นับตั้งแต่ประชาคมโลกก้าวเข้าสู่ทศวรรษแห่งความท้าทายในการแก้ปัญหาโลกร้อนระยะ 10 ปีแรก ตั้งแต่ พ.ศ.2564-2573 (2021-2030) โดยมีการประชุมเจรจาฯ ลดโลกร้อน COP26 และ COP27 ที่เมืองกลาสโกล์ว ประเทศอังกฤษ และประเทศอียิปต์ ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ โลกกำลังก้าวสู่บททดสอบที่หนักหนาสาหัสเนื่องจากความไม่ลงรอยในแนวทางแก้ปัญหาของประเทศสมาชิกในการเจรจาตกลงเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนในเวทีดังกล่าว

เพื่อจะบรรลุเป้าหมายที่จะรักษาระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส หรือไม่เกินขีดจำกัดที่ 1.5 องศาฯ ทุกประเทศต้องร่วมมือช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 43% ของระดับการปล่อยในปี 2019 แต่ข้อมูลจาก World Resources Institute (WRI) กลับพบว่า ความพยายามในการช่วยกันลดก๊าซฯ ผ่านการดำเนินงาน “การมีส่วนร่วม (ลดก๊าซ) ที่ประเทศกำหนด’ (NDCs) ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) โลกจะสามารถลดก๊าซฯ ได้เพียง 7% เท่านั้น

นอกจากนั้น ทางสถาบัน WRI กลับพบว่า  การให้เงินอุดหนุนการใช้พลังงานฟอสซิลกลับพุ่งสูงถึงกว่า US$7 ล้านล้านในปีที่ผ่านมา แม้จะมีความสำเร็จในการเจรจาในเบื้องต้นใน COP27 ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงในการจัดทำ Global Stocktake การเตรียมจัดตั้งทุนสำหรับ Loss and Damage หรือการเพิ่มเงินสนับสนุนการปรับตัวฯ (Adaptation) ก็ตาม ประเด็นเหล่านี้ยังเป็นความท้าทายในการเจรจาฯ ลดโลกร้อนใน COP28 ที่ประเทศดูไบและอนาคต ซึ่งในที่สุดก็ยังตกลงกันได้เพียง “การเปลี่ยนผ่าน” ให้ไกลจากการใช้พลังงานฟอสซิล และแม้จะบรรลุข้อตกลงการจัดตั้งทุน Loss and Damage ได้ก็ตาม

เวทีเสวนาเชิงนโยบาย Dialogue Forum จึงถือโอกาสนี้ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นดังกล่าวกับผู้เชี่ยวชาญและผู้ดูแลรับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันวิเคราะห์นัยยะความท้าทายที่จะเกิดขึ้นและเส้นทางในอนาคตในการแก้ปัญหาและการรับมือโลกร้อนในเวทีเสวนา Dialogue Forum 6 l Year 4: COP28 และเส้นทางสู่อนาคต เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00-12.30 น. ณ SEA Junction ชั้น 4 หอศิลปแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

 

Photo credit: Bangkok Tribune/ Decode.Plus