“แนวโน้มวิกฤตเพิ่ม – ต้องจัดการน้ำแบบ Single Command” ผศ. ดร. สิตางศุ์ พิลัยหล้า ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมน้ำ ม.เกษตร และที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ เสนอในเวที “โลกรวนในโลกร้อน:ไต้ฝุ่นยางิ Monsoons และความท้าทายด้านภูมิอากาศในภูมิภาค” 

ผู้เชี่ยวชาญด้านการคาดการณ์ความเสี่ยงภัยพิบัติชี้“ถึงเวลา ต้องจริงจังเรื่องจัดการภัยพิบัติ” ผู้ก่อตั้งเพจฝ่าฝุ่นระบุ “ไฟป่า-กับดินถล่มอาจสัมพันธ์เชื่อมกัน ต้องมีการศึกษา” ขณะ UNDP ให้ความเห็น“การสื่อสารเกี่ยวกับภัยพิบัติถึงกลุ่มเปราะบางยังมีปัญหา” 

ด้าน สทนช.แจง “ระบบจัดการน้ำภาครัฐ มีและทำอยู่”

“ไม่บูรณาการ-ยังรับมือไม่เท่าทันสภาพปัญหา” เสียงจากภาคประชาสังคม-พื้นที่

นราวิชญ์ เชาวน์ดี รายงาน

“แนวโน้มวิกฤตเพิ่ม – ต้องจัดการน้ำแบบ Single Command” สิตางศุ์ พิลัยหล้า

 “ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปีนี้ถือว่าหนักมาก คำถามที่ถูกถามมาตลอดคือปีนี้น้ำจะท่วมเหมือนปี 2554 หรือไม่ ซึ่งตอบมาตลอดว่าภาคกลางจะไม่หนักเหมือน 2554 แต่สุดท้ายหวยก็ดันมาออกที่ภาคเหนือ และความหนักหน่วงก็ไม่ได้น้อยกว่าตอนปี 2554 ที่ภาคกลางโดนเลย

ปัจจุบันต่อให้ปริมาณน้ำที่มาจะน้อยกว่าปี 2554 หรือเป็นการท่วมแบบปกติ ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ยังคงมากกว่าที่เคย ซึ่งคาดว่าอาจมีสาเหตุมาจากภูมิประเทศเปลี่ยนไป พื้นที่ป่าลดลง มีการสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำ มีการสร้างโครงสร้างทางชลศาสตร์อย่างคันกั้นน้ำที่อาจจะเอื้อให้มีภัยทางน้ำมากขึ้น

จากอะไรต่าง ๆ ที่เราทำกันไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าลดลง การรุกล้ำลำน้ำก็ล้วนเป็นการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ โลกร้อนขึ้น น้ำมากขึ้น เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นตอนนี้ที่เห็นเลยว่าบางพื้นที่ปริมาณฝนเยอะขึ้นมาก ตอนนี้มันผิดปกติจริง ๆ อยากชี้ให้เห็นว่าอย่างปีที่แล้วแล้งมากจนต้องขอให้เกษตรกรไม่ปลูกข้าวนาปรัง แต่ปีนี้น้ำกลับท่วม

หากเอาปริมาณฝนมา plot graph แบ่งเป็นปีน้ำแล้งกับปีน้ำมาก จะเห็นเลยว่าปีน้ำมากมีโอกาสที่น้ำจะมากเรื่อย ๆ ปีน้ำน้อยก็มีแนวโน้มจะน้อยเรื่อย ๆ คือมีแนวโน้มที่จะรุนแรงทั้ง 2 ฝั่ง” 

ผศ. ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในเวทีเสวนา “โลกรวนในโลกร้อน:ไต้ฝุ่นยางิ Monsoons และความท้าทายด้านภูมิอากาศในภูมิภาค” วันนี้ (25 ก.ย. 2567) ณ SAE-Junction หอศิลปแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) จัดโดย สำนักข่าว Bangkok Tribune และเครือข่ายพันธมิตร

“การบริหารจัดการน้ำนั้น ควรดำเนินการทั้งในภาระปกติและภาวะวิกฤต ซึ่งถ้าสามารถดำเนินการในภาวะปกติได้ดีก็จะช่วยให้การจัดการในภาวะวิกฤตง่ายขึ้น 

ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำแบ่งออกเป็น 6 ด้าน 1. น้ำกินน้ำใช้ 2. การจัดหาน้ำสำหรับการเกษตร อุตสาหกรรม 3. การบรรเทาน้ำท่วม 4. การฟื้นฟูคุณภาพน้ำ 5. เรื่องของป่าและระบบนิเวศ 6 . การบริหารจัดการ

ด้านที่มีการใช้งบประมาณมากที่สุดของประเทศคือ การจัดสรรน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำ สร้างเขื่อน สร้างบึง ที่มีหน่วยงานรับผิดชอบหลักคือกรมชลประทาน และการใช้งบเพื่อเฝ้าระวังและลดภัยพิบัติทางน้ำที่ใช้งบมากสุดคือพนังกั้นน้ำ ส่วนนี้เป็นส่วนที่ใช้งบเยอะมาก แต่เรื่องของการฟื้นฟูคุณภาพน้ำและการฟื้นฟูป่าต้นน้ำแทบไม่ได้แตะ 

พูดง่าย ๆ คือเราให้ความสำคัญกับเรื่องโครงสร้างชลศาสตร์กันเยอะมาก แล้วที่สุโขทัยพอมีเรื่องน้ำท่วมขึ้นมาก็มีเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่ล่าสุดก็มีผู้บริหารระดับสูงออกมาว่าปีนี้จะต้องผลักดัน บอกเลยว่าเขื่อนนี้เป็นเชื่อนที่ไม่มีอนาคต บอกเลยว่าใครที่ผลักดันเขื่อนโดยไม่ทำอย่างอื่นเลยถือว่าใจร้ายกับคนสุโขทัยมาก

สำหรับแนวทางในการจัดการน้ำในสภาวะวิกฤต สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะ Regulator ด้านน้ำของประเทศ ต้องผลักดันให้เกิดกลไกจัดการน้ำในภาวะวิกฤติแบบ Single Command ตามที่ระบุไว้ใน พรบ.ทรัพยากรน้ำ 2561 ให้เกิดขึ้นให้ได้

ทำไมการจัดการน้ำในสภาวะวิกฤตต้องเป็นการจัดการแบบ Single Command ตอนนี้ความช่วยเหลือทุกอย่างระดมไปที่เชียงราย ที่เชียงใหม่ แต่ความช่วยเหลือที่มีก็ไม่ทั่วถึง บางอย่างก็ขาด บางอย่างก็เกิน ถ้าสามารถจัดการอย่าง Single Command จะเป็นระบบ ระเบียบ รู้ว่าอะไรขาดอะไรเกิน

กฎหมายที่ใช้จัดการในสภาวะวิกฤตว่า ปัจจุบันมี 2 ฉบับได้แก่ พรบ.ทรัพยากรน้ำ 2561 ที่สทนช.เป็นผู้ใช้ และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ของทางฝั่งกระทรวงมหาดไทย ซึ่ง ผศ.ดร.สิตางศุ์ เห็นว่า การจัดการตามพรบ.ทรัพยากรน้ำ 2561 จะมีความคล่องตัวมากกว่าเนื่องจากมีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน มีการกำหนดผู้รับผิดชอบตามระดับภัย เริ่มจากผู้อำนวยการน้ำแห่งชาติ หากยกระดับก็จะเป็นเลขาสทนช. ถ้าหนักขึ้นก็จะเป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หากภัยหนักกว่านี้ก็จะเป็นนายกฯ จัดการเอง

สำหรับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ของฝั่งมหาดไทยนั้น หากระดับภัยเริ่มใหญ่มีปัญหาต่อเนื่องกันในหลายจังหวัดจะมีปัญหา ล่าสุดคือน้ำท่วมที่เชียงใหม่และเชียงราย กระทบทั้งต้นน้ำไปกลางน้ำ การบัญชาการในระดับจังหวัดจะไม่พอ

กรณีที่นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม และตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ซึ่งเป็นกลไกพิเศษว่าอาจจะยังไม่ถึงเวลา และเป็นการสะท้อนว่ากลไกปกติไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ 

ปีนี้มีกลไกพิเศษซึ่งอาจจะดี แต่ปีหน้าละ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะดีกว่าคือทำอย่างไรก็ได้ให้กลไกปกติที่ควรจะเป็นมีประสิทธิภาพให้ได้” ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าว

(ภาพ : GreenNews)

“ถึงเวลา ต้องจริงจังเรื่องจัดการภัยพิบัติ” เสรี ศุภราทิตย์

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหารและที่ปรึกษาด้านการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงภัยพิบัติ ฉายภาพรวมสถานการณ์และความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากสภาวะโลกรวนทั้งในประเทศและต่างประเทศ กล่าวว่าในอนาคตมีแนวโน้มว่าความถี่และความรุนแรงของการเกิดสภาพภูมิอากาศสุดขั้วอันมีที่มาจากภาวะโลกรวนจะเกิดบ่อยและถี่ขึ้น หากปีนี้เกิดน้ำท่วมปีหน้าก็จะเกิดน้ำแล้งสลับกันไป สำหรับประเทศไทยก็จะอยู่ในบริบทเดียวกันโดยถ้าปีไหนน้ำท่วมก็จะมีแนวโน้มว่าน้ำจะมากขึ้นเรื่อย ๆ หากมีไหนน้ำน้อยก็จะแห้งแล้งขึ้นเรื่อย ๆ 

และหากจะมองไปที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จะเห็นว่าเอลนีโญอาจจะมาถี่มากขึ้น ความรุนแรงอาจจะไม่มาก แต่ในเรื่องผลกระทบก็ยังจะต้องจับตาต่อ ขณะที่หากมองภาพที่ กทม. จะเห็นว่าปีนี้จำนวนวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียสมีจำนวนมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับปริมาณฝนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะได้รับผลกระทบเพิ่มหากปีไหนน้ำแล้งก็จะแล้งมาก ปีไหนน้ำท่วมก็จะท่วมหนัก

“นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากสภาวะโลกรวน คำถามคือ เราจะอยู่กันไปแบบนี้จริงหรือ เราต้องมาดูเรื่องการจัดการภัยพิบัติอย่างจริงจังได้แล้ว ดูว่าแผนตอนนี้ที่มีมันเป็นยังไง แต่ความจริงทำได้ตามไหมต้องดูอีกที ตอนนี้มีระบบเตือนภัยไหม มีการเตรียมแผนป้องกันและตอบโต้มีไหม ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาดูเรื่องนี้ให้มันมากขึ้น” รศ.ดร.เสรี ตั้งคำถาม

(ภาพ : GreenNews)

“ไฟป่า-ดินถล่มอาจสัมพันธ์กัน ต้องมีการศึกษา” เจน ชาญณรงค์

ดร.เจน ชาญณรงค์ ประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล และผู้ก่อตั้ง FB Page ฝ่าฝุ่น กล่าวว่า หากดูจริง ๆ จะพบว่าฝนที่ตกในภาคเหนือในครั้งนี้ไม่ได้มากอย่างที่หลายคนคิด ฝนตกหนักผิดปกติเพียงแค่บางจุดเท่านั้น โดยอาจจะมีเพียง 1 วัน หรือไม่กี่ชั่วโมงที่ฝนตกเยอะ แต่คำถามคือ หากฝนไม่เยอะแต่ทำไมถึงเกิดดินถล่มในหลายพื้นที่ คำตอบต่อคำถามนี้อาจจะเป็นเพราะว่าพื้นที่ที่ดินถล่มอาจจะเป็นที่เดียวกับบริเวณที่เกิดไฟป่ามาก่อนหน้านี้

“ก่อนหน้านี้ผมทำเรื่องไฟป่ามาก่อนปี 2566 เราเผาป่ากันเยอะไฟไหม้กว่า 9 ล้านไร่ ปีนี้ลดมาครึ่งหนึ่ง แต่ผลของไฟป่ามันอยู่อีกนาน เพราะทุกครั้งที่ไฟไหม้มันเผาพวก biomass ดิน ต้นไม้ที่มันมีสารประกอบมากมายอยู่ในเนื้อไม้ในพืชในสัตว์ในดิน ชีวมวลมีน้ำมันอะไรต่าง เวลามีไฟก็จะเผาพวกชีวมวลซึ่งมีสาร น้ำมันอะไรอยู่ ก็จะเริ่มเป็นไอและซึมลงดิน ดินตรงนี้ก็จะมีคุณสมบัติไม่ซึมน้ำแล้ว น้ำไม่ลงไปชั้นใต้ดิน สุดท้ายเป็นที่สูงชันก็พาน้ำลงไปหมดเลยส่งผลกับการอุ้มน้ำของดิน

ในต่างประเทศมีคำพูดเลยว่าตรงไหนเป็นที่สูงชันและมีไฟป่านะเตรียมตัวรับน้ำหลากได้เลย” ดร.เจน เปิดเผยถึงความเชื่อมโยงระหว่างไฟป่าและดินถล่มที่เกิดขึ้นในขณะนี้

(ภาพ : Bangkok Tribune News)

“การสื่อสารภัยพิบัติถึงกลุ่มเปราะบางยังมีปัญหา” UNDP

กานท์กลอน รักธรรม หัวหน้าด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ไทยกำลังเจอกับสภาวะโลกรวนและสถานการณ์น้ำท่วมอยู่นั้นเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เรามีปัญหาทางด้านการสื่อสารเรื่องนี้ในหลายระดับตั้งแต่ระดับโลกกับประเทศ ประเทศกับจังหวัด จังหวัดกับท้องถิ่น ซึ่งทำให้การรับมือที่ต้องอาศัยการสื่อสารไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารกับประชาชน นักวางแผนนโยบาย รวมถึงเกษตรกรที่เป็นกลุ่มเปราะบางและจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด

“UNDP ให้ความสำคัญมากกับ Climate Justice หรือความเป็นธรรมในด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งในสังคมปัจจุบันที่มีความเหลื่อล้ำ แต่ละกลุ่มจะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติไม่เท่ากัน กระทบต่อผู้หญิง เด็ก เยาวชน กลุ่ม LGBTQ+ กลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องมองมิติด้านสังคมในการมองเรื่อง climate change นอกเหนือจากมิติสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ซึ่ง UNDP ให้ความสำคัญมาก และจะดำเนินการให้มั่นใจว่าการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายลดก๊าซเรือนกระจก ทุกนโยบายต้องคำนึงถึงกลุ่มเปราะบางเหล่านี้เสมอ” กานท์กลอน กล่าว

(ภาพ : Bangkok Tribune News)

“ระบบจัดการน้ำภาครัฐ มีและทำอยู่” สทนช.

ฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ในด้านการจัดการเรื่องของทรัพยากรน้ำในภาพรวม สทนช. มีการจัดทำแผนร่วมกันกับหน่วยงานอื่น ๆ ออกมาเป็นแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำนำไปให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อนที่จะไปบังคับใช้ ซึ่งในแผนจะมีระบุไว้ว่าหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ อย่างไร ตามบทบาทของหน่วยงาน สำหรับทบบาทของ สทนช. ที่ผ่านมาจะดูในเรื่องของข้อมูลว่าพื้นที่เสี่ยงในแต่ละช่วงเวลาอยู่ที่ไหน วางแผนรับมือ และส่งให้กับข้อมูลที่เกี่ยวข้อง  

“หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ว่าแนวโน้มเป็นอย่างไร เราก็จะส่งให้เครือข่ายภาครัฐ ศูนย์บรรเทาภัยหลัก 7 ศูนย์เราส่งไปหมดเลย ศูนย์ปฏิบัติการนายกฯ กรมประชาสัมพันธ์ เราก็ส่ง ซึ่งหน่วยงานภาครัฐก็จะไปต่อยอดต่อไป เรามีการประเมินวิเคราะห์สถานการณ์ล่วนหน้า ถ้าเป็นเหตุสั้น ๆ ในพื้นที่ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ว่าพื้นที่ไหนจะเกิด แต่หากเป็นพายุเราสามารถประเมินและแจ้งเตือนไปได้ก่อน อย่างกรณีพายุยางิเราเห็นก่อนก็แจ้งเตือนไปก่อน” ฐนโรจน์ กล่าว

นอกจากนั้นในปีนี้ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช. กล่าวว่าได้มีการเสริมการดำเนินการเชิงพื้นที่โดยการตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดผลกระทบโดยดูจากปีที่ผ่าน ๆ มา ศูนย์ส่วนหน้านี้ก็จะช่วยวิเคราะห์ข้อมูลให้กับหน่วยงานในพื้นที่ว่าพื้นที่ไหนเสี่ยงน้ำท่วม จะท่วมเมื่อไหร่ น้ำจะลดเมื่อไหร่ น้ำจะสูงขนาดไหน เพื่อให้หน่วยงานนำไปดำเนินการเพื่อป้องกันต่อไป โดยมีการตั้งขึ้นใน 4 จังหวัดทั่วประเทศ

“ในส่วนการทำงานของ สทนช. กรณีพายุยางิ เราประเมินคาดการณ์ก่อนแล้ว มีเวลาขนาดที่รัฐมนตรีว่าการสำนักนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่เชียงรายก่อนพายุเข้า 2 สัปดาห์ ดูว่ามีการเตรียมการพร้อมหรือยัง เครื่องมือพร้อมไหม มีอะไรยังไม่ดำเนินการ อันนี้คือช่วง 15 – 26 ส.ค.

ในช่วงก่อนพายุเข้า 1 สัปดาห์เราก็ลงพื้นที่ประชุมติดตาม ดูว่ายังมีปัญหาอะไรติดขัดอยู่หรือไม่ มีอะไรเสียไหมถ้ามีก็ให้หน่วยงานในพื้นที่มาช่วยกันซ่อม รวมทั้งดูเครื่องสูบน้ำ ถ้าไม่พอเราก็ระดมเพิ่มเติม นอกจากนี้เรายังเอารถโมบายไปตั้งในพื้นที่เชียงรายให้ประชาชนได้เข้าใจข้อมูล พื้นที่ไหนน้ำเพิ่ม แต่ด้วยข้อจำกัดคือเรามีคันเดียวก็อาจไม่ครอบคลุม

เราทำก่อนเราเสร็จเราแจ้งแล้วไปสู่หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก ๆ ก็คือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ต้องไปต่อยอดต่อให้ถึงพี่น้องประชาชน” ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช. กล่าว

ตัวแทนจากสทนช. ยกตัวอย่างการดำเนินการล่าสุดว่า วันนี้ก็ได้ประกาศไปแล้วถึงการคาดการณ์จาก สทนช. ว่าแม่น้ำวังจะท่วมที่ไหนบ้างในอีก 3 วันข้างหน้า ในกรณีเขื่อนกิ่วคอหมาก็เช่นกันว่าอีก 2 วันจะเริ่มมีน้ำหลากและท่วม

“เรามีข้อมูล เราพยายามที่จะส่งข้อมูล และเราพยายามที่จะลงไปในพื้นที่เสี่ยงเพื่อให้ข้อมูลกับพี่น้องประชาชน” ตัวแทนจากสทนช. กล่าว

(ภาพ : GreenNews)

“ไม่บูรณาการ-ยังรับมือไม่เท่าทันสภาพปัญหา” เสียงจากภาคประชาสังคม-พื้นที่

หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดต่อเนื่องกัน ใช้เพียงแค่ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่สามารถสั่งการได้ ต้องมีการสั่งการข้ามกระทรวงซึ่งผู้ที่มีอำนาจคือระดับรัฐมนตรี รองนายกฯ หรือนายกฯ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความกังวลของชาวบ้านในพื้นที่ด้วยว่าตอนนี้มีความสับสนในเรื่องของข้อมูลไม่รู้ว่าจะตรวจสอบกับหน่วยงานไหน ดังนั้นอีกหนึ่งเรื่องคือต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลให้ชัดเจน

ขณะที่ ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทและเครือข่ายภัยพิบัติชุมชน กล่าวว่า ระบบเตือนภัยที่มีปัจจุบันยังคงเข้าไม่ถึงประชาชน รวมถึงต่อให้เข้าถึงประชาชนแต่ข้อมูลที่ สทนช. กรมอุตุฯ แจ้งเตือนมาก็มีความเข้าใจยาก ประชาชนไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นจึงเสนอให้มีหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่เตือนให้ประชาชนในรูปแบบที่เข้าใจง่าย หากสามารถทำได้ก็จะทำให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งมากขึ้น

ด้าน ณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ จ.แพร่ ได้แลกเปลี่ยนในเวทีว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการแจ้งเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมเลย รวมถึงตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดหน่วยงานอย่างกรมชลประทานจึงไม่ดำเนินการผันน้ำเข้าคลองชลประทานซึ่งจะช่วยลดระดับการไหลของน้ำไม่ให้กระทบกับจังหวัดแพร่โดยตรงได้

อภิชาต รุ่งเรือง รองประธานเครือข่ายค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ กล่าวว่าในพื้นที่มีการจัดการน้ำที่ดี เป็นการจัดการน้ำที่บูรณาการในระดับชุมชนแบบสะเอียบโมเดล ได้รับการยอมรับจากหลายภาคส่วนที่อยากนำไปปรับใช้กับพื้นที่ตนเอง ซึ่งถ้านำไปใช้จริงคาดว่าจะลดผลกระทบในหลายพื้นที่ทั้งลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำคือพอเกิดน้ำท่วมในระดับวิกฤตก็จะกลับมาปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็นและจะสร้างผลกระทบให้กับคนในพื้นที่

Source : https://greennews.agency/?p=38890