นิทรรศการศิลปะ “มหากาพย์แห่งเมียนมา: 4 ปีแห่งการต่อสู้และการพลัดถิ่น”
28 January, 2025 @ 11:00 am - 9 February, 2025 @ 7:00 pm
นิทรรศการนี้ซึ่งประกอบด้วยผลงานของ ชเว วุต มอง ศิลปินชาวเมียนมา เกิดขึ้นจากความสมานฉันท์ของชาวเมียนมาซึ่งได้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมานับตั้งแต่การรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ภายในไม่กี่วันหลังรัฐประหาร เยาวชนและผู้คนทุกช่วงวัยจากหลากหลายภูมิหลังได้หลั่งไหลลงสู่ท้องถนนด้วยความโกรธแค้นเพื่อประท้วงต่อต้านทหาร ตั้งแต่นั้นมา นับเป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้วที่ชาวเมียนมาได้เรียกร้องให้มีการรื้อฟื้นระบอบประชาธิปไตยและปล่อยตัวเหล่าผู้นำและนักโทษทางการเมืองคนอื่น ๆ ที่ถูกกักขังทั้งหมด แม้ต้องเผชิญกับมาตรการปราบปรามด้วยความรุนแรงจากกองทัพ
ท่ามกลางความล้มเหลวของประชาคมระหว่างประเทศในการให้ความสนใจและดำเนินการตอบโต้ เหล่าประชาชนชาวเมียนมาต่างก็ไม่ยอมแพ้ ยังคงให้การสนับสนุนแก่รัฐบาลพลัดถิ่นฝ่ายตรงข้าม นั่นก็คือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government) เยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมากได้ลุกฮือขึ้นจับอาวุธและเข้าร่วมการต่อสู้เป็นหนทางสุดท้ายเพื่อต่อต้านเผด็จการ ผ่านการพึ่งพาฝ่ายต่อต้านติดอาวุธโดยกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People Defence Force) และกองทัพชาติพันธุ์ (Ethnic Armies) เพื่อยึดฐานที่มั่นและคว้าชัยในการปฏิวัติอย่างเบ็ดเสร็จ
การต่อต้านของพวกเขามาพร้อมกับราคาสูงที่ต้องจ่าย จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2567 ผู้คนกว่า 5,973 คนถูกสังหารโดยเผด็จการทหาร และกว่า 27,694 คนถูกจับกุม โดยคนกว่า 21,137 คนกำลังถูกคุมขัง และมี 170 คน ได้รับโทษประหารชีวิต เด็ก 577 คนถูกจับกุมและกว่า 660 คนถูกฆ่า (อ้างอิงจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมือง: AAPP) ตัวเลขผู้พลัดถิ่นในประเทศและนอกพรมแดนพุ่งสูงกว่า 3 ล้านคนและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ต่างเดินทางออกนอกประเทศเพื่อหนีมาตรการบังคับเกณฑ์ทหารของกองทัพ
SEA Junction ขอนำเสนอนิทรรศการศิลปะแห่งการรำลึกการครบรอบรัฐประหารครั้งที่สี่นี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการอุทิศเพื่อสร้างความตื่นรู้ต่อวิกฤตการรัฐประหารในเมียนมาในหมู่สาธารณชนทั่วไปผ่านศิลปะ ในปีนี้ แก่นของนิทรรศการมุ่งเน้นไปที่ผลกระทบของการรัฐประหารในฐานะ ‘มหากาพย์การเดินทาง’ เพื่อสื่อสัญญะถึงการเดินทางอันยาวนานและอันตรายของการท้าทายเผด็จการรวมไปถึงบรรทัดฐานปิตาธิปไตยหรือวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ซึ่งเป็นแก่นกลาง และการโยกย้ายพลัดถิ่นของผู้คนจากเมียนมาทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดย ชเว วุต มอง ศิลปินช่างภาพ แสดงออกถึงจุดเชื่อมโยงเหล่านี้ผ่านซีรีส์งานศิลปะสามชุดในสื่อผสมผสานซึ่งร่วมกันนำเสนอภาพถ่ายหลากหลายแง่มุมของการผจญภัยที่ยังคงดำเนินอยู่ ณ ปัจจุบัน ในขณะที่การต่อสู้เพื่อประเทศเมียนมาในรูปแบบใหม่ก็ยังดำเนินต่อไป ดังที่อธิบายไว้สั้นๆ ด้านล่าง:
วัยเยาว์นิรันดร์ (2564-2565)
ในผลงาน ‘วัยเยาว์นิรันดร์’ โดยชเว วุต มอง ภาพถ่ายคู่แฝด ซึ่งประกอบด้วยภาพถ่ายคอลลาจของผู้ประท้วงรุ่น Gen Z ถูกอุทิศเพื่อเยาวชนชาวเมียนมาผู้ถูกหลงลืม ชีวิตและความฝันของพวกเขาได้ถูกทำลายลง ทว่าพวกเขาก็ยังคงอุทิศตนอย่างใหญ่หลวงเพื่อรักษาปกป้องประเทศของพวกเขาเอาไว้จากระบอบเผด็จการ เมื่อภาพถูกถมพื้นหลังให้เต็มไปด้วยสีแดงฉาน ใบหน้าของผู้ประท้วงในภาพถ่ายทั้งสองชุด ซึ่งแต่ละชุดประกอบด้วยรูปถ่าย 21 ภาพ (ชุดหนึ่งจัดไว้บนพื้นหลังสีขาวขณะที่อีกชุดจัดไว้บนพื้นหลังสีดำ) ก็เลือนหายไปอย่างน่าทึ่ง ใบหน้าและตัวตนที่แท้จริงของผู้ประท้วงถูกซ่อนอยู่ในความวุ่นวายโกลาหลที่น่ากระอักกระอ่วน ที่บางครั้งก็ถูกบดบังด้วยดอกไม้ฤดูใบไม้ผลิละเอียดอ่อน และบางครั้งก็ถูกบดบังด้วยปืนและกระสุน ชุดภาพถ่ายนี้บันทึกเรื่องราวความโกรธแค้นต่อระบอบเผด็จการซึ่งได้พบกับพื้นที่ทางออกใหม่ในความแปลกประหลาดทางภาษา วัฒนธรรม และโวหารของกลุ่ม Gen Z ของประเทศเมียนมา
รูปถ่ายของสตรีนิรนาม
ดังที่กล่าวไว้ด้วยปลายปากกาของนักเขียน เวอร์จิเนีย วูลฟ์ “ในประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ที่ผ่านมา นามปากกานิรนามมักเป็นของผู้หญิง” เหล่าผู้หญิงซึ่งอยู่ท่ามกลางกลุ่มช่างภาพซึ่งบันทึกเหตุการณ์รัฐประหารยังคงถูกมองข้ามและเป็นบุคคลนิรนามอยู่จนถึงทุกวันนี้ ภาพถ่ายบุคคลชุดนี้มุ่งหมายที่จะนำเสนอเหล่าผู้ใช้เลนส์กล้องเป็นเครื่องมือ ตั้งแต่ช่างถ่ายภาพและนักสร้างภาพยนตร์ไปจนถึงนักถ่ายภาพวารสารศาสตร์และศิลปิน ที่ล้วนเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของรัฐประหารปี 2564 ด้วยการใช้ภาพเหตุการณ์รัฐประหารเป็นฉากหลัง และถ่ายโดยศิลปินผู้เข้าร่วมเอง นิทรรศการนี้นำเสนอภาพของผู้หญิงเหล่านี้ในท่วงท่าการทำงานอย่างมืออาชีพ พร้อมด้วยคำบอกเล่าจากปากของพวกเธอ ผลงานชุด ‘รูปถ่ายของสตรีนิรนาม’ กล่าวถึงประวัติศาสตร์ร่วมของเหล่าศิลปินหญิงผู้เคยเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิแห่งเมียนมา โดยผลงานได้บันทึกถึงการต่อสู้ พลังความแข็งแกร่ง การทำงาน และการมีส่วนสนับสนุนของพวกเธอได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง
“อนุญาต” ให้อยู่
ศิลปินได้เดินทางออกจากเมียนมาภายหลังการรัฐประหารและได้ย้ายมาอาศัยอยู่ที่เชียงใหม่เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ซึ่งเธอพยายามสร้างชีวิตใหม่ขณะต้องลี้ภัย และต้องดิ้นรนหาความมั่นคงและความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งกับที่แห่งใหม่ ซีรีส์ภาพถ่ายบุคคลแบบสื่อผสมนี้ สำรวจค้นหาเรื่องราวของการอพยพและการพลัดถิ่น โดยบอกเล่าเรื่องราวการผจญภัยของของศิลปินผ่านการผสมผสานของความยุ่งเหยิง ขบขัน และการเสียดสีตัวเอง ซึ่งถูกถ่ายทอดด้วยผลงานพิมพ์มือและสร้างประกอบชิ้นงานด้วยมือ ร่างและเติมสีบนกระดาษสาซึ่งเป็นวัสดุดั้งเดิมในพื้นที่ภาคเหนือของไทย ชุดภาพซึ่งประกอบด้วยรูปภาพ 10 รูปนี้ ถ่ายทอดการพบพานเชื่อมต่อกันระหว่างอัตลักษณ์ของศิลปินในฐานะผู้ถือหนังสือเดินทางชาวเมียนมา ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือเดินทางที่มีสถานะได้รับความคุ้มครองน้อยที่สุด และถูกเลือกปฏิบัติมากที่สุดในโลก การอพยพของเธอมายังประเทศไทย และชีวิตอันไร้จุดหมายปลายทางของเธอ ในขณะที่เธอยอมรับสถานะของตัวเองที่อยู่ในจุดที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับผู้อพยพจากสงครามและบุคคลไร้รัฐคนอื่นๆ ศิลปินยังได้เปิดเผยถึงภาระทางอารมณ์และทางการเงินจากการใช้ชีวิตในช่วงการเปลี่ยนผ่านอย่างต่อเนื่อง ภาพสะท้อนถึงภาระของการอพยพนี้ และความยืดหยุ่นที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในฐานะผู้อพยพ นำเสนอมุมมองส่วนตัวที่ลึกซึ้งแต่ก็สะท้อนถึงประสบการณ์ร่วมสมัยของผู้คน
ประวัติศิลปิน
ชเว วุต มอง เป็นช่างภาพและศิลปินสื่อผสมชาวพม่า เธอเคยมีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหารซึ่งโค้นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี พ.ศ. 2564 เธอได้สร้างสรรค์ผลงาน ‘วัยเยาว์นิรันดร์’ และ ‘รูปถ่ายของสตรีนิรนาม’ ในระหว่างเหตุการณ์การปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ ผลงานที่เป็นดั่งบทกวีของเธอมักเป็นภาพถ่ายที่ชวนให้ใคร่ครวญ และลึกซึ้ง ซึ่งถูกถ่ายในพื้นที่ปิดและเป็นส่วนตัว ตั้งแต่ที่ชเวได้ย้ายมาที่เชียงใหม่เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เธอก็เริ่มสนใจที่จะทดลองพิมพ์ภาพถ่ายเซลฟี่ที่สร้างผ่านเครื่องสแกนลงบนกระดาษสา
สำหรับข้อมูลหรือคำถามเพิ่มเติม โปรดติดต่อที่ info@seajunction.org โทรศัพท์ +66970024140 หรือผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียทุกช่องทางขององค์กร
นิทรรศการเข้าชมฟรีและไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้ชมสามารถร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของ SEA Junction
ผู้จัดงาน
SEA Junction ก่อตั้งภายใต้การดำเนินการของมูลนิธิเพื่อการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งสร้างความเข้าใจและความซาบซึ้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทุก ๆ ด้านของมิติสังคมวัฒนธรรม ตั้งแต่ศิลปะและวิถีชีวิต ไปจนถึงเศรษฐกิจและการพัฒนา โดยตั้งอยู่ที่ห้อง 407-8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (ตรงข้ามกับ MBK และสถานีบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ SEA Junction ได้ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งความรู้และการแลกเปลี่ยนของบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สนใจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาดูที่หน้าเว็บไซต์ www.seajunction.org เข้าร่วมกลุ่ม Facebook http://www.facebook.com/groups/1693058870976440/ และติดตามเราทาง Twitter, Bluesky หรือ Instagram ที่ @seajunction