ที่มา (Description)
หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารในพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ส่งผลให้เกิดการสู้รบทางอาวุธระหว่างรัฐบาลเผด็จการทหารและกลุ่มผู้ต่อต้านเผด็จการ ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบด้านปัญหาทางสิทธิมนุษยชน ทั้งการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ได้รับผลกระทบมากขึ้นจากสถานการณ์ดังกล่าว ตามรายงานของ ทอม แอนดรูว์ ผู้ตรวจการพิเศษสถานการณ์ในเมียนมา ได้อธิบายว่าหลังการรัฐประหารมีประชากรมากกว่า 4,600 คนถูกสังหาร และมีการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและความมนุษย์อย่างรุนแรงภายใต้สภาวะสงคราม มีการคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้พลัดถิ่นเกินกว่า 3.6 ล้านคนภายในปี 2024 ในด้านการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมคาดการณ์ว่าจะมีเพื่อนชาวพม่ากว่า 18.6 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้คาดว่าเป็นเด็กกว่า 6 ล้านคนที่ต้องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนภายในปี 2024 มีการขาดปัจจัยขั้นพื้นฐานหลายอย่าง ทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยา รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักโทษทางการเมืองเป็นจำนวน 20,124 คนภายในปี 2024 รวมถึงการซ้อมทรมานและข่มขืน มีคนพม่าและเยาวชนหลายคนที่สูญเสียอนาคตและตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืน (CDM: Civil Disobedience Movement) เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการเรียกร้องประชาธิปไตย ณ ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า เพื่อความอยู่รอดกลุ่มพี่น้องเพื่อนชาวพม่าจำเป็นจะต้องหนีภัยสงครามและความไม่สงบมายังฝั่งไทย มีการคาดการณ์อย่างไม่เป็นทางการว่ามีผู้ลี้ภัยหลบเข้ามาฝั่งไทยกว่าหลักหมื่นคนและมีแนวโน้มที่จำนวนจะเพิ่มมากขึ้น และปัญหาความไม่สงบในพม่ายังคงมีแนวโน้มที่ไม่สงบในเร็ววัน
ประเทศไทย ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญของพม่า ทิศทางทางการเมืองและทัศนคติของคนในสังคมไทยจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อปัญหาและ สถานการณ์ในพม่า ทางเครือข่ายเยาวชนจากประเทศไทย พม่าและรวมถึงประเทศอื่นๆ นำโดยกลุ่ม “พันธมิตรชานม (Milk Tea Alliance)” จึงได้จัดงานเสวนา “บทบาทของอินฟลูเอนเซอร์ต่อประเด็นสันติภาพในพม่า” (The Role of Influencers for Peace in Myanmar) ซึ่งอยู่ภายใต้แคมเปญรณรงค์ “To be a Good Host” โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้อินฟลูเอนเซอร์ในฐานะสื่อบุคคล (Media Person) ที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยมาร่วมส่งเสียงแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์พม่าในปัจจุบัน และสร้างพื้นที่การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมด้วยการทำความเข้าใจสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเพื่อนมนุษย์ และร่วมออกแบบแนวทางการช่วยเหลือผ่านการสร้างการตระหนักรู้ทางสังคมและการรายงานสถานการณ์ทางพื้นที่สังคมออนไลน์
รายชื่อผู้ร่วมเสวนา
Moderator: กิตติธัช ศรีอำรุง (มูลนิธิศักยภาพชุมชน)
Discussion: แนทตี้ อรรวี แตงมีแสง (Blogger เจ้าของเพจ Natty in Myanmar)
ฟาโรห์ เตชภณ คำสีแก้ว (the Common Thread)
ฟิซซา อวัน นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กัณวีร์ สืบแสง (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเป็นธรรม)
ผู้จัดงาน
SEA Junction ภายใต้การดำเนินการของมูลนิธิเพื่อการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ที่ห้อง 407-8 หอศิลปกรุงเทพฯ มุ่งสร้างความเข้าใจและการเห็นคุณค่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทุก ๆ ด้านของมิติสังคมวัฒนธรรม สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาดูที่หน้าเว็บไซต์ http://seajunction.org/.
Milk Tea Alliance : Friends of Myanmar
คือการต่อยอดจากมูฟเมนท์พันธมิตรชานมบนโลกออนไลน์ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ด้วยการรวมกลุ่มเครือข่ายองค์กรเคลื่อนไหวทั่วทวีปเอเชีย เพื่อสร้าง Network ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น และทำ Solidarity Action ร่วมกัน
Milk Tea Alliance Thailand หรือ MTAT เป็นหนึ่งในนั้น โดยพันธมิตรชานมไทย ตั้งแต่กระแสการชุมนุมของเยาวชนปี 2020 พันธมิตรชานมไทยเป็นแอคเคาท์ และกลุ่มผู้คนบนโซเชียลมีเดียที่ต้องการทำกิจกรรมต่อต้านนโยบายจีนเดียว ต่อต้านรัฐประหารในไทยและพม่า รวมถึงสนับสนุนสันติภาพ ปัจจุบัน MTAT ได้ถูกพัฒนามาสู่กลุ่มประชาชนที่ต้องการจะเคลื่อนไหวและสร้าง Transnational Movement ร่วมกับกลุ่ม Milk Tea Alliance : Friends of Myanmar และกลุ่มองค์กรเครือข่ายพันธมิตรทั่วเอเชีย
Photo credit: Chawin Chantalikit