“ฉันคิดว่าในไทยหรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังไม่ค่อยมีพื้นที่สำหรับการพูดคุยประเด็นต่าง ๆ ในภูมิภาค กันอย่างเปิดเผย จริงอยู่ว่าเราคงไม่คุยทุกเรื่อง ทุกคนรู้ว่ามันมีขอบเขต แต่เราก็พยายามจะขยับมันออกไปทีละน้อย เราต้องการให้ที่นี่เป็นพื้นที่ปลอดภัย ผู้คนรู้สึกสบายใจ ถ้าคุณมองเข้ามา คุณจะรู้สึกเหมือนที่นี่คือห้องนั่งเล่น พื้นที่สบาย ๆ ไม่เป็นทางการ ที่ใคร ๆ ก็เข้ามาใช้บริการได้ทุกเมื่อ”
ดร. โรซาเลีย (เลีย) ชอร์ติโน ซูมาโยโน (Rosalia (Lia) Sciortino Sumaryono) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการชุมทางอุษาคเนย์ หรือ SEA Junction (Southeast Asia Junction) เล่าถึงความตั้งใจในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยนี้ในไทย เพื่อเชื่อมต่อผู้คนที่สนใจและองก์ความรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
SEA Junction ตั้งอยู่ที่ชั้น 4 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (หอศิลป์กรุงเทพฯ) แม้จะเป็นโซนที่ผู้คนเดินพลุกพล่าน แต่หลายคนอาจจะไม่ได้หยุดสังเกตว่ามีพื้นที่ 2 ห้องเปิดต้อนรับสำหรับคนทุกกลุ่มวัย เพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้ในประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบภูมิภาคของเรา
“คิด” Creative Thailand จึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้นั่งสนทนากับ ดร. โรซาเลีย ถึงความตั้งใจและความสำคัญของการมีพื้นที่สำหรับเชื่อมต่อผู้คน ต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม ให้สามารถแลกเปลี่ยนบทสนทนาซึ่งกันและกันได้อย่างเสรีเกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาทางวัฒนธรรมและสังคมในระดับภูมิภาค
ก่อนจะมาเป็น SEA Junction
พื้นเพเป็นคนอิตาลี เธอเกิดที่เมืองปาเลอร์โม่ (Palermo) ในช่วงปลายทศวรรษ 1950 พ่อของเธอเป็นนักกฎหมายแรงงาน จำพวกเรื่องของสิทธิแรงงานหรือการเรียกค่าสินไหมเป็นต้น ให้กับกลุ่มผู้นำแรงงาน ส่วนแม่ของเธอเป็นผู้อำนวยการสถาบันฝึกนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นวิทยาลัยฝึกนักสังคมสงเคราะห์ บรรยากาศในวัยเด็กของเธอจึงเต็มไปด้วยบทสนทนาในเรื่องต่าง ๆ บนโต๊ะอาหารกับครอบครัว
“ตอนนั้นฉันเพิ่งเรียนจบมัธยมปลาย เป็นช่วงหลังยุค 1970 โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปทุกด้าน แม้ว่าพ่อแม่ของฉันจะถือเป็นคนที่หัวสมัยใหม่ แต่ฉันก็ยังอยากทำอะไรที่มันมากกว่าเดิม อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคม ฉันเคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวในโรงเรียน ร่วมกลุ่มเฟมินิสต์ ร่วมขบวนการอนาธิปไตย ความสนใจของฉันในตอนนั้นอยู่ที่การเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมในแบบขนบเดิม ตัวอย่างเช่นบทบาทความหลากหลายทางเพศหรือสิทธิสำหรับเด็ก ซึ่งต้องเข้าใจว่า เรื่องพวกนี้ในตอนนั้นยังไม่ค่อยถูกพูดถึงกันเป็นวงกว้างในสังคม” ดร. โรซาเลียรำลึกความหลังในวัยเยาว์
และหลังจากนั้น เธอก็แหกกรอบด้วยการเดินทางรอบโลกไปประมาณ 2-3 ปี แทนการเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยแบบที่คนทั่วไปทำกัน จนท้ายที่สุด เธอก็เข้าเรียนต่อที่สาขาวิชามานุษยวิทยาด้านวัฒนธรรมและสังคมวิทยาการพัฒนา และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกด้วยเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัย Vrije Universiteit ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
“ด้วยความที่ประเทศเนเธอร์แลนด์เคยเป็นประเทศเจ้าอาณานิคมของประเทศอินโดนีเซีย มหาวิทยาลัยในประเทศเนเธอร์แลนด์จึงมีการติดต่อกับมหาวิทยาลัยในประเทศอินโดนีเซียเยอะ ดังนั้นตอนที่ฉันทำวิจัยภาคสนาม ฉันเลยเลือกที่จะไปทำวิจัยที่อินโดนีเซีย”
จากนั้นเธอได้แต่งงานสามีชาวอินโดนีเซีย นายซูมาโยโน (O’ong Maryono) อาจารย์ผู้ล่วงลับ ผู้เชี่ยวชาญด้านปันจักสีลัตและศิลปะการต่อสู้ชาวอินโดนีเซีย และเธอก็ได้เริ่มเส้นทางในภาคประชาสังคมที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิฟอร์ด (Ford Foundation) ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ หรือตำแหน่ง Regional director มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ในประเทศไทยที่เธอได้เปิดสำนักงานประจำภูมิภาคขึ้นในปี ค.ศ. 2000 ที่กรุงเทพมหานคร ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการภูมิภาคประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกที่ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development Research Centre, IDRC) ประจำประเทศสิงค์โปร์
ด้วยการงานที่ทำท่าจะไปได้ดี แต่ชีวิตก็มอบบททดสอบสำคัญให้กับเธอ เมื่อต้องมาสูญเสียสามีอันเป็นที่รักจากโรคมะเร็ง
“ตอนนั้นฉันทำงานอยู่ที่ IDRC หลังจากสามีเสียชีวิต ฉันก็รู้สึกเศร้าเสียใจมาก ฉันบอกกับตัวเองว่าจะไม่ทำงานพวกนี้แล้ว และฉันก็กลับมาอพาร์ตเมนต์ที่เคยซื้อด้วยกันกับสามีที่ประเทศไทย เก็บตัวอยู่ในนั้นเพียงลำพัง” ดร. โรซาเลีย เล่าถึงช่วงเวลาอันทุกข์ระทมครานั้น
แต่แล้วก็ยังมีครอบครัวและเพื่อน ๆ ของเธอคอยมาให้กำลังใจ และพาเธอลุกขึ้นยืนอีกครั้ง เพื่อเปิดรับบทใหม่ของชีวิตที่กำลังจะเริ่มต้น “สามีฉันเสียเมื่อปี 2013 มันเป็นการทำใจที่ยากลำบาก เพราะเราใช้ชีวิตคู่ด้วยกันมาอย่างยาวนานกว่า 25 ปี ฉันใช้เวลาราว 2-3 ปีในการฟื้นฟูตัวเองจากความเศร้าโศกครั้งนั้นและกลับมาทำงานอีกครั้ง โดยเริ่มจากการกลับมาสอนที่มหาวิทยาลัยมหิดลและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”
3 ปีให้หลังจากการเสียชีวิตของสามี SEA Junction ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น
“ดังนั้น ในแง่หนึ่ง SEA Junction ก็ถือเป็นผลผลิตอย่างหนึ่งที่เกิดจากความโศกเศร้านั้นด้วย และนอกจากนั้นยังเป็นแหล่งให้พลังบวกแก่ตัวฉันอีกด้วย เพราะการได้พบปะผู้คนมากมายตอกย้ำความสำคัญว่าสิ่งที่ฉันทำนั้นมีความหมาย”
จุดประสงค์ของการก่อตั้ง SEA Junction
ด้วยประสบการณ์ด้านมูลนิธิภาคประชาสังคมที่ผ่านมาอย่างยาวนาน สิ่งหนึ่งที่ ดร. โรซาเลีย มองเห็นก็คือ ช่องว่างระหว่างโลกทางวิชาการ และโลกของคนทั่วไป ที่ยังมีระยะห่างกันมากพอสมควร SEA Junction เกิดมาด้วยจุดประสงค์ที่เรียบง่าย นั่นคือการลดช่องว่างนั้นให้ได้มากที่สุด
“ภารกิจของเราจึงมุ่งเน้นการลดช่องว่างทางความรู้เพื่อมาใช้ในการรณรงค์ เนื่องจากเราสนใจในประเด็นทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้อพยพ เพศสภาพ สงคราม การศึกษา สาธารณสุข หรือการเกษตร เป็นต้น การจะให้ประเด็นปัญหาเหล่านี้เข้าถึงความเข้าใจของประชาชนทั่วไปนั้น เราจึงอาศัยสื่อกลางอย่าง ‘ศิลปะ’ มาช่วยในการสื่อสารให้ดีขึ้น เพราะศิลปะมีอำนาจในการจุดประกายความคิดและเริ้มต้นบทสนทนา นอกจากนั้นยังมีการจัดสัมมนา นิทรรศการศิลปะ และกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย ดังนั้น ศิลปะที่เราสนใจคือศิลปะเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเราอยากให้สิ่งที่เรานำเสนอเป็นที่เข้าถึงได้มากที่สุด จึงอยากนำเสนอประเด็นเหล่านี้ในที่สาธารณะ และนำประเด็นเหล่านี้ไปหาสาธารณะชนแทนที่จะให้คนเข้ามาหาเรา เราถึงเลือกมาที่ BACC ” ดร. โรซาเลียกล่าวถึงภารกิจหลักของ SEA Junction
เธอยกตัวอย่างนิทรรศการภาพถ่ายที่กำลังจัดแสดงอยู่ ตอนที่เราสนทนากัน นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า “ไม่ใช่แค่แรงงาน เสียงจากภาพในอุตสาหกรรมประมงไทย” จัดขึ้นโดย SEA Junction จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 – 26 พฤษภาคม 2567 เธอกล่าวว่าในงานนี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคม ศิลปินช่างภาพ และแรงงานผู้อพยพจากเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในไทยในอุตสาหกรรมประมง
“โปรเจ็กต์นี้เราหาทุนเองจากสหภาพยุโรป โครงการ Ship to Shore Right Southeast Asia องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และภาคส่วนอื่น ๆ โจทย์ของเราคือเราจะผสานศิลปะกับภาคประชาสังคมอย่างไร เพื่อสื่อสารปัญหาให้เข้าถึงคนทั่วไปให้ได้มากที่สุด เรารณรงค์ประเด็นทางสังคม สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพันธมิตรต่าง ๆ และเน้นความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่าย เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ และท้ายที่สุดเพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมคิดและทบทวนตัวเอง”
“ดังกรณีนิทรรศการนี้ เราได้ร่วมทำงานกับตากล้องมืออาชีพ คุณสายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ ที่เข้าไปเคาะบ้านทีละบ้านของแรงงานอพยพเหล่านั้นด้วยการช่วยเหลือจากผู้ประสานงานชุมชนจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เพื่อบอกกล่าวถึงโปรเจ็กต์ที่กำลังจะทำ จากนั้นจึงเชิญชวนให้เขาถ่ายรูปมาเอง ด้วยกล้องจากมือถือของเขาเอง ดังนั้นรูปถ่ายที่ได้ในงานนี้ทั้งหมด จึงมาจากสายตาของแรงงานเอง นี่จึงทำให้ภาพเหล่านี้มีพลังมากกว่าภาพชุดทั่วไป”
ในส่วนของความคาดหวังที่อยากให้เกิด ดร. โรซาเลีย กล่าวว่า “เราอยากให้มองเห็นความจำเป็นในการผสมผสานผู้อพยพเข้าสู่สังคมไทย พวกเขาไม่ใช่แค่แรงงาน แต่เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน เขาไม่ใช่คนที่มาประเทศไทยเพียงหนึ่งปีหรือสองปีแล้วกลับ แรงงานหลายคนอยู่ที่นี่มากกว่าสิบปีแล้ว บางคนแต่งงานกับชาวไทยและบางคนมีลูก ดังนั้นสิทธิ์ต่าง ๆ ที่มนุษย์พึงมี เขาก็ควรจะได้รับ”
จากความศรัทธาในศิลปะสู่ความเข้าใจของมวลชน
คงจะเป็นเรื่องโกหก หากจะบอกว่างานใดงานหนึ่งของเรานั้นสร้างผลกระทบให้กับผู้ชมได้ในทันที ดร. โรซาเลียกล่าวอย่างตรงไปตรงมา “เราเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง ยังมีภาคส่วนต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ในส่วนของเรา เรากำลังสร้างการตระหนักรู้ให้กับคนทั่วไป อย่างเรื่องอพยพ มันเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คนจะเปลี่ยนแปลงเพียงแค่มาดูงานครั้งเดียว แต่อย่างน้อยนิทรรศการก็ทำหน้าที่กระตุกต่อมความคิดให้ออกไปค้นหาต่อเพิ่มเติม จุดประกายไอเดียเพื่อรอวันขยายออกไป”
เกือบ 8 ปีนับแต่การก่อตั้ง SEA Junction ดร. โรซาเลีย ได้จัดกิจกรรมมากมายขึ้นที่นี่ไม่ว่าจะในรูปแบบของนิทรรศการศิลปะ ศิลปะการแสดง เวทีเสวนา การจัดฉายภาพยนตร์ และเสวนาหลังรับชม เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ความเชื่อในการใช้ศิลปะเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคมของเธอเปลี่ยนไป การณ์กลับตรงกันข้าม มันยิ่งตอกย้ำความศรัทธานั้นให้แนบแน่นมากยิ่งขึ้น
“ฉันยิ่งตระหนักถึงพลังของศิลปะในการแก้ไขปัญหาสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการทำงานที่นี่ ฉันคิดว่านี่เป็นวิธีการที่สำคัญมาก แต่น่าเสียดายที่ในแวดวงการพัฒนา มักจะมองข้าม ไม่ได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก หรือมักจะทำการรณรงค์แบบเดิม ๆ ที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับศิลปะ”
แต่เส้นทางนี้ไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะหากมองแต่ความเปลี่ยนแปลง หลายครั้งมันก็ทำให้เราท้อแท้ในสิ่งที่ทำอยู่ได้ไม่ยาก ดร. โรซาเลีย เปลี่ยนน้ำเสียงด้วยท่วงท่าที่จริงจังขึ้น “บางครั้งฉันก็พบกับสภาวะซึมเศร้า”
“เพราะว่าหลายครั้งฉันก็รู้สึกว่า สิ่งที่เราทำมาตลอด 30 ปี มันไร้ค่า แต่ในขณะเดียวกัน ฉันก็รู้ว่ามันไม่จริง ที่ฉันทำมาทั้งหมดมันไม่ได้สูญเปล่า”
ดร. โรซาเลียยกตัวอย่างเรื่องความเข้าใจของผู้คนเกี่ยวกับโรค HIV ในยุค 90’s
“ในช่วงยุค 90’s ฉันเริ่มทำงานที่ประเทศอินโดนีเซีย เรื่องราวของ HIV/AIDS เพิ่งเริ่มแพร่กระจาย ตอนนั้นยังไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ เกี่ยวกับสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเลย ตอนนั้นเราไม่ได้สนใจคนอื่น ๆ เลยด้วยซ้ำ รวมถึงหลายประเทศก็คัดค้านเรื่องนี้อย่างรุนแรงในตอนนั้น”
“ผ่านมา 30 ปี แม้จะยังไม่ดีที่สุด แต่ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเดินหน้าไปสู่การสมรสเท่าเทียม ฉันย้ำอีกครั้ง ฉันไม่ได้บอกว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว แต่หลังจาก 30 ปี คุณจะเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น บางครั้งเราอาจมองไม่เห็นความก้าวหน้า จนเราเห็นแต่ว่าเรากำลังถอยหลัง แต่ถ้ามองในระยะยาว ซึ่งฉันโชคดีที่ฉันทำงานในภูมิภาคและแวดวงเดียวกันตลอดมา ฉันจึงสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ และฉันบอกได้เลยว่ามันเปลี่ยนไปมากทีเดียว” น้ำเสียงของเธอเปล่งออกมาด้วยความหนักแน่นกว่าเรื่องอื่น ๆ
อาเซียนจะร่วมใจ ต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจเพื่อนบ้าน
ดร. โรซาเลีย ย้ำจุดยืนเดิมในการก่อตั้ง SEA Junction เพื่อเป็นห้องนั่งเล่นที่ใคร ๆ ก็รู้สึกสบายใจที่จะเข้ามาใช้บริการ โดยกิจกรรมทั้งหมดของเรานั้นเปิดให้ทุกคนเข้าร่วมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทาง SEA Junction หาทุนดำเนินการและทุนสำหรับทำโครงการต่าง ๆ จากผู้บริจาค จากแหล่งทุน พาร์ทเนอร์และองค์กรนานาชาติ รวมถึงยังมีงานจัดหาทุนอย่างเช่นงานขายหนังสือมือสองเป็นต้น
ดร. โรซาเลียกล่าวถึงการให้บริการของ SEA Junction ในการอำนวยสถานที่และให้คำปรึกษา “งานและโปรแกรมต่าง ๆ ของเรา ฉันขอแบ่งเป็นสามแบบหลัก ๆ แบบแรกคืองานที่ทางเราเป็นผู้ริเริ่มจัดเอง แบบที่สองคืองานที่มีผู้มาขอใช้สถานที่ โดยมีแผนงานมาชัดเจนแล้วว่าต้องการจะทำอะไรบ้าง และแบบสุดท้ายคืองานที่มีผู้เข้ามาพร้อมแนวคิดหรือไอเดียที่อยาจะนำเสนอ แต่ยังไม่มีแผนการจัดงาน ในส่วนนี้ ทาง SEA Junction สามารถให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาแผนการจัดงานร่วมกันและอำนวยความสะดวกด้านสถานที่ โดยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของแบบที่สองและสามนี้จะคิดจากความต้องการของผู้จัด เช่นในเรื่องของสถานที่ที่ใช้จัดแสดง อาหาร หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้เป็นต้น”
สถานการณ์ในประเทศเมียนมาเป็นหนึ่งในสถานการณ์ที่ตึงเครียดของโลกที่ SEA Junction ได้จัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง การแสดงสปิริตเคียงบ่าเคียงไหล่ด้วยกันจึงกลายมาเป็นหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นที่นี่ ดังนั้น ก่อนจะรู้สึกห่วงใยกันและกันได้ เราต้องเข้าใจสถานการณ์ของกันและกันเสียก่อน จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมคนไทยถึงต้องรับรู้เรื่องราวของประเทศเมียนมา ของประเทศอินโดนีเซีย หรือของประเทศมาเลเซีย เป็นต้น และที่สำคัญ เป็นคำตอบว่า ทำไมสถานที่แลกเปลี่ยนทางความคิดเช่นนี้จึงสำคัญ
“เมื่อเราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับบ้านใกล้เรือนเคียงกับเรา เราจะพบความคล้ายคลึงอะไรบางอย่าง เราสามารถเรียนรู้จากประเทศอื่น ๆ ได้ และเมื่อลองไตร่ตรองดูมากขึ้น เราจะพบว่า มันไม่ใช่แค่ปัญหาของเราเท่านั้น มันเป็นปัญหาของหลายประเทศด้วย แม้ว่าบริบทของแต่ละที่มันจะต่างกันและกลยุทธ์ในการแก้ไขก็อาจจะต้องต่างกันไป แต่เราก็ยังสามารถเรียนรู้ได้อยู่ดี”
“เราจะร่วมมือกันในอาเซียนได้อย่างไร ถ้าเรายังไม่รู้และให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเพื่อนบ้านของเรา คลาสที่ฉันสอนในมหาวิทยาลัยในไทย ฉันเจอกลุ่มนักเรียนชาวเมียนมาจำนวนมากอพยพเข้ามาเรียนในไทย เพราะเขาอยู่ในประเทศตัวเองไม่ได้ เมื่อคนอพยพมา ใครจะดูแลคนเหล่านี้ล่ะ? นี่ยังไม่รวมปัญหาเรื่องการเมืองภายในประเทศ รวมถึงการค้าขายที่ไทยเราก็ต้องคำนึงถึง ดังนั้นในความเป็นจริงแล้ว สถานการณ์ในเมียนมาส่งผลกับประเทศไทยอย่างรุนแรงเลยล่ะ จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในคนทั่วไปว่าประเด็นเหล่านี้นั้นเกี่ยวโยงถึงกัน” ดร. โรซาเลียกล่าว
อนาคตของ SEA Junction
“ในอนาคตเราต้องหาคนที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้แทนฉัน แต่ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า SEA Junction ยังคงมีความสำคัญและมีคุณค่าอยู่หรือไม่ ถ้า SEA Junction ดำเนินการมาครบสิบปีแล้ว มันอาจจะประสบความสำเร็จเพียงพอแล้ว เราก็อาจจะปิดตัวลงได้ เพราะฉันไม่เชื่อในแนวคิดที่ว่า เราต้องทำอะไรต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ โดยสิ่งนั้นอาจจะไม่ได้มีคุณค่าเหลือแล้ว” ดร. โรซาเลียวาดแนวทางอนาคตของ SEA Junction
ส่วนแผนงานหลังจากนั้น นอกเหนือจากงานที่นี่ “ฉันย่างเข้า 65 แล้ว จริง ๆ แล้วฉันควรจะต้องเกษียณ แต่ฉันก็รู้ว่าในความเป็นจริงมันเป็นไปได้ยากกับการจะไม่ทำอะไรเลย แต่ฉันก็มีงานอดิเรกที่ชอบอยู่เหมือนกัน ฉันชอบสะสม Glass Painting สไตล์อินโดนีเซีย ซึ่งฉันสะสมกับสามีผู้ล่วงลับมาโดยตลอด และฉันหวังว่าจะได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ Glass Painting ซักวัน”
“ความพิเศษของกระจกลักษณะนี้ก็คือ คนวาดจะวาดลวดลายไปบนหลังกระจก โดยเริ่มจากวัตถุในภาพก่อน และค่อยปิดท้ายด้วยการระบายพื้นหลัง จากนั้นการจัดแสดงก็เป็นการจัดแสดงจากด้านหน้า ทำให้กระบวนการวาดเสมือนการกลับหัวกลับหางกับการวาดแบบทั่วไป”
จะว่าไปแล้ว ตลอดชีวิตการทำงานของดร. โรซาเลีย ก็คงจะเหมือนกระบวนการสร้าง Glass Painting เริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจ การลงพื้นที่ สำรวจประเด็นปัญหาต่าง ๆ ง่วนอยู่กับงานเหล่านั้นจากเบื้องหลัง และค่อย ๆ นำเสนอมันออกมาสู่ภายนอก สู่ผู้ชมในฐานะคนทั่วไปนั่นเอง
สามารถรับชมตัวอย่างภาพ Glass Painting เพิ่มเติมได้ที่นี่
ภาพ : จิรายุ เสรีภัทรกุล
เรื่อง : คณิศร สันติไชยกุล
Source : https://www.creativethailand.org/article-read?article_id=34450