บทความนี้เขียนขี้นโดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในเว็บไซต์ มติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2566
ดุลยภาพดุลยพินิจ : นโยบายสังคมกับการเลือกตั้ง
เมื่อพิจารณานโยบายเพื่อการเลือกตั้งของพรรคต่างๆ ก็จะพบว่า นโยบายสังคมที่เปลี่ยนโครงสร้างความเหลื่อมล้ำของประเทศเป็นนโยบายที่ได้รับความสนใจจากนักการเมืองน้อย ยกเว้นนโยบายประเภท “พี่นี้มีแต่ให้” ในด้านสวัสดิการสังคม เช่น การเพิ่มสวัสดิการถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาท ให้แก่ผู้สูงอายุจากอัตราเดือนละ 600 บาทในปัจจุบัน ซึ่งเป็นนโยบายที่มีต้นทุนการคลังสูงสุด คือ จะต้องใช้เงินถึงปีกว่า 5 แสนล้านบาท หรือนโยบายประเภท “หมาป่าในเสื้อคลุมลูกแกะ” เช่น ให้เงิน 10,000 บาทในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์สำหรับทุกคน ซึ่งเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้เสื้อคลุมสวัสดิการถ้วนหน้า ที่แย่ที่สุดน่าจะเป็นนโยบายด้านสุขภาพเพราะได้แอบเพิ่มรายได้แก่ อสม.ตั้งแต่ก่อนประกาศเลือกตั้งแล้ว ดูเสมือนการแจกกระสุนอย่างถูกกฎหมายก่อนวันเลือกตั้ง และยังจะขยายบริการการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงแบบจัดเต็มในฐานะฐานเสียงใหญ่ เช่น ขยายบริการฉายรังสีและศูนย์ฟอกไตไปให้ครอบคลุมทุกอำเภอและทุกจังหวัด ให้เงินชดเชยการเจ็บป่วยและค่าเดินทางไปพบแพทย์ ถัดมาก็คือนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นนโยบายแบบ “ปากหวานก้นเปรี้ยว” ที่จริงแล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นนโยบายสุขภาพเพื่อคนไทยทั้งมวล หรือเพื่อใคร เพราะการสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาใช้บริการของเราอาจจะเกิดรายได้เพิ่มขึ้นก็จริงสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ในเชิงสังคมแล้วอาจจะทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรสาธารณสุขที่ยังขาดแคลนอยู่สำหรับคนไทยและผู้มีรายได้น้อย ยกเว้นว่ารัฐบาลจะไปยกเลิกนโยบายที่กีดกันแพทย์ต่างชาติโดยอนุญาตให้สามารถเข้ามาประกอบอาชีพรักษาคนไข้ในประเทศไทยได้
ที่ผู้เขียนใช้คำว่านโยบายสังคมเพื่อการเลือกตั้งก็เพราะไม่ใช่นโยบายเหล่านี้ ไม่ใช่นโยบายสังคมที่ตรงกับปัญหาที่แท้จริง แต่เป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ที่คิดว่าจะได้จากการเลือกตั้ง แอบซ่อนเป้าหมายทางเศรษฐกิจ หรือของกลุ่มผลประโยชน์ของตนไว้ในนโยบายสังคม แม้ว่านโยบายส่วนใหญ่จะให้ประโยชน์กับผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุเป็นกลุ่มฐานเสียงใหญ่ของการเลือกตั้ง ดังนั้นพรรคการเมืองจึงให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางอื่นๆ น้อยเกินไป เช่น ให้ความสำคัญกับปัญหาของเด็กและปัญหาในการศึกษาน้อยเกินไป การแก้ไขปัญหาเรื่องการเพิ่มวันลาคลอดให้กับหญิงมีครรภ์ก็อาจจะไม่ตรงจุดนัก เพราะหญิงมีครรภ์อาจจะต้องการให้มีสวัสดิการที่จะมาดูแลเด็กหลังคลอดมากกว่าจะเพิ่มจำนวนวันหยุดหลังคลอดให้มากขึ้น เพราะหากไม่มีคนดูแลเด็ก หรือต้นทุนค่าดูแลสูงกว่ารายได้ หญิงมีครรภ์เหล่านี้ก็ต้องลาออกจากงานก่อนคลอดอยู่ดี ในเรื่องแรงงานต่างด้าวก็ไม่มีนโยบายอะไรเลย หลังจากที่จำนวนแรงงานต่างด้าวไม่มีผลกระทบต่อจำนวน ส.ส. ในแต่ละเขตอีกต่อไป เนื่องจากนักการเมืองของเรามักจะมีอายุใช้งานสั้นเพราะการเมืองเราไม่มีเสถียรภาพ ดังนั้นนโยบายระยะยาวเพื่อปรับโครงสร้างสังคมก็แทบจะไม่มีให้เห็นในนโยบายแต่ละพรรคการเมือง
ที่น่าแปลกใจก็คือว่า เราเพิ่งผ่านวิกฤตโควิด-19 มาอย่างสดๆ ร้อนๆ และปัญหาโควิด-19 นี้ก็ตอกย้ำรอยร้าวที่มาจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้เห็นเด่นชัดมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของกลุ่มต่างๆ แต่ยังรวมไปถึงสิทธิพื้นฐานต่างๆ ด้วย ในปีแรก (พ.ศ.2563) ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 นั้น เมื่อรัฐบาลตัดสินใจบนหอคอยงาช้างประกาศใช้มาตรการสังคมอย่างเข้มงวด การล็อกดาวน์ที่ดูเหมือนจะมีต้นทุนต่ำกลับมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมที่ชัดเจนและรุนแรงมากเรียกได้ว่ากระเทือนกันทุกหย่อมหญ้า ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ควรถูกตำหนิเพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยประสบกันมาก่อน และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าโรคนี้จะร้ายแรงแค่ไหน หากแต่ผลกระทบเชิงสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในคราวนั้นก็รุนแรงไม่แพ้โรคระบาดเช่นกัน นับตั้งแต่ การตกงาน การเข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการของรัฐ หากทำงานอยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมากกว่าเศรษฐกิจในระบบ การเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องใช้เพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐ การไม่สามารถเดินทางกลับถิ่นที่อยู่ในช่วงโควิดระบาดได้ ทำให้จำนวนคนไร้บ้านสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาที่เด็กจำนวนมากต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาและอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีออนไลน์
การศึกษาของ Teeranong Rapeepun และ Sciortino เรื่องผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในความพยายามที่จะฟื้นเศรษฐกิจของประเทศไทย (“Left Behind” in Thailands Pursuit of Economic Recovery) ภายใต้ แผนงานคนไทย 4.0 ที่ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในหนังสือเรื่อง “Who Cares? COVID-19 Social Protection Response in South East Asia” ยืนยันว่า แม้ในปีแรกรัฐบาลไทยจะให้ความสนใจกับการเยียวยาของกลุ่มเปราะบางและกลุ่มรายได้น้อย อีกทั้งประเทศไทยเองก็มีระบบการคุ้มครองสังคมที่เรียกว่าเหนือกว่าหลายประเทศ แต่ก็จำกัดอยู่เฉพาะแรงงานในระบบ แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับปัญหาที่เกิดขึ้น ในปีต่อมารัฐบาลก็ทุ่มความสนใจไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเมื่อการระบาดรุนแรงมากขึ้นในช่วงของการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าและโอมิครอน ความสนใจของรัฐก็พุ่งไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายคนละครึ่ง และนโยบายเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งไปสร้างประโยชน์ให้กับชนชั้นกลาง การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของกลุ่มเปราะบางนี้จะต้องแก้กฎหมายมาตรา 33 ก็ไม่มีใครพูดถึงในการเลือกตั้งครั้งนี้ ในขณะเดียวกันก็ควรจะมีการวิเคราะห์เปรียบเทียบขนาดของสวัสดิการที่ให้กับคนกลุ่มต่างๆ ตามความจำเป็น
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายก็คือ ควรมีการทบทวนขนาดการอุดหนุนสำหรับกลุ่มเปราะบางต่างๆ อย่างเป็นวิชาการและเป็นระบบ การศึกษาทัศนคติของกลุ่มต่างๆ เกี่ยวกับระบบการอุดหนุนและสวัสดิการที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งควรมีการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างความคุ้มครองทางสังคมและความเป็นพลเมืองของแรงงานต่างด้าว ซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุดในประเทศไทยและเป็นกลุ่มที่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตให้เศรษฐกิจไทยและเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ “เราจะปลอดภัยเมื่อทุกคนปลอดภัย” เกิดผลได้อย่างแท้จริง
ขอเชิญผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานเสวนาของทีมวิจัยนานาชาติเพื่อเปิดตัวหนังสือในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2566 เวลา 17.30 น. มูลนิธิ SEA Junction ชั้น 4 ห้อง 408 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ถ้ายังคิดนโยบายด้านนี้ไม่ทันตอนนี้ ก็ยังแก้ไขทันนะคะ หลังจากได้เป็นรัฐบาลแล้ว!
Mingsarn Kaosa-ard (ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด) is the Program Chair of Khon Thai 4.0 and a professor of economics at Chiang Mai University Thailand
Disclaimer: The opinions expressed in this article are those of the author and do not reflect the official stance of Matichon News.
Source: https://www.matichon.co.th/columnists/news_3974263