บทความนี้เขียนขี้นโดย โรซาเลีย ชอร์ติโน และถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในเว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2566
เราเรียนรู้ที่จะคุ้มครองสังคมแค่ไหนหลังโควิด 19
แม้ไม่อาจพูดได้ว่าเราได้ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 โดยสิ้นเชิงแล้ว แต่ก็เป็นเวลานานพอที่จะมีบทเรียนต่างๆ จากการฝ่าวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้เราสามารถนำไปปรับปรุงนโยบายของรัฐให้มีประสิทธิภาพ และรองรับวิกฤติสังคมได้ดีขึ้น แต่เนื่องจากความซับซ้อนและความพัวพันกันของปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ปัญหาโควิด-19 ไม่ใช่แค่เป็นปัญหาสุขภาพ แต่เป็นปัญหาที่เรียกว่า Syndemic คือ เป็นการระบาดที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงมาจากต้นตอมากกว่าหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กันหรือต่อเนื่องกัน โควิด-19 อาจจะเริ่มต้นที่ปัญหาสุขภาพ แต่ในที่สุดก็เกิดผลกระทบในวงกว้างทั้งเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม
การระบาดของโควิดไม่ได้สร้างปัญหาเดียว แต่สร้าง ขยาย และตอกย้ำปัญหาไปบนความซับซ้อนเชิงโครงสร้างและรอยร้าวที่มีอยู่เดิมในสังคมต่างๆ เกี่ยวกับการจ้างงาน ชนชั้น เพศสภาพ ชาติพันธุ์ซึ่งทำให้เกิดปัญหาสุขภาพและปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิมรุนแรงและแก้ไขยากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นปัญหาที่มีผลต่อกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางมากกว่ากลุ่มอื่น
แม้ว่าอาจจะมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการแก้ไขปัญหา โดยใช้มาตรการทางสังคมเชิงกายภาพ (เช่น การรักษาระยะห่าง การลดความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน) และการให้การป้องกันเชิงชีวภาพ (เช่น การฉีดวัคซีน) ก็ไม่อาจจะลบล้างผลกระทบแบบ Syndemic ได้อย่างยั่งยืน และเมื่อเกิดโรคระบาดครั้งใหม่ปัญหาเดิมๆ ก็จะหวนกลับมาอีก แล้วจะไม่มีใครจะมีความปลอดภัยอย่างแท้จริง หากโครงสร้างของสังคมยังมีความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาค ดังนั้น ถ้าจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมเพื่อให้รับมือกับการระบาดในอนาคตได้ดีขึ้นก็คือ การสร้างระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ดี
Polanyi (1994) เคยกล่าวไว้ว่า ความสำคัญของการคุ้มครองทางสังคมก็เพื่อที่จะกำกับระบบเศรษฐกิจตลาดให้มีหลักประกันว่าประชาชนจะมีชีวิตที่ดีจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้น ระบบเศรษฐกิจตลาดที่ไม่มีการคุ้มครองทางสังคมจะสร้างความเสี่ยงให้เกิดความขัดแย้งในสังคมและการต่อต้านจากกลุ่มคนยากจนหนักขึ้น
การคุ้มครองทางสังคมคืออะไร องค์กรระหว่างประเทศให้นิยามว่า การคุ้มครองทางสังคมเป็นการใช้นโยบายที่หลากหลายต่อการคุ้มครองแรงงานและกลุ่มเปราะบาง เมื่อเกิดผลกระทบต่อรายได้อย่างไม่คาดฝันและเพื่อลดความเสี่ยงต่ออุบัติภัยต่างๆ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและเกิดอานิสงส์ทั่วหน้า
ดังนั้น นโยบายการคุ้มครองทางสังคมจึงหมายรวมถึงการป้องกันการใช้แรงงานที่ยุติธรรม การเพิ่มทุนสังคม การลดการกีดกันในสังคม และการคุ้มครองกลุ่มเปราะบางจากผลกระทบอย่างไม่คาดฝันจากภัยธรรมชาติและการแปรผันทางเศรษฐกิจสังคมรวมไปถึงนโยบายที่ป้องกันการใช้ความรุนแรงและความไม่สงบ
ในระดับการปฏิบัติการ ระบบคุ้มครองทางสังคมรับประกันความมั่นคงทางรายได้ และการเข้าถึงการรักษาพยาบาลสำหรับทุกคน ซึ่งอาจจะเป็นในลักษณะของเงินเยียวยา เงินบำนาญ การให้สิ่งของและสวัสดิการทางสังคม สำหรับกลุ่มเปราะบางต่างๆ การคุ้มครองทางสังคม ไม่จำเป็นจะต้องเป็นการได้รับสวัสดิการฟรี และอาจจะเป็นการคุ้มครองที่มีระบบร่วมจ่ายโดยผู้รับผลประโยชน์ได้
ผู้เขียนได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 ให้ศึกษาและเปรียบเทียบระบบคุ้มครองทางสังคมของประเทศในอาเซียนบางประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด 19 อย่างรุนแรง ทีมวิจัยนานาชาติพบว่า ความพยายามของรัฐที่จะแก้ปัญหากลับซ้ำเติมปัญหาสังคมที่มีอยู่เดิม มาตรการของรัฐไม่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาที่แท้จริง เช่น การจำกัดการเดินทางเหมาะกับชนชั้นกลางมากว่าชนชั้นแรงงาน ในประเทศเวียดนาม แรงงานย้ายถิ่นกล้าพอที่จะท้าทายอำนาจรัฐเพื่อหาทางที่จะกลับบ้าน เพราะเป็นโอกาสรอดจากการอดตายในเมืองเมื่อตกงาน
ถึงแม้ประเทศไทยซึ่งมีระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ครบถ้วนที่สุดในบรรดาประเทศที่ศึกษา แต่ความช่วยเหลือจากภาครัฐก็ยังน้อยไป ช้าไป และไปไม่ถึงผู้ที่ต้องการมากที่สุด และยังมีข่าวคราวของหนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้นและการฆ่าตัวตาย แม้แต่ในสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วโควิด 19 ได้เปิดเผยให้เห็นถึงสภาพของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เลวร้ายและต่ำกว่าสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งมีการล็อกดาวน์ยาวที่สุดในโลกกลับกลายเป็นชาติที่อยู่ในกลุ่มที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดในภูมิภาค
การวิเคราะห์ในภาพรวมพบว่า รัฐบาลในอาเซียนรีบจัดหาและเพิ่มมาตรการการคุ้มครองทางสังคม และได้ใช้งบประมาณอย่างมหาศาลในการคุ้มครองประชาชน แต่กลับพบความย้อนแย้ง (Paradox) ที่เกิดจากอคติเชิงระบบ (Systemic bias) ที่ทำให้ความพยายามที่ช่วยเหลือกลับทำให้ความเหลื่อมล้ำมากไปกว่าเดิม แม้แต่ประเทศไทยซึ่งมีการคุ้มครองพร้อมเพรียงกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ในภาพรวมทุกประเทศพบว่า รัฐบาลไม่ได้เน้นการให้ความรู้ต่อสาธารณชน เกี่ยวกับความสำคัญของมาตรการทางสังคมที่ใช้และวิธีการใช้อย่างถูกต้องและไม่ได้ให้ความสนใจเพียงพอที่จะจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นตั้งแต่หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เจลล้างมือ เครื่องตรวจวัด ATK และชุด PPE อย่างเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะผู้ยากไร้สามารถที่จะคุ้มครองตัวเองได้
การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลใหม่จะได้ทบทวนมาตรการโดยเฉพาะกลไกที่ยังไปไม่ถึงคนที่ต้องการการคุ้มครองมากที่สุด
ผู้ที่สนใจการศึกษานี้สามารถเข้าร่วมงานเสวนาของทีมวิจัยนานาชาติเพื่อเปิดตัวหนังสือเรื่อง “Who Cares? COVID-19 Social Protection Response in South East Asia” โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่ มูลนิธิ SEA Junction ชั้น 4 ห้อง 408 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 2 มิ.ย.2566 เวลา 17.30 น. เป็นต้นไป
*** The writer is director of SEA Junction, emeritus Asia regional director of the International Development Research Center (IDRC) and the Rockefeller Foundation, and senior adviser to Australian Aid in Indonesia. The views expressed are her own.
Disclaimer: The opinions expressed in this article are those of the author and do not reflect the official stance of The Bangkokbiznews.
Source: https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1067229