- This event has passed.
นิทรรศการ“การ์ตูนภาพ วิถีอาเซียน หลักการการไม่แทรกแซงกิจการภายใน และหลักฉันทามติของประชาคมอาเซียน” “Cartooning the ASEAN Way of Non-Interference and Consensus”
October 22 @ 10:00 am - November 3 @ 8:00 pm
SEA Junction ร่วมมือกับ Asia Justice and Rights (AJAR) จะจัดนิทรรศการ “การ์ตูนภาพ วิถีอาเซียนของหลักการการไม่แทรกแซงกิจการภายใน และหลักฉันทามติของประชาคมอาเซียน” วันที่ 22 ตุลาคม ถึง 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ ผนังโค้ง ชั้น 4 (จัดแสดงภาพวาดเล่าเรื่องหรือคอมิค) และ มุมสามเหลี่ยม ชั้น 1 (จัดแสดงการ์ตูน) หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครฯ เพื่อร่วมกันสะท้อนถึงบทบาทของอาเซียนในอนาคตกับการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันรวมถึงประเด็นต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในภูมิภาค
วิกฤตโรคระบาดโควิด 19 รัฐประหารในเมียนมา การเปลี่ยนแปลงเชิงเผด็จการในประเทศสมาชิกอื่นๆในอาเซียน ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และความกดดันจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ดึงดูดความสนใจมายังประชาคมอาเซียน ก่อให้เกิดคำถามสำคัญว่าอาเซียนกำลังทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่หรือล้มเหลวในบทบาทของตน และได้ฉายให้เห็นถึงการพัฒนาและการมีปฏิสัมพันธ์ในระดับภูมิภาค พร้อมกับคำถามที่เพิ่มขึ้นว่า อาเซียนนั้นยังเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นศูนย์กลางจริงๆตามที่อ้างอิงในกฏบัตรอาเซียนหรือไม่ และ อาเซียนกำลังมุ่งทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ “เพื่อใคร” นอกจากนี้ ยังมีความเร่งด่วนในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในสาธารณะเกี่ยวกับ “วิถีอาเซียน” โดยเฉพาะหลักการสองหลักขององค์กรอาเซียน นั่นคือ “ฉันทามติ” และ “การไม่แทรกแซง”
หลักการทั้งสองที่กล่าวถึงนี้เป็นที่ถกเถียงกันในปัจจุบัน โดยหลักฉันทามติ ถูกมองว่าเป็นบทบาทเชิงบวกที่สร้างเสริมความเป็นเอกภาพของประเทศสมาชิกที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทว่าก็มักจะมีการโต้ตอบที่ล่าช้า ส่งผลให้ผู้คนบางส่วนโต้แย้ง และสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนหลักการนี้ให้เป็นระบบตามเสียงข้างมาก เพื่อสร้างประสิทธิภาพ เช่นเดียวกัน หลักการการไม่แทรกแซงกิจการภายในก็ถูกมองว่าได้สร้างผลเชิงบวกเพื่อป้องกันการแทรกแซง และส่งเสริมการเคารพซึ่ง “ความเป็นเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค อธิปไตยเหนือดินแดน และเอกลักษณ์ทางเชื้อชาติของทุกๆชาติ” ดังที่ได้กล่าวไว้ในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Animity) อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤตทางด้านสิทธิมนุษยชนที่ตกต่ำลงในภูมิภาคโดยเฉพาะในเมียนมา และภัยคุกคามข้ามพรมแดนที่กำลังก่อตัวขึ้น อาเซียนได้ประสบความล้มเหลวในการให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนและในการให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของพวกเขาหากอ้างอิงจากหลักการเดียวกันนี้
เป้าหมายของนิทรรศการนี้ คือเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และสนับสนุนความเข้าใจเชิงวิพากษ์ต่อประชาคมอาเซียน ในด้านหลักการฉันทามติและการไม่แทรกแซงกิจการภายใน โดยทั้งภาพวาดการ์ตูนและคอมิคผสมผสานองค์ประกอบทั้งตัวอักษรและภาพวาดเพื่อแสดงถึงไอเดีย และสร้างเรื่องเล่าเพื่อสื่อสารถึงแนวคิด สร้างสมดุลระหว่างความขบขันและเรื่องจริงจัง คอมิคและการ์ตูนจากผู้เข้าร่วมจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหล่านี้ สื่อถึงบทบาทของอาเซียนผ่านองค์ประกอบทางทัศนศิลป์ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ เราเชื่อว่าด้วยวิธีนี้ ภาพวาดการ์ตูนเหล่านี้จะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชม ให้ฉุกคิดถึงการปกครองระดับภูมิภาคในระดับอาเซียน และจุดประกายให้เกิดการพูดคุยอย่างจริงจัง ถึงขั้นตอนที่จำเป็นในการสร้างประชาคมอาเซียนที่มี ‘ประชาชนเป็นศูนย์กลาง’ อย่างแท้จริง
นิทรรศการนี้จะประกอบด้วยผลงานของผู้ชนะการประกวด “การ์ตูนภาพ วิถีอาเซียน หลักการการไม่แทรกแซงกิจการภายใน และหลักฉันทามติของประชาคมอาเซียน” ทั้งในหมวดการ์ตูนและหมวดภาพวาดเล่าเรื่องหรือคอมิค รวมถึงผลงานที่ถูกคัดเลือกจากผู้ร่วมประกวดคนอื่น ๆ รายชื่อของผู้ชนะการประกวดมีดังต่อไปนี้
คอมิค หรือการ์ตูนภาพเล่าเรื่อง
รางวัลที่ 1 Gandjar Harta Widodo จากประเทศอินโดนีเซีย
รางวัลที่ 2 Christian Oliver A. Cruz จากประเทศฟิลิปปินส์
รางวัลที่ 3 Priyo Wicaksono จากประเทศอินโดนีเซีย
รางวัลชมเชย ได้แก่ Twinkle I. Mangi จากประเทศฟิลิปปินส์ Kyaw Lin จากประเทศเมียนมา และกานตพงศ์ ราชนิยม จากประเทศไทย
ประเภทการ์ตูน
รางวัลที่ 1 Joshua Ezekiel C. Bolofer จากประเทศฟิลิปปินส์
รางวัลที่ 2 Ye Thway Ni จากประเทศเมียนมา
รางวัลที่ 3 Wahyu Erliandra จากประเทศอินโดนีเซีย และ Iris Athena Serrano จากประเทศฟิลิปปินส์
รางวัลชมเชย T.H.A. จากประเทศเมียนมา Arts by Kid จากประเทศเมียนมา และ Lisa Maharani จากประเทศอินโดนีเซีย
สำหรับข้อมูลหรือคำถามเพิ่มเติม โปรดติดต่อที่ info@seajunction.org โทรศัพท์ +66970024140 หรือผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียทุกช่องทางขององค์กร
ผู้จัดงาน
SEA Junction ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2559 ภายใต้การดำเนินการของมูลนิธิเพื่อการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งสร้างความเข้าใจและความซาบซึ้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทุก ๆ ด้านของมิติสังคมวัฒนธรรม ตั้งแต่ศิลปะและวิถีชีวิต ไปจนถึงเศรษฐกิจและการพัฒนา ตั้งอยู่ที่ห้อง 407-8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร SEA Junction ได้ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งความรู้และการแลกเปลี่ยนของบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สนใจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาดูที่หน้าเว็บไซต์ www.seajunction.org เข้าร่วมกลุ่ม Facebook http://www.facebook.com/groups/1693058870976440/ และติดตามเราทาง Twitter หรือ Instagram ที่ @seajunction
ร่วมมือกับ
Asia Justice and Rights (AJAR)
AJAR เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย โดยมีเป้าหมายเพื่อมีส่วนสนับสนุนการเสริมสร้างสิทธิมนุษยชนและบรรเทาปัญหาการนิรโทษกรรมที่หยั่งรากลึกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก งานของ AJAR มุ่งเน้นที่ประเทศต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านจากบริบทสภาพแวดล้อมของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแพร่หลายไปสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างวัฒนธรรมบนพื้นฐานของความรับผิดชอบ ความยุติธรรม และความเต็มใจที่จะเรียนรู้จากสาเหตุหลักของวัฒนธรรมการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นวงกว้าง เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากรัฐซ้ำอีก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดูที่ www.asia-ajar.org