Submitted on Tue, 2019-06-18 19:52
กิตติคุณ สกลวิศาลศักดิ์
ศศิประภา กันฉาย
นิทรรศการ ‘พื้นที่สีเทา’ ของยศธร ไตรยศ ช่างภาพกลุ่มเรียลเฟรม เล่าความธรรมดาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่ถูกกดทับสิทธิและเสรีภาพด้วยกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.ความมั่นคง ภายใต้ข้ออ้าง ‘เรื่องความมั่นคง’
18 มิ.ย. 2562 นิทรรศการภาพถ่าย ‘พื้นที่สีเทา’ (Grey Zones) จัดแสดง ณ บริเวณ Corner space ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นำเสนอเรื่องราวในอีกแง่มุมที่แตกต่างไปจากคนทั่วไปเห็นนอกเหนือจากปัญหาความไม่สงบของชายแดนใต้ผ่านภาพถ่ายชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ โดยงานมีตั้งแต่วันที่ 11-23 มิ.ย. นี้
ยศธร ไตรยศ ช่างภาพกลุ่มเรียลเฟรม (Realframe) เจ้าของผลงานภาพถ่ายเล่าถึงจุดเริ่มต้นของงานชิ้นนี้ว่า สืบเนื่องจากช่วงกลางปี 2561 ตนมีโอกาสได้ลงไปพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างนั้นได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างและรู้สึกว่าสิ่งที่เห็นนั้นน่าสนใจ เพราะจริงๆ แล้วพื้นที่ตรงนั้นไม่ได้มีแค่ความรุนแรงอย่างที่สื่อนำเสนอออกมา เลยอยากใช้ภาพถ่ายเล่าเรื่องในมุมมองที่แตกต่างไปจากคนทั่วไปเห็น คนในพื้นที่ยังถูกกดทับสิทธิและเสรีภาพ ภายใต้ข้ออ้าง ‘เรื่องความมั่นคง’
ยศธรเห็นว่าที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่แทบจะหันหลังหรือเบือนหน้าหนีให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ความเข้าใจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสามจังหวัดชายแดนใต้เพียงด้านเดียวในเชิงลบ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจให้อยากเล่าเรื่องในพื้นที่นี้ ผ่านมิติของความธรรมดาให้ทุกคนเห็นว่าความธรรมดาหรือความสวยงามในพื้นที่ยังมีอยู่
ยศธรเล่าต่อว่า ส่วนหนึ่งของนิทรรศการภาพถ่ายนี้คนที่อยู่ในภาพส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้ต้องหา บางคนยังมีคดีอยู่ในชั้นศาล ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าคนเหล่านี้กระทำในสิ่งที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ เพียงแต่ต้องการนำเสนอผลงานเพื่อให้เกิดความยุติธรรมสำหรับคนเหล่านี้และอยากลบล้างวาทกรรม ‘โจรใต้’ โดยนำเสนอชีวิตอีกด้านหนึ่งของพวกเขาที่ไม่เคยเห็นที่ไหน เมื่อมองภาพถ่ายทั้งหมดแล้ว จะเกิดการตั้งคำถามและให้ตัดสินด้วยตัวเองว่าเขาเป็นอย่างที่ถูกกล่าวหาหรือเปล่า
อับดุลเลาะห์ นักเคลื่อนไหวในนามเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ Jasad กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนในพื้นที่นี้ถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพโดยการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ เช่น กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. ความมั่นคง และคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายพิเศษเหล่านี้ ทำให้ตกเป็นเครื่องมือในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ เช่น การควบคุมตัวยามวิกาล หรือ เจ้าหน้าที่รัฐสามารถจะทำอะไรก็ได้ภายใต้อำนาจของกฎหมายนี้ ดังนั้นจึงควรสื่อสารเพื่อให้คนภายนอกรู้ว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้มีวิถีชีวิต มีการปรับตัวกับเหตุการณ์เหล่านี้อย่างไร และทำอย่างไรให้คนเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ได้
อับดุลเลาะห์เล่าต่อว่าการทำงานครั้งนี้ค่อนข้างมีปัญหาด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะการเข้าถึงคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษดังกล่าว เนื่องจากคนในพื้นที่นั้นถูกลิดรอนสิทธิ เมื่อมีคนในครอบครัวถูกดำเนินคดี ชีวิตของคนรอบข้างก็จะเปลี่ยนไปหมด ทำให้คนเหล่านี้มีสภาพจิตใจที่หวาดระแวงไม่ไว้ใจใคร จึงต้องสร้างความไว้วางใจกับผู้คนในพื้นที่ ซึ่งต้องใช้เวลาในระดับหนึ่งในการปรับตัวและท่าทีในการเข้าหา
พริม (นามสมมุติ) ผู้เข้าชมงานแสดงความเห็นหลังชมชุดภาพถ่ายว่า เป็นภาพเรื่องราวที่ไม่เคยรู้มาก่อน เพราะปกติจะเห็นแค่ตามสื่อทั่วไปที่นำเสนอเกี่ยวกับความรุนแรง แต่ภาพถ่ายเหล่านี้ทำให้เห็นอีกหลายด้านที่ยังเข้าไม่ถึง และสิ่งสำคัญคือเรื่องกฎหมายที่บังคับใช้กับคนเหล่านั้น ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาของผู้ที่มีอำนาจในการใช้กฎหมายที่ไม่ได้คิดถึงประชาชนที่จะได้รับผลกระทบตามมา ดังนั้นจึงควรหาทางป้องกันเพื่อไม่ให้นำกฎหมายไปบังคับใช้ในลักษณะนี้
เอก (นามสมมติ) อีกหนึ่งผู้มาร่วมชมนิทรรศการภาพถ่ายกล่าวว่า ปัญหาชายแดนใต้ที่เกิดขึ้นทุกอย่างมีที่มาที่ไปและสามารถแก้ไขได้ เพียงแต่ที่ผ่านมาปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในชายแดนใต้นั้นถูกละเลย ดังนั้นต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน
อย่างไรก็ตามเอกได้ตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้ แท้จริงแล้วต้นตอของปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นจากประชาชนผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ แต่มาจากการขูดรีดที่มาจากการต่อรองซึ่งผลประโยชน์ของรัฐ และสื่อเองก็เป็นตัวสำคัญที่ผลิตซ้ำวาทกรรมของความเป็น ‘โจรใต้’ ซึ่งเอกเห็นว่าหากประชาชนอยู่ดีกินดี ไม่มีสภาวะของการบีบบังคับให้จำเป็นต้องทำก็อาจจะไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น
เรียลเฟรม (Realframe) คือ กลุ่มช่างภาพในประเทศไทยที่ได้มารวมตัวกันภายใต้เป้าประสงค์ในการใช้ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือในการบอกเล่าและสื่อสารประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน สังคมการเมือง และความเหลื่อมล้ำทางสังคมในมิติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและกลุ่มประเทศในอาเซียน เพื่อนำไปสู่การตั้งคำถามในการเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่การผลักดันและการเปลี่ยนแปลงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบันกลุ่มเรียลเฟรมยังคงพยายามที่จะยกระดับในการทำงานบอกเล่าเรื่องราวด้วยภาพถ่าย ให้มีมาตรฐานและยอมรับในระดับสากล รวมไปถึงความพยายามที่จะสร้างชุมชนที่เชื่อมโยงระหว่างภาพถ่ายและศิลปะในสาขาอื่นๆ เพื่อให้ภาพถ่ายได้ถูกนำเสนอออกไปสู่สังคมในวงกว้าง เช่น การจัดนิทรรศการภาพถ่าย การจัดอบรมถ่ายภาพในประเด็นทางสังคมและประเด็นทางสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
กิตติคุณ สกลวิศาลศักดิ์ ศศิประภา กันฉาย : นักศึกษาฝึกงานประชาไท
Source: https://prachatai.com/journal/2019/06/83024