จากศาสนาในการผนึกกำลังจากสังคมเพื่อสนับสนุนในสิ่งที่พวกเขาต้องการ การเรียกร้องของกลุ่ม LGBT เพื่อขอความเป็นธรรมตามกฎหมายมักจะถูกมองและถูกนำเสนอโดยพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่าเป็นภัยคุกคามต่อการจัดระเบียบสังคมและบรรทัดฐานเรื่องเพศที่มีอยู่ การตัดสินของศาลฎีกาในสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับเรื่องความเท่าเทียมกันในการแต่งงาน เป็นตัวกระตุ้นความวิตกกังวลเกี่ยวกับประชากร LGBT ที่เห็นได้ชัดเจน รวมถึงข้อกล่าวหาที่ว่ากลุ่ม LGBT ต้องการจะปฏิบัติตามแบบอย่างสหรัฐฯ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว องค์กร LGBT ในอินโดนีเซียไม่ได้จัดความสำคัญเรื่องการสนับสนุนการแต่งงานในเพศเดียวกันให้เป็นประเด็นหลักในระหว่างการเคลื่อนไหวของพวกเขาเลย
แนวคิดอนุรักษ์นิยมสุดขั้วที่กำลังก่อร่างขึ้นนี้ ทำให้เกิดมุมมองใหม่ที่ว่า “ศาสนาอิสลามไม่อนุญาตให้มีวิถีชีวิตแบบ LGBT” และมีข้อโต้แย้งกับมุมมองที่ขัดกันจากนักวิชาการศาสนาที่มีแนวคิดก้าวหน้าเช่น สิตี มุสดะห์ มูเลีย ที่กล่าวอย่างกล้าหาญว่า “วิธีการของอิสลามนั้นไม่ได้ต่อต้านรักร่วมเพศ” ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ได้กล่าวกับบีบีซีในวิธีแบบชาวชวาเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า “ชนกลุ่มน้อยควรได้รับการคุ้มครอง” การเอ่ยถึงกลุ่ม LGBT อย่างชัดเจนก็เป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีของอินโดนีเซียกระทำเช่นนี้ โดยมีเพียงการเสริมว่า “ศาสนาอิสลามไม่อนุญาตสิ่งนั้น (หมายถึงวิถีการดำเนินชีวิตแบบ LGBT)” กระนั้นการปฏิเสธและการต่อต้านกลุ่ม LGBT ไม่ได้จำกัดเฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้น โบสถ์คริสต์ในอินโดนีเซียเริ่มจัดกิจกรรมเพื่อการฟื้นฟูจิตใจแก่กลุ่มคน LGBT ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ถูกตราหน้าว่าเป็น ‘ผลงานของปีศาจ’ ส่วนสังคมฮินดูในบาหลี พิธีแต่งงานของเพศเดียวกันสำหรับนักท่องเที่ยวและคู่แต่งงานต่างเชื้อชาตินั้นยังคงสามารถให้มีการปฏิบัติได้ แต่ต้องทำในสถานที่ลับตา เนื่องจากผู้นำทางศาสนาและเจ้าหน้าบางส่วนที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าพวกเขาจะไม่ยอมให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น
นักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่ากลุ่ม LGBT กลายเป็นแพะรับบาปในการสร้างศัตรูทางสังคมขึ้นมา เพื่อที่จะเบี่ยงเบนความสนใจออกจากเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองที่กำลังเป็นประเด็น และ/หรือถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อให้นักการเมืองและผู้ที่ต้องการได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม ไม่กี่เดือนก่อนการโจมตีระลอกแรกต่อกลุ่ม LGBT นั้น มีความพยายามในการปลุกให้เกิดความหวาดกลัวใน “ลัทธิคอมมิวนิสต์” (ในประเทศที่ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์และผู้สมรู้ร่วมคิดจำนวนมากกว่าล้านคนถูกฆ่าตายในปี 1965) ว่าเป็นภัยคุกคามด้านความปลอดภัยต่อความสามัคคีของชาติ และทำให้ความต้องการในการหาความรับผิดชอบการสังหารประชาชนในปี 1965 และการละเมิดสิทธิอื่นๆ ในอดีตหยุดชะงักลง อย่างไรก็ตาม ‘ความหวาดกลัวต่อลัทธิคอมมิวนิสต์’ ดูเหมือนว่าจะล้าสมัยไปแล้วสำหรับประชาชนทั่วไป ดังนั้น ประเด็น LGBT จึงถูกนำมาสร้างให้เป็นวาทกรรมแห่งความหวาดกลัวของสังคม และเมื่อเร็วๆ นี้ เป้าหมายใหม่กลายเป็นชนกลุ่มน้อยทางด้านชาติพันธุ์และด้านศาสนา เนื่องจากมีคู่แข่งการเลือกตั้งผู้ว่าการที่เป็นชาวจีน และคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามอยู่นั่นเอง โดยผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา นายบาสุกี “อาฮ็อค” ซาฮายา ปูร์นามา ถูกตั้งข้อหาเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อหาหมิ่นประมาทที่ไม่เค้าความจริง เพื่อที่จะเป็นการขจัดคู่แข่งก่อนการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งคาดว่าเขาจะได้รับชัยชนะถ้าหากไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหานี้ และไม่เป็นที่น่าประหลาดใจเลยว่าการสำรวจจากสื่อที่ได้คาดการณ์ว่ากลุ่มคนสามกลุ่มที่ถูกเกลียดชังมากที่สุดในอินโดนีเซียคือ กลุ่มคนจีน กลุ่ม LGBT และกลุ่มลัทธิคอมมิวนิสต์
ทั้งๆ ที่มีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงเช่นนี้ แต่นายเดเด้ โอเอโตโม กลับมองว่ามันเป็นโอกาส เนื่องด้วยวิกฤตการณ์ในปัจจุบันนี้เอง ทำให้ประเด็นเรื่อง LGBT “ถูกวางไว้บนโต๊ะ” ที่ทุกคนสามารถพูดคุยได้อย่างเปิดเผยในวงสาธารณะและในวงนโยบาย เขามีความคิดต่อสังคมในเชิงบวก เพราะเขาเชื่อเสมอว่าด้วยตัวสังคมของอินโดนีเซียเองก็ไม่ได้เป็นสังคมที่เกลียดกลัวคนรักร่วมเพศ และกลุ่ม LGBT ก็ได้ต่อสู้มาอย่างยาวนานในแง่ของการจัดระเบียบต่างๆ ในมุมมองของเขานั้น มีวาทกรรมเรื่องกลุ่ม LGBT ในประเทศอินโดนีเซียที่ซ้อนกันอยู่หลายชั้น และสิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือการชี้นำให้เกิดแนวทางและสร้างอิทธิพลเชิงบวกต่อวาทกรรมเหล่านั้น
ทิศทางหลังจากนี้?
บรรยากาศการสนทนาระหว่างผู้เข้าร่วมงานและผู้บรรยาย มีการพูดคุยเพิ่มเติมถึงเรื่องวิกฤต LGBT ในอินโดนีเซียและก็มีการแสดงความเห็นถึงความเป็นไปได้หรือสิ่งที่จะสามารถทำได้ในการรับมือกับวิกฤตนี้
ปฏิกิริยาของผู้เข้าร่วมงานแสดงออกถึงความท้อใจต่อความรุนแรงของวิกฤตนี้ ผสมกับการชื่นชมทัศนคติที่สร้างสรรค์ของผู้พูด นายเดเด้ โอเอโตโม ย้ำว่าเมื่อมองจากสายตาต่างชาติแล้ว ประเทศไทยเป็นดั่งสวรรค์สำหรับกลุ่ม LGBT และอินโดนีเซียกำลังถูกกล่าวหาว่ามีภาพลักษณ์เหมือนเกาหลีเหนือไปแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นกลุ่ม LGBT ในอินโดนีเซียก็รู้สึกว่าพวกเขามีอิสระในอินโดนีเซียมากกว่าในประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่น มาเลเซียหรือสิงคโปร์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ากลุ่ม LGBT จะละเลยถึงความเสี่ยงต่างๆ รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างความตระหนักถึงสถานที่ๆ ไม่ปลอดภัยสำหรับกลุ่ม LGBT ในอินโดนีเซีย และเหนือสิ่งอื่นใดก็คือการผลักดันให้เกิดการตระหนักถึงการไม่ยอมรับในความแตกต่างในแง่ทางการเมืองที่เกิดขึ้นต่อกลุ่ม LGBT ในอินโดนีเซีย และรวมถึงการตระหนักว่า โดยทั่วไปแล้วชุมชนต่างๆ ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้หากไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาแบ่งแยกคนออกจากกัน
สิ่งที่สามารถทำได้เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เราไม่สามารถคาดหวังได้มากนักจากภาวะผู้นำของประเทศ เพราะแม้แต่ผู้ที่ไม่ได้ต่อต้านกลุ่ม LGBT ก็จำต้องเลือกว่าควรจะเข้าร่วมการต่อสู้ทางการเมืองรูปแบบไหน และเรื่อง LGBT ก็ไม่ได้อยู่ในลำดับต้นๆ สำหรับการต่อสู้ของพวกเขา ในทำนองเดียวกัน มีความหวังอยู่ไม่มากเกี่ยวกับการแทรกแซงของอาเซียน ซึ่งเป็นองค์การเหนือรัฐในภูมิภาค เนื่องจากถูกผูกมัดด้วยข้อตกลงว่าด้วยการไม่แทรกแซงซึ่งกันและกัน รวมถึงอาเซียนก็ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ LGBT ได้มากจนเกินไป อย่างไรก็ตาม วิธีการที่ทำในระดับภูมิภาคนั้นยังอาจจะยังมีประโยชน์อยู่บ้างหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความเปิดกว้างมากกว่า เช่น เวียดนามและไทย สามารถนำมาใช้ในการสนับสนุนความพยายามที่จะยกเลิกหรือแก้ไขมโนทัศน์เกี่ยวกับคน LGBT ว่าพฤติกรรมของพวกเขาเป็นดั่งสิ่งแปลกปลอมในสังคมเอเชีย การสร้างพันธมิตรในระดับภูมิภาคยังเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะจะเป็นแหล่งของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การสนับสนุน และเงินทุน
การร่วมมือกันยังมีความสำคัญในระดับประเทศเช่นกัน เพราะแม้ว่าองค์กร LGBT ต่างๆ ได้สร้างความก้าวหน้าที่สำคัญไว้ทั้งในด้านปริมาณและด้านคุณภาพ แต่หากทำเพียงลำพังและขาดความสามัคคีแล้ว เราจะไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่ต้องการได้ ตามหลักแล้ว องค์กรเหล่านี้จำเป็นต้องเสริมสร้างให้เกิดการจัดการที่แข็งแรง ขยายการเข้าถึงของฐานสมาชิกองค์กร และยกระดับการจัดระเบียบของกลุ่ม LGBT ในภาพรวม ขณะนี้มีโอกาสที่จะรวบรวมคนรักร่วมเพศที่เป็นเจ้าที่ระดับสูง ที่ต้องการเข้ามาเป็นแนวร่วมเพื่อปกป้องสิทธิของตน เนื่องจากพวกเขาไม่รู้สึกปลอดภัยกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อีกสิ่งที่สำคัญก็คือความสามารถในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างองค์กรเกย์ กลุ่มคนข้ามเพศ และเลสเบี้ยน และเพื่อให้ความมั่นใจว่ากลุ่มที่เปราะบางที่สุดจะได้รับการปกป้องคุ้มครอง ซึ่งในระหว่างการโจมตีระลอกแรกนั้น กลุ่มเลสเบี้ยนจำนวนมากได้รับความคิดเห็นที่ร้ายกาจมากมายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งต่างจากกลุ่มเกย์ที่ไม่ถูกโจมตีมากเหมือนกลุ่มเลสเบี้ยน
ส่วนการปฏิบัติงานภายนอกองค์กรนั้น กลุ่ม LGBT ต้องทำงานข้ามภาคส่วนกับกลุ่มอื่น ๆ เพื่อความก้าวหน้าร่วมกันของทุกฝ่าย แม้ในบางครั้งอาจจะทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากไม่ใช่ทุกกลุ่มเสียงข้างน้อย ทั้งกลุ่มทางชาติพันธุ์และ/หรือด้านศาสนาจะเปิดรับเรื่อง LGBT แต่ด้วยความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศ การร่วมมือกันจึงกลายเป็นกุญแจสำคัญ และการสร้างพันธมิตรกับกลุ่มผู้เสียเปรียบอาจจะเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะขยายการยอมรับให้มากขึ้น เช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 1990 ที่ขยายการเคลื่อนไหวไปถึงกลุ่มแรงงานและกลุ่มชาวนา ที่ผ่านมากลุ่มเลสเบี้ยนได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับแรงงานหญิงในโรงงานและคนทำงานรับใช้ในบ้านชาวอินโดนีเซียที่ทำงานในต่างประเทศ นอกจากนี้ สิ่งที่จำเป็นสำหรับองค์กร LGBT ในการเดินหน้าสร้างความร่วมมือที่มีในปัจจุบันคือการทำงานร่วมกับนักข่าว ผู้หญิง องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ และกลุ่มการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน รวมทั้งสถาบันที่แบ่งปันข้อมูลและการบริการต่างๆ แก่กลุ่ม LGBT
หากพิจารณาถึงธรรมชาติของการโจมตีแล้ว องค์กร LGBT จะต้องเพิ่มทักษะการสื่อสารและการใช้สื่อสังคมเพื่อการควบคุมข่าวลือและการเผยแพร่ข้อความของพวกเขา และมีความจำเป็นที่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายของอินโดนีเซียทั้งการศึกษาประมวลกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญาของอินโดนีเซีย และจะต้องกล้าที่จะขึ้นศาลเมื่อใดก็ตามที่สิทธิของพวกเขาถูกละเมิด พวกเขายังจะต้องกระตือรือร้นในการตรวจสอบกระบวรการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดการควบคุมและการปราบปรามด้านเพศ มิเช่นนั้นแล้วธงสีรุ้งจะจางหายไปจากประเทศอินโดนีเซีย…
เกี่ยวกับ SEA Junction
SEA-Junction หรือ ชุมทางอุษาคเนย์ จัดสรรสถานที่และบรรยากาศที่เป็นกันเองสำหรับผู้คนสามารถมาพบปะกัน แลกเปลี่ยนข้อมูล แบ่งปันทรัพยากรซึ่งกันและกัน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเข้าใจและซาบซึ้งกับความเป็นเอเชียอาคเนย์ในทุกมิติตั้งแต่ ศิลปะ วัฒนธรรม และสังคม รวมถึงบริการเพื่อการเข้าถึงแหล่งความรู้ ส่งเสริมการปรึกษาหารือ และการร่วมพูดคุยวรรณกรรมในบรรยากาศที่เป็นกันเอง
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
Email: southeastasiajunction@gmail.com.
Website: www.seajunction.org.
Facebook group: SEA-Junction
Page: SEA-Junction
Twitter: SEAJunction
1 LGBT หมายถึง หญิงรักหญิง (Lesbian) ชายรักชาย (Gay) รักร่วมสองเพศ (Bisexual) และคนข้ามเพศ (Transgender) ในอินโดนีเซีย มีคำว่า LBGTI ซึ่งเป็นการรวมภาวะเพศกำกวม (Intersex) เข้าไปด้วย แต่ไม่เป็นที่แพร่หลายและจะไม่ถูกนำมาใช้ในรายงานนี้
2 คาธารินา มาเรีย ที่ปรึกษาอิสระ มีความเชี่ยวชาญด้านการสร้างสันติภาพ เพศ และการเสริมสร้างขีดความสามารถ
3 โรซาเลีย ซิออติโนเป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ SEA Junction (seajunction.org) และรองศาสตราจารย์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR) มหาวิทยาลัยมหิดล (www.ipsr.mahidol.ac.th/)
4 มูลนิธิเพื่อความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในด้านสุขภาพทางเพศของผู้ชาย (Asia-Pacific Coalition on Male Sexual Health Foundation) – www.apcom.org
5 ระเบียบใหม่หรือ Orde Baru/Orba เป็นระบอบการปกครองของประธานาธิบดีซูฮาร์โตที่ใช้ปกครองเป็นระยะเวลา 31 ปี ตั้งแต่ช่วงการขับไล่ประธานาธิบดีซูการ์โนในปี 1967 จนถึงการสละตำแหน่งของประธานาธิบดีซูฮาร์โตในปี 1998
6 State Ibuism มาจากผลงานของจูเลีย ซูร์ยาคูซูมา
สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
Emont, Jon, A Happy Warrior in a Faltering Battle for Indonesian Gay Rights, New York Times, The Saturday Profile, http://www.nytimes.com/2016/08/20/world/asia/indonesia-gay-rights-dede-oetomo.html?_r=1
Human Rights Watch, “These Political Games Ruin Our Lives”: Indonesia’s LGBT Community Under Threat, 10 August 2016, https://www.hrw.org/report/2016/08/10/these-political-games-ruin-our-lives/indonesias-lgbt-community-under-threat
Mann, Tim, Q&A: Dede Oetomo on the LGBT panic, March 17, 2016,
http://indonesiaatmelbourne.unimelb.edu.au/interview-dede-oetomo-on-the-lgbt-panic/
Oetomo, Dédé, The Power of Knowledge: Towards the Transformative Use of Science in Empowering Marginalised Groups in Society, 19 September 2016, https://www.facebook.com/notes/dede-oetomo/the-power-of-knowledge-towards-the-transformative-use-of-science-in-empowering-m/1087627224606521/
Oetomo, Dédé and Hendri Yulius, What’s behind Indonesian authorities’ desire to control LGBT sexuality? The Conversation 23 September 2016, http://theconversation.com/whats-behind-indonesian-authorities-desire-to-control-lgbt-sexuality-65543
Sutthida Malikaew, Will the First Ever Transgender MP Be the One and Only in ASEAN? http://seajunction.org/will-first-ever-transgender-mp-one-asean/, 4 August 2016, SEA Junction Opinion http://seajunction.org/will-first-ever-transgender-mp-one-asean/