บทความนี้เขียนขึ้นโดย รศ.ดร.โรซาเลีย ซิออติโน สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในเว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2564
หลายปีมาแล้วดัชนีระดับโลกของมูลนิธิช่วยเหลือการกุศล (Charities Aid Foundation: CAF) ในเรื่องของการบริจาค (World Giving Index) ได้จัดประเทศไทยให้อยู่ในกลุ่ม 10 ประเทศต้นๆ ที่มีการบริจาคเงินสูงสุด ดัชนีดังกล่าววัดการบริจาคทั่วโลกด้วยตัวชี้วัดสามตัว ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือคนแปลกหน้า การบริจาคเงินเพื่อสาธารณประโยชน์ และการให้เวลากับการอาสาสมัคร
การบริจาคโดยรวมของประเทศไทยในปี 2019 ได้กลับขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 21 หลังจากที่ได้ตกลงไปอยู่ในลำดับที่ 62 ในปี 2018 เช่นเดียวกับในเรื่องของการบริจาคเงิน ซึ่งลำดับขึ้นจากที่ 22 เป็นที่ 4 (CAF, 2019) แม้ตัวชี้วัดอื่นๆ จะลดลงด้วยก็ตาม แต่สำหรับคนไทยแล้ว คนไทยดูเหมือนจะยินดีบริจาคเงินมากกว่าบริจาคแรง “การช่วยเหลือคนแปลกหน้า” ก็ดี และโดยเฉพาะเรื่องการอาสาสมัครก็ดี มักจะมีนัยความสำคัญน้อยมากมาอย่างต่อเนื่อง จากดัชนีดังกล่าวจึงดูเหมือนว่าสำหรับคนไทยแล้ว เวลาถือเป็นของ (สินค้า) หายาก และนิยมเลือกที่จะบริจาคเพื่อการกุศลมากกว่า เพราะสะดวกและไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ตามมา (Natalie Phaholyothin, 2017:189) ส่วนเมียนมาอยู่ในลำดับที่ 9 จากเดิมเคยเป็นที่ 1 ขณะที่อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและในภูมิภาคกลับถูกจัดให้อยู่ในลำดับแรกสุดของดัชนีเป็นครั้งแรก
ข้อมูลจากสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนประจำปี ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2559 คำนวณโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มูลค่าบริจาคของครัวเรือนได้เพิ่มจาก 65,980 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2554 เป็น 88,416 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2559 หรือประมาณร้อยละ 0.6 ของ GDP ซึ่งสูงกว่างบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ในปีเดียวกัน ที่มีเพียง 10,379 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 0.4 ของรายได้ประชาชาติ แต่การบริจาคของคนไทยก็จะอยู่ในกลุ่มผู้รับที่จำกัดการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 39,513 ครัวเรือน จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2554 เกี่ยวกับกิจกรรมการทำบุญในช่วงหนึ่งเดือนก่อนการสำรวจ ชี้ให้เห็นถึงการที่คนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93 บริจาคเงินเพื่อกิจกรรมทางด้านศาสนา
ส่วนการบริจาคอีกสองรูปแบบ ได้แก่ การให้เงินหรือสิ่งของกับคนนอกครัวเรือน และการบริจาคให้กับองค์กรการกุศลจัดอยู่ในลำดับที่ต่ำกว่ามาก ครัวเรือนในกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 20.2 บริจาคเพราะความสัมพันธ์ส่วนตัว ส่วนใหญ่อาจจะให้กับบิดามารดา บุตรหรือญาติคนอื่นๆ ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกัน
ส่วนหนึ่งของจำนวนที่บริจาคจะก่อให้เกิดการใช้จ่ายทางเศรษฐกิจ การบริจาคในรูปแบบที่เป็นทางการที่สุด นั่นคือ การบริจาคให้กับการกุศล มูลนิธิและองค์กรไม่แสวงหากำไร กลับปฏิบัติกันน้อยที่สุด โดยมีเพียงร้อยละ 17.8 ของครัวเรือนกลุ่มตัวอย่าง (Kanchanachitra, 2014: 5) สอดคล้องกับการสำรวจของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญในปี พ.ศ. 2555 ในกทม.และปริมณฑล เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา พบว่า วัดและสถาบันทางศาสนาต่างๆ มักจะเป็นผู้รับการบริจาคบ่อยครั้งที่สุด สะท้อนให้เห็นว่าการเลือกสถาบันทางศาสนาให้รับการบริจาคเป็นค่านิยมส่วนตัว การบริจาคของบุคคลนั้นเป็นเรื่องของความไว้วางใจ เมื่อผู้บริจาครายบุคคลตัดสินใจบริจาค มักจะไม่ใส่ใจตั้งคำถามกับความรับผิดชอบของผู้รับบริจาค องค์กรทางศาสนาส่วนใหญ่มักจะไม่ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานบัญชีการเงิน และจะไม่มีข้อมูลว่ากองทุนมีขนาดเท่าใด และรู้น้อยลงไปอีกเกี่ยวกับการใช้เงินบริจาคและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการการใช้ทุนนั้น
องค์กรทางศาสนาไม่ได้มีระบบบริหารเงินและการจัดการที่โปร่งใสเสมอไป แม้ว่าจะได้รับความไว้วางใจจากผู้บริจาครายบุคคลอย่างกว้างขวางก็ตาม การวิจัยของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในปี พ.ศ. 2555 รายงานว่า วัดส่วนใหญ่มีระบบที่ไม่เหมาะสมสำหรับการจัดการเงินและทรัพย์สินจำนวนมาก การบริหารการเงินไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางบัญชีและมีเพียงส่วนน้อยที่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ วัดเพิ่งถูกกำหนดให้ต้องพิมพ์เผยแพร่รายงานการเงินในปี พ.ศ. 2558 ขณะที่การดำเนินการและการกำกับดูแลยังไม่เข้มงวดเส้นแบ่งระหว่างงบประมาณของวัดและทรัพย์สินส่วนตัวที่พระสงฆ์ได้รับในช่วงที่บวชอยู่ก็ยังคลุมเครือ
การบริจาคให้ทางศาสนาและวัฒนธรรมนี้วางอยู่บนรากฐานของคติในการแลกเปลี่ยนตอบแทนกันและการทำบุญ และยังนิยมที่จะบริจาคให้กับบุคคลมากกว่าให้ในเชิงพัฒนาสังคม เป้าหมายการบริจาคที่รองกันลงมาก็จะเป็น การให้เพื่อเป้าหมายด้านการศึกษาและสาธารณสุข แต่เมื่อประเทศมีวิกฤตการณ์ขึ้นมา วัฒนธรรมการให้ทั้งเก่าและใหม่มักจะเน้นการสงเคราะห์เยียวยาความจำเป็นเฉพาะหน้า และอาจแฝงความต้องการในบางระดับเพื่อแสดงถึงความสำเร็จส่วนตนหรือความร่วมมือกับผู้อื่นไว้ด้วย สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยเคยกล่าวไว้ว่า “วัฒนธรรมของการบริจาคเพื่อการกุศลในไทยมุ่งเน้นแต่เรื่องของศาสนาและการศึกษาอย่างมาก การบริจาคเช่นนี้มักมุ่งในเรื่องของ ‘การทำความดี’ แทนที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง” (Bangkok Post, 2017) เพื่ออนาคต นอกจากนั้น แรงจูงใจในการบริจาคเงินแก่สถาบันศาสนาและการศึกษาก็คือ สามารถลดหย่อนภาษีได้ แต่แนวโน้มของคนรุ่นใหม่จะต้องบริจาคเพื่อเป็นการให้เพื่อสังคมเชิงกลยุทธ์มากขึ้น คือการบริจาคให้แก่องค์กรที่ไปทำงานให้สังคมดีขึ้น เช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การพัฒนาเด็กและเยาวชน การต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค การขับเคลื่อนเช่นนี้น่าจะต้องส่งเสริมด้วยมาตรการทางการคลังให้มากขึ้น พร้อมๆ กับการกวดขันการใช้เงินกองทุนที่มีอยู่ในสถาบันดั้งเดิมให้ใช้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ยิ่งขึ้น
สังคมไทย 4.0 จึงเป็นสังคมที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน.
*** The writer is director of SEA Junction, emeritus Asia regional director of the International Development Research Center (IDRC) and the Rockefeller Foundation, and senior adviser to Australian Aid in Indonesia. The views expressed are her own.
Disclaimer: The opinions expressed in this article are those of the author and do not reflect the official stance of The Bangkokbiznews.
Source: https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/127603