- This event has passed.
การควบคุม (หรือครอบงำ) ภาคประชาสังคมในไทย?
22 April, 2021 @ 5:30 pm - 7:00 pm
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน และเพิ่งได้ผ่านพ้นช่วงรับฟังความคิดเห็นของประชาชนบนหน้าเว็บไซต์ของสำนักงานฯ นอกจากนี้ ยังมีร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ต่างมีผลกระทบต่อภาคประชาสังคมและองค์กรไม่แสวงหากำไรนอกภาครัฐ (NGOs) รวมไปถึงการดำเนินงานของกลุ่มองค์กรดังกล่าวในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้องค์กร NGOs ทั้งระดับชาติและระหว่างประเทศจำนวนหนึ่งได้ยื่นข้อวิจารณ์ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาข้อกฎหมาย โดยมุ่งหวังว่าภาคประชาสังคมจะยังคงสามารถแสดงบทบาทอันสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาที่ครอบคลุมและเป็นธรรม รวมถึงการสนับสนุนความเป็นอยู่ของภาคส่วนที่มีความเปราะบางมากที่สุดในสังคม
ร่าง พ.ร.บ. ฉบับแรกที่กล่าวถึงข้างต้นได้รับความสนใจและเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้าง เนื่องจากมีการนิยามความหมายอันกว้างขององค์กรไม่แสวงกำไร อีกทั้งมีเงื่อนไขที่จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคประชาสังคม ตามที่ได้ร่างไว้ในขณะนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ครอบคลุมถึงเรื่องการบังคับการจดแจ้งต่อกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (ความผิดต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินหกปี และ/หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท), การรับเงินทุนจากต่างชาติมาใช้ดำเนินกิจกรรมจะใช้ได้เฉพาะกิจกรรมที่รัฐมนตรีกำหนดเท่านั้น, ผู้รับจดแจ้งการดำเนินงานมีอำนาจเข้าไปในสถานประกอบการ รวมทั้งมีอำนาจตรวจสอบและทำสำเนาข้อมูลจราจรทางอิเล็กทรอนิกส์ขององค์กรได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อบังคับอันล่วงล้ำสิทธิ์ให้มีการตรวจสอบและให้รายงานการดำเนินการใช้จ่ายเงินและการดำเนินกิจกรรมอย่างเคร่งครัดมากยิ่งขึ้น
เพื่อที่จะทำความเข้าใจรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับให้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ในการสะท้อนข้อคิดเห็นเรื่องการสร้าง(หรือทำลาย)สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำงานของภาคประชาสังคม หลังจากที่ได้จัดงานเสวนาในภาษาอังกฤษ “Regulating – or Ruling – Civil Society in Thailand?” ไปแล้วเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา งานเสวนาอภิปรายเรื่อง “การควบคุม (หรือครอบงำ) ภาคประชาสังคมในไทย?” จะจัดขึ้นในวันที่ 22 เมษายน 2564 เวลา 17.30 น. ที่ SEA Junction ชั้น 4 หอศิลปกรุงเทพฯ โดยจะสรุปภาพรวมของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อพื้นที่ประชาสังคม (จัดในภาษาไทย) ร่วมอภิปรายโดย:
- สัณหวรรณ ศรีสด,ที่ปรึกษากฎหมายคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ)
- Phil Robertson, รองผู้อำนวยการสำนักงานเอเชีย Human Rights Watch
- สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง, กรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
- นาดา ไชยจิตต์, ที่ปรึกษาการรณรงค์สิทธิมนุษยชน มูลนิธิมานุษยะ (Manushya Foundation)
งานนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของชุดงานเสวนาเรื่องบทบาทของภาคประชาสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้ริเริ่มในปี 2562 สำหรับงานเสวนาในครั้งนี้จะมีการถ่ายทอดสดผ่านทางหน้าเพจ Facebook และจะจำกัดผู้เข้าร่วมงาน โดยให้สิทธิ์แก่ผู้ที่มาก่อนหรือผู้ที่ได้สำรองที่นั่งไว้ล่วงหน้า
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม หรือ สำรองที่นั่งล่วงหน้า กรุณาอีเมล southeastasiajunction@gmail.com หรือโทรศัพท์ +66970024140
หมายเหตุ เข้าร่วมงานฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย (ยินดีรับเงินบริจาค)
ผู้จัดงาน:
Human Rights Watch (HRW)
HRW เป็นองค์การนอกภาครัฐระหว่างประเทศซึ่งทำวิจัยและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก ก่อตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2521 โดยได้ดำเนินการใน 90 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ดูที่ https://www.hrw.org/
SEA Junction
SEA Junction ภายใต้การดำเนินการของมูลนิธิเพื่อการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งสร้างความเข้าใจและความซาบซึ้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทุก ๆ ด้านของมิติสังคมวัฒนธรรม ตั้งแต่ศิลปะและวิถีชีวิต ไปจนถึงเศรษฐกิจและการพัฒนา ตั้งอยู่ที่ห้อง 408 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร SEA Junction ได้ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งความรู้และการแลกเปลี่ยนของบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สนใจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาดูที่หน้าเว็บไซต์ www.seajunction.org เข้าร่วมกลุ่ม Facebook http://www.facebook.com/groups/1693058870976440/ และติดตามเราทาง Twitter หรือ Instagram ที่ @seajunction