ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง
เมธิชัย เตียวนะ ภาพ
ทุกครั้งเมื่อข่าวสามจังหวัดชายแดนใต้กระเด็นกระดอนเข้าสู่สายตา หรือเมื่อเราใช้ปลายนิ้วค้นหาเรื่องราวของพื้นที่นี้บนอินเทอร์เน็ต ภาพที่เกิดขึ้น หากมองอย่างนักศิลป์ คงต้องกล่าวว่าเต็มไปด้วยองค์ประกอบภาพเดิมๆ ปืน เจ้าหน้าที่ ควันไฟ อิริยาบทของผู้อยู่ในภาพคล้ายๆ เดิม บุกจับ ซุ่มยิง บาดเจ็บ ทั้งหมดส่งให้มู้ดแอนด์โทนของภาพเต็มไปด้วยความรุนแรง ไปจนถึงความรู้สึกหดหู่ เรามองภาพเดิมเหล่านี้อย่างชินตา และโดยไม่รู้ตัว ก็ชินไปถึงความเข้าใจ
ไม่นานมานี้ ที่ใจกลางเมือง ภาพชุดหนึ่งถูกจัดแสดงบริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภาพเหล่านี้แม้จะถูกถ่ายในสถานที่เดิม คือ ชายแดนใต้ แต่องค์ประกอบ อิริยาบถ และความรู้สึกที่อยู่ในภาพต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ความปรกติธรรมดาอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีได้ คืออีกด้านของชายแดนใต้ที่ภาพถ่ายพาเราไปเห็น
นิทรรศการภาพนี้มีชื่อว่า Grey Zones ‘พื้นที่สีเทา’ เจ้าของผลงานคือ ยศธร ไตรยศ หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Realframe กลุ่มช่างภาพที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสิทธิมนุษยชน การเมือง และประชาธิปไตย ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation: CrCF) และ Sea Junction นิทรรศการถูกจัดแสดงเมื่อวันที่ 11-23 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ในงานจัดแสดงภาพถ่าย ยังมีวงเสวนา ‘ร่วมพูดคุยในประเด็นสามจังหวัดชายแดนใต้’ โดยมี พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ICJ ร่วมถ่ายทอดเรื่องราว สะท้อนปัญหาของพื้นที่ชายแดนใต้ด้วย
อ่านเรื่องราวปัญหาของสามจังหวัดชายแดนใต้ ตบด้วยภาพถ่ายของยศธร จะสะท้อนว่าภาพชายแดนใต้ที่คนเข้าใจกับภาพความเป็นจริงเป็นอย่างไร แล้วทำไมเราควรมองภาพสามจังหวัดชายแดนใต้ให้ธรรมดาสามัญ
ภาพที่คนหันหลังให้
ภาพถ่ายของยศธรดึงดูดผู้คนด้วยความธรรมดาของชีวิต คนในพื้นที่สามจังหวัดที่ปรากฏบนภาพ กำลังกิน เดิน ยิ้ม และอีกหลายอิริยาบถที่ชีวิตประจำวันของคนทั่วไปจะมี เขาใช้เวลาถ่ายภาพเหล่านี้โดยลงไปฝังตัวอยู่ที่ชายแดนใต้ร่วม 4 เดือน และใช้เวลาชั่วหายใจ ทำให้ผู้ที่อยู่ในงานเสวนาแปลกใจ เมื่อเขาเฉลยว่า
“คนที่เข้ามาดู exhibition ด้านล่าง จะไม่รู้ว่าคนในภาพกลุ่มนี้ เป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง จนกว่าเขาจะมาพูดคุยกับเรา แล้วเราจะอธิบายให้เขาฟัง บอกเล่าแต่ละเคสว่าเป็นใครมาอย่างไร”
“อยากให้มองเห็นอีกด้านหนึ่งของความเป็นมนุษย์ของผู้คนเหล่านี้ อยากให้คนที่หันหลังให้พื้นที่นี้ไปแล้ว หันกลับมาอีกครั้ง” คือจุดประสงค์ของภาพถ่าย ที่ยศธรกล่าวในวงเสวนา
เพื่อให้เข้าใจพื้นที่ที่ทุกคนหันหลังให้ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมอธิบายปัญหาของสามจังหวัดชายแดนใต้ไว้ว่า “เป็นที่ทราบกันว่ามีการขัดแย้งกันทางอาวุธเกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2547 แต่ความขัดแย้งไม่ได้เริ่มจากเหตุการณ์ปล้นปืนปี 2547 มันเกิดความขัดแย้งทางความคิดเรื่องการปกครอง และการกำหนดอัตลักษณ์ของคนไทยในพื้นที่นั้น ซึ่งมีมานานแล้ว
“พื้นที่ 3 จังหวัดเป็นพื้นที่อยู่ติดกับมาเลเซีย ขณะที่ประเทศไทยคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ในพื้นที่สามจังหวัดส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม หรือที่คนในพื้นที่อยากเรียกตัวเองว่า ชาวมลายู มุสลิม แต่รัฐไทยมีความพยายามอย่างมากที่จะให้ใช้คำว่า ไทย-อิสลาม ความขัดแย้งทางอัตลักษณ์เหล่านี้มีให้เห็นตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างภาษา เช่น คนสามจังหวัดจำนวนมากจะพูดภาษามลายู ซึ่งคนไทยที่ไม่มีความรู้เรื่องภาษามลายู ก็จะไม่เข้าใจบทสนทนาในชีวิตประจำวันของพวกเขาเลย”
ตั้งแต่เหตุการณ์ในปี 2547 จนกระทั่งถึงปีนี้ เป็นระยะเวลา 15 ปีแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นเปลี่ยนชีวิตและเปลี่ยนความธรรมดาให้เปื้อนไปด้วยความรุนแรง “จากเด็กตัวเล็กๆ ในพื้นที่ที่อาจจะไม่รู้เรื่องอะไรเลย ตอนนี้กลายเป็นเด็กอายุ 15 ขวบ คนในพื้นที่ ทั้งชาวไทย-พุทธ ชาวมุสลิม ชาวจีน มีประสบการณ์ที่ชีวิตประจำวันอยู่ร่วมกับความรุนแรง เห็นผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ พิการ มีเด็กกำพร้า ผู้หญิงที่เสียสามี และความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ ทั้งที่มองเห็นทางกายภาพ ไปจนถึงการใช้กฎหมาย” พรเพ็ญกล่าว
ภาพความรุนแรงที่พรเพ็ญอธิบาย เมื่อเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจึงทำให้ผู้คนค่อยๆ หันหลังให้กับพื้นที่ ยศธรเล่าว่าจากการสังเกตเพื่อนและคนรอบๆ ตัว หลายคนรู้สึกเบื่อหน่ายประเด็นของสามจังหวัดชายแดนใต้ไปแล้ว เวลามีข่าวในพื้นที่ ก็แทบไม่มีใครอยากเปิดดู หรือหากเปิดรับ ผู้คนจำนวนหนึ่งอาจมองเห็นชีวิตไม่ทั่วถึง
“คนไม่สนใจแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่นั้น เต็มที่ก็ดูหน่อยว่ามีคนตายกี่คน มีคนเจ็บกี่คน แล้วเวลาเขาพูดถึงเรื่องนี้ ความรู้สึกของเขาจะยืนอยู่ข้างเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นห่วงเป็นใยว่าทหารจะเสียชีวิตกี่คน โดยที่ไม่ได้มองอีกฝ่ายนึง ไม่ได้แคร์เท่าไหร่ว่าจะมีชาวบ้าน ผู้ได้รับบาดเจ็บ มีคนถูกจับไหม หรือคดีเป็นอย่างไร ไม่เคยมีใครตั้งคำถามกับพื้นที่นี้ ก็เลยรู้สึกว่าเมื่อไหร่ก็ตาม ที่คนเขาหันหลังไปแล้ว เขาไม่สนใจแล้ว มันเท่ากับการให้ฉันทามติกลายๆ กับรัฐ ว่าจะใช้อำนาจจัดการอะไรก็ได้”
“สังคมจะดราม่ามากเป็นพิเศษเลยว่า มีทหารตายเท่าไหร่ มีการจัดงานศพใหญ่โต มีการเลื่อนยศ มีการทำพิธีด้วยความเคารพ เราไม่ได้คิดว่าเขาสมควรจะเสียชีวิตนะ ไม่ควรมีใครต้องตายกับเรื่องในพื้นที่นี้อยู่แล้ว แค่รู้สึกว่ามันควรให้ความยุติธรรม หรือมองกันให้รอบด้านว่า ปัญหามันเกิดจากอะไร แล้วทำไมมันถึงไม่จบสิ้นซักที แล้วเราควรจะเทคแคร์ผู้คนอื่นๆ เหมือนกับคนจากภาครัฐ”
มองภาพของยศธรอีกครั้ง ผู้คนที่เคยใช้ชีวิตปกติธรรมดาเช่นในภาพ ต่างเผชิญความลำบาก ทรมาน หรือสูญเสียเช่นกัน
ภาพความพิเศษ คาดด้วยอยุติธรรม
ในงานเสวนา ยศธรนำภาพชุดพิเศษที่ไม่ถูกจัดแสดงมาเปิดให้คนได้ชม บุคคลที่อยู่ในภาพขุดนี้ถูกผ้าดำคาดตา องค์ประกอบใหม่ที่เพิ่มเข้ามา ทำให้ความธรรมดา กลายเป็นความอึดอัดทรมาน
ไม่ต่างจากภาพของยศธร สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนนั้นเต็มไปด้วยความอึดอัดและทรมาน เนื่องมาจากกฎหมายพิเศษ และมาตรการที่ดำเนินอยู่ในพื้นที่ สัณหวรรณ ศรีสดคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ICJ เล่าว่า ข้อร้องเรียนเรื่องการทรมานในประเทศไทยนั้นพบมากที่สามจังหวัดชายแดนใต้ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้อร้องเรียนสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ เป็นเพราะรูปแบบของกฎหมายที่ใช้ในพื้นที่ดังกล่าว
“จริงๆ ตามพื้นที่ชายแดนของประเทศไทย เราจะใช้กฎหมายพิเศษที่เรียกว่า กฎอัยการศึก คือทหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในพื้นที่ เพราะพื้นที่ชายแดนอาจจะมีประเด็นการลักลอบต่างๆ ทีนี้เมื่อกฎหมายถูกเอามาใช้ในสามจังหวัด เจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจจับกุมคนที่เห็นว่าเป็นผู้ต้องสงสัย หรือที่เรียกกันว่า ‘โจรใต้’ โดยให้จับกุมและคุมขังได้ 7 วัน โดยไม่ผ่านกระบวนการศาล
“จุดที่มีปัญหา มีข้อร้องเรียนมากที่สุดคือ 7 วันแรก ปกติถ้าคุณถูกจับ 48 ชั่วโมง ตำรวจจะต้องพาไปศาล และให้ศาลช่วยกลั่นกรองว่า คุณสมควรจะถูกจับต่อไปหรือเปล่า แล้วจะจับกุมไว้ที่ไหน คุณมีข้อโต้แย้งอะไรไหม หรือควรจะปล่อยคุณไหม แต่ในชายแดนใต้ 7 วันนี้ไม่สามารถไปศาลได้ หรือโต้แย้งอะไรได้ การคุมขังในลักษณะนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงว่าจะเกิดการซ้อมทรมานผู้ต้องขัง”
หลังจากเจ็ดวันไม่ธรรมดาแล้ว สัณหวรรณระบุว่า ปัญหาอีกอย่างที่พบคือ ขั้นตอนสืบสวนสอบสวน ทั้งในแง่ของกฎหมายและการปฏิบัติ
“ในแง่กฎหมายคือ เวลามีผู้เสียหายคนหนึ่งเดินไปหาตำรวจ แล้วบอกว่าผมถูกทรมาน ตำรวจเปิดกฎหมายยังไงก็ไม่เจอ เพราะการทรมานยังไม่ใช่ความผิดภายใต้กฎหมายไทย ไม่มีมาตราไหนที่อธิบายว่า อะไรบ้างคือการทรมาน คนส่วนใหญ่พอออกมาพูด เขาเข้าใจว่าการทรมานก็คือ นาย A นาย B ทะเลาะกัน เอาไปขังทรมานหลายวัน แต่จริงๆ แล้วคนกระทำกลับเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจที่เรามอบให้เขาด้วยความไว้วางใจ วางใจให้บังคับใช้กฎหมาย ทำให้เกิดสันติภาพ ทำให้เกิดความยุติธรรม จริงๆ ความผิดนี้ก็เป็นความผิดที่พิเศษมากนะ แต่ยังไม่มีความผิดนี้ในกฎหมายไทย”
ส่วนในแง่การปฏิบัติ สัณหวรรณเล่าว่าปกติเมื่อพาผู้เสียหายไปทำการสอบสวน เจ้าหน้าที่สอบสวนส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ในพื้นที่สามจังหวัด กลับเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร มีอำนาจตามกฎหมาย อยู่เหนือเจ้าหน้าที่พลเรือน
ยิ่งไปกว่านั้น ตามหลักแล้วผู้ที่จะทำการสอบสวนจะต้องเป็นอิสระ เช่น ถ้าออกมาจากการซ้อมทรมานปุ๊บ เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องให้หมอเข้ามาตรวจว่าเป็นอย่างไร ข้อมูลนั้นแม่นไหม แต่ว่าในสามจังหวัด หมอที่มาตรวจ ก็เป็นหมอทหารที่อยู่ในค่ายทหาร
“จริงๆ ตามหลักแล้ว แพทย์ที่มาตรวจต้องมีความเป็นอิสระจากองค์กรทั้งหมดทั้งมวล ผลที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร แกอาจจะทำหน้าที่ถูกต้องก็ได้ แต่ตามหลักแล้ว ควรจะให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญคนนอก เป็นผู้ตรวจร่างกาย หลังจากที่มีการควบคุมตัว”
“หลายครั้งจะเจอปัญหา การถูกถามว่า แล้วมีพยานหลักฐานอะไรว่าถูกทรมาน พยานหลักฐานการถูกทรมานหายากมาก เพราะมันไม่เหมือนในหนัง ที่จะโดนบีบคอ หรือโดนมัด มันมีวิธีการอีกเยอะแยะ แล้วผลที่เกิดขึ้นบางครั้งมันเป็นผลที่เกิดทางจิตใจมากกว่า การเก็บข้อมูลพวกนี้ไม่ง่ายเลย ถ้าเวลาผ่านไปนาน การจะเอาข้อมูลพวกนี้ออกมาก็ยิ่งยาก”
ประเด็นสุดท้ายที่สัณหวรรณทิ้งไว้ และเป็นประเด็นที่เธอแสดงความกังวลมากคือ การถูกโต้กลับของเหยื่อ สัณหวรรณเล่าว่า “กลายเป็นว่าเหยื่อที่ออกมาร้องเรียน โดนฟ้องกลับเสียเอง พอเอาคดีขึ้นสู่ศาล แล้วศาลบอกว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ไม่น่าเชื่อถือ สุดท้ายตัวจำเลย หรือเจ้าหน้าที่ที่ถูกฟ้องร้อง ก็มาฟ้องกลับว่าแจ้งความเท็จ ให้การเท็จในชั้นศาล ซึ่งจริงๆ ตามตัวอนุสัญญาที่เราไปเป็นภาคีด้วย เขียนไว้ชัดเจนว่า ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะร้องเรียน และต้องได้รับการคุ้มครองจากการโต้กลับ จากการดำเนินคดี”
ในชุดภาพที่ไม่ถูกเปิดเผย ยศธรเล่าถึงการเลือกใช้ผ้าคาดตา แทนภาพความจริงที่มีผู้คนไม่ได้รับความยุติธรรมว่า
“มีการปรึกษาหารือประมาณนึงว่า จะทำอย่างไร จะถ่ายทอดประเด็นนี้อย่างไร โดยที่กระทบกระเทือนจิตใจเขาน้อยที่สุด ไม่คลาดเคลื่อน และตรงประเด็นที่ต้องการจะสื่อสารมากที่สุด ซึ่งก็ไม่ง่าย วิธีการถูกคิดขึ้นมาหลายวิธี แต่ท้ายสุดมาเลือกวิธีนี้ เพราะเรารู้สึกว่า มันยังพอเข้าใจได้ ไม่หลุดจากประเด็นที่เราต้องการสื่อสาร
“มีการทักท้วงว่า ทำแบบนี้มันเป็นการผลิตซ้ำความรู้สึกเจ็บปวดให้กับผู้ต้องหาหรือเปล่า ไม่ได้ปฏิเสธนะครับ มันมีแน่ๆ มันต้องเกิดอะไรบางอย่างกับความรู้สึกเขา หลายๆ คนที่เราเข้าไปคุยด้วยก็ยังเจ็บปวดอยู่ ยังมีน้ำเสียงที่สั่นเครือ หรือบางคนมีน้ำตา เพียงแต่อย่างนึงที่ทุกคนมีร่วมกันคือ ความต้องการสื่อสาร มากจนถึงต้องการโต้กลับในรูปแบบอะไรซักอย่าง เพื่อจะบอกให้สังคมรู้ว่าเขาไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะฉะนั้นมันมีอยู่แล้วแหละ บาดแผล แต่ถ้าเลือกไม่ทำอะไรเลย ไม่รู้สึกอะไรเลย หรือต้องอยู่เฉยๆ ผมรู้สึกว่า ผมเลือกที่จะทำอะไรบางอย่าง โดยที่ส่งผลไปบ้าง แต่ได้สื่อสารให้คนจำนวนมากรู้ และเข้าใจประเด็นนี้ เลยออกมาเป็นวิธีการนี้ครับ”
หากเดินเข้าหาภาพถ่ายของยศธรให้ใกล้ขึ้น ผู้ที่เคยเหยียบยืนบนผืนดินชายแดนใต้จะรู้ดีว่า ภายใต้ภาพธรรมดาเหล่านั้น วิถีชีวิตของผู้คนดำเนินด้วยความหวาดระแวง แม้แต่เรื่องเล็กๆ บนท้องถนน เช่น การมีด่านตรวจทุกๆ กิโลเมตร เราอาจเข้าใจว่าคนในพื้นที่คงชินกับการปฏิบัติที่พิเศษเหล่านี้แล้ว แต่ในสายตาของยศธรมันคือความจำยอมมากกว่า
“ชีวิตมันก็ต้องดำเนินไป มันเป็นความขมขื่นที่เขาเลี่ยงไม่ได้ ต่อให้เขาไม่ชินแล้วเขาเลือกอะไรได้ การต้องผ่านอะไรแบบนี้ทุกวันทุกวัน เรามองว่ามันเป็นการกดทับอย่างหนึ่ง เขาอาจไม่ได้พูดอะไรมากเท่าไหร่ หรือเขาอาจพูดแล้วเราไม่เคยได้ยินหรือไม่ได้รับฟัง แต่จริงๆ แล้วเขาเครียด เขามีความกังวล รู้สึกว่า เออ ถ้าเส้นนี้มันเยอะ เขาไม่อยากไป ไม่เจอด่านนี้ก็ต้องเจอด่านหน้าที่เขาจะต้องเรียกให้หยุด เรียกคุณคุย ถามว่าคุณจะไปไหน ต้องมีซักที่ที่ขอตรวจบัตรประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นมุสลิม”
“แนวคิดบางอย่างมันถูกกำหนด หรือถูกเทรนมาว่าให้ระมัดระวังคนกลุ่มไหนเป็นพิเศษ อาจจะบอกได้ว่า คนในพื้นที่เป็นเป้าหมายในการเฝ้าระวังมากกว่าคนข้างนอก ถ้าคนนอกไปไหนมาไหน ขี่มอเตอร์ไซค์ ไม่ใส่หมวกกันน็อค ใบขับขี่ไม่มี ก็ไม่เคยโดนอะไร แต่ถ้าเป็นคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะพลาดด้วยข้อหาอะไร หรือแค่ผิดสังเกตนิดนึง ถูกตรวจค้นเมื่อไหร่ ทุกอย่างมันจะตามมาหมด ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายจราจร หรือข้อหาความมั่นคงที่พร้อมจะบังคับใช้กับเขา”
ยศธรยังเล่าว่าแม้ภาพเหล่านี้จะนำเสนอความธรรมดา เขาก็รู้ดีว่าผู้ชมหลายคนจะต้องถามถึงความไม่ปกติที่เขาได้พบ สิ่งที่บุคคลในภาพอาจทำ เขามีส่วนร่วมกับเหตุการณ์จริงหรือไม่ เขามีความผิดหรือเปล่า แต่ยศธรกลับตั้งใจที่จะไม่สนใจ ไม่อยากรู้ความไม่ปกติดังกล่าว เพราะเขาเข้าใจกระบวนการทางกฎหมายในพื้นที่ จึงไม่สามารถทำใจเชื่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้
“ลองคิดดูสิว่า คำตอบที่คุณได้รับมาจะมีน้ำหนักขนาดไหนให้คุณเชื่อหรือไม่เชื่อ เขาจะทำหรือไม่ทำ เขาจะบอกหรือไม่บอก มันเป็นสิทธิของเขา มันไม่ได้มีคุณค่าอะไรเลย ประเด็นที่เราสนใจคือ กระบวนการยุติธรรมที่เขาควรจะได้รับในฐานะคนธรรมดาคนนึง พื้นที่อื่นๆ เวลามีข้อกล่าวหา คนจะได้รับกระบวนการยุติธรรมที่ชอบธรรมและแฟร์ แต่คนในพื้นสามจังหวัด เขาไม่ได้ เพราะกฎหมายพิเศษ และข้ออ้างต่างๆ เพราะฉะนั้นเราจะเชื่อได้อย่างไร ในเมื่อเริ่มต้นกระบวนการอย่างไม่ถูกต้อง ทำไมเราถึงเชื่อว่า output ที่ออกมาเป็นเรื่องจริง มันน่าเชื่อถือเพราะเป็นความจริงหรือเพราะคำตัดสินต่างๆ ทำให้มันน่าเชื่อถือ”
“เวลาเราเห็นข่าวต่างๆ ในสังคม คนจะมีจุดร่วมกันอย่างหนึ่ง คือการตั้งคำถามว่าเขาจับแพะหรือเปล่า เวลาตำรวจจับได้เร็วๆ เฮ้ย แพะแน่ๆ แต่ทำไมคำถามเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดน เพราะอะไรเราถึงเชื่อว่าเขาทำตามที่ได้รับคำกล่าวหาจริงๆ ตรงนี้เราคิดว่ามันสำคัญกว่า”
ภาพสิทธิมนุษยชน ภาพของคนทุกคน
หลายครั้งเรามองผ่านภาพความรุนแรง หรือข่าวคราวของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยความรู้สึกว่าเราไม่เกี่ยวข้อง เราเป็น ‘คนนอก’ แต่หากมองให้ใกล้ขึ้นเพียงสักนิด จะพบว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ กำลังกู่ร้องออกมาผ่านภาพเดิมๆ ที่เราหน่ายจะสนใจ และสิทธิมนุษยชนที่ว่าก็ไม่ใช่เรื่องของใครนอกจากเราทุกคน
“พอเวลาผ่านไป คนก็จะลืม บางคนเกิดมาก็ไม่มีสงครามโลกแล้ว อาจจำได้แต่ระเบิดนิวเครียร์ 2 ลูก จำได้แค่รายละเอียดยิบย่อยที่เราท่องกันเฉยๆ แต่เราไม่ได้รู้สึกถึงอิมแพค เรางงว่าทำไมอยู่ดีๆ ถึงมีสิทธิมนุษยชน ทำไมอยู่ดีๆ ประเทศไทยไปลงนาม ไปให้สัตยาบันกับอะไรไม่รู้ แล้วเราจะต้องมาเปลี่ยนโน่นเปลี่ยนนี่ในประเทศตัวเอง
“เรารู้สึกว่าสิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดของพวกต่างชาติ ของพวกฝรั่ง ทั้งๆ ที่ตอนนั้นประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ไปลงนามให้สิทธิมนุษยชนเป็นกฎหมายบังคับใช้ระหว่างประเทศ เพราะเรากลัวว่าประเทศใหญ่ๆ จะมารุกรานเรา กลัวว่าวันหนึ่งจะมีผู้ปกครองเข้ามาลิดรอนสิทธิของเรา จริงๆ เราอาจจะลืมประเด็นนี้ไปหมดแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำก็คือสื่อสารถึงความสำคัญของปัญหาต่างๆ ว่าทำไมเราถึงจะต้องลุกขึ้นมาปกป้อง ไม่ใช่แค่เรา แต่ปกป้องสังคม” สัณหวรรณกล่าว
บางครั้งภาพจำต่างๆ อาจทำให้คนนอกพื้นที่มองสามจังหวัดชายแดนอย่างเหมารวม เราอาจไม่รู้ว่าการมองของเรากระทบอะไรกับคนในพื้นที่บ้าง ในฐานะที่ยศธรได้ไปคลุกคลีกับผู้คนในพื้นที่มาเป็นเวลาพักใหญ่ เขาแชร์ให้ฟังว่าคนในพื้นที่เองรู้ดีว่าคนนอกมองเขาอย่างไร และค่อนข้างกังวลกับเรื่องนี้
“คุณจะเห็นว่า คนจากสามจังหวัด เวลาเขามาอยู่ในกรุงเทพ เขาจะอยู่เป็นกลุ่มของเขา เฉพาะพวกพ้อง อยู่ในซอยหนึ่ง อพาร์ทเมนต์หนึ่งที่เต็มไปด้วยคนกลุ่มเดียวกัน เพราะเขาเข้าใจ หรือรับรู้ว่าคนอื่นๆ ในกรุงเทพคิดกับเขาอย่างไร มองเขาในแง่มุมไหน คิดว่าเขาจะต้องมีความเชื่อมโยงบางอย่างไปถึงขบวนการผู้ก่อการร้าย บางคนจะคิดว่า เขาอาจมีคนใกล้ตัว หรือรู้เห็นเป็นใจกับเหตุการณ์ในสามจังหวัดด้วยตลอดเวลา พอพวกเขารับรู้ถึงความคิดแบบนี้ เขาก็ไม่อยากจะอธิบาย ไม่กล้าสร้างความสัมพันธ์ และมักจะแยกตัวเองออกไป”
สุดท้ายแล้วเมื่อกลับไปมองสื่อ หรือเสิร์ชคำว่า ‘สามจังหวัดชายแดนภาคใต้’ ภาพที่ได้อาจยังเป็นแบบเดิม ทุกอย่างยังต่างจากภาพของยศธร หลายคนถามหาจุดกึ่งกลางระหว่างความธรรมดาและความพิเศษเมื่อมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น สื่ออาจยังจำเป็นต้องรายงานสถานการณ์ แต่ภาพปกติธรรมดาก็ไม่ควรหายไปจากความเข้าใจของผู้คนเช่นกัน ยศธรให้ข้อเสนอต่อเรื่องนี้ไว้ว่า
“เราแทบไม่อยากไปยุ่มย่ามอะไรกับคนที่นำเสนอภาพแบบนั้น ไม่ได้ไปโกรธอะไรเขา ไม่ได้แอนตี้ แค่รู้สึกว่า มันมีคนทำแบบนี้เยอะแล้ว เราขอสื่อสารในมุมที่เราเชื่อว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เรา respect คนทำงานในอีกมุมนึง
“เราไม่ได้ปฏิเสธความเป็นจริงที่มันเกิดขึ้น ความรุนแรงต่างๆ ก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ ซึ่งแน่นอนว่ามันต้องมีการรายงาน มีภาพออกไป เพียงแต่ว่า เราอยากให้คนเห็นอีกด้านหนึ่ง แล้วก็รับรู้มันเหมือนกับเรื่องอื่นๆ ในสังคม ที่คุณรู้ว่ามันมีแง่มุมที่ดีและที่ไม่ดี คุณนำเสนอแบบนั้น เราก็ขอนำเสนออีกแบบควบคู่กันไป โดยที่ไม่ได้มีใครดีกว่ากัน แต่มันเท่ากัน”