นิทรรศการภาพถ่ายผลงานล่าสุดของ ‘ยศธร ไตรยศ’ ช่างภาพสารคดีที่ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ในฐานะ “เพื่อน” และ “คนนอก” เป็นเวลากว่า 5 ปี เพื่อเล่าเรื่องราวที่เห็นและเป็นไปอย่างธรรมดาสามัญของ 14 ครอบครัว ด้วยหวังก้าวข้ามภาพรับรู้เดิมๆ และอคติที่มีต่อพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
เปิดตัวนิทรรศการภาพถ่าย The Deep Places in the Deep South ผลงานของยศธร ไตรยศ ที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ BACC ชั้น 4 นำเสนอผลงานภาพถ่าย “บ้าน” และคนธรรมดาสามัญ 14 ครอบครัวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการจัดแสดงที่เริ่มตั้งแต่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา จะจัดจนถึงวันที่ 1 ต.ค. นี้
โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ SEA Junction ภายใน BACC มีวงเสวนา The Deep Places in the Deep South ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดนิทรรศการโดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ยศธร ไตรยศ ช่างภาพนิทรรศการ, อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ และงามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
งานนิทรรศการที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าว เป็นผลงานชุดที่สองต่อจาก Gray Zone: พื้นที่สีเทาของยศธร ช่างภาพสารคดีที่สนใจในประเด็นสิทธิมนุษยชน และใช้กระบวนการภาพถ่ายและมุมมองด้านมานุษยวิทยาในการเรียนรู้ผู้คนในพื้นที่พิเศษโดยเฉพาะพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เขาใช้เวลาในการลงไปเรียนรู้ในฐานะ “เพื่อน” และ “คนนอก” เป็นเวลากว่า 5 ปี เป็นที่มาของนิทรรศการครั้งนี้ จากความร่วมมือโดยองค์กร SEA-Junciton องค์กรไม่แสวงหากำไร และกลุ่ม REALFRAME
นิทรรศการภาพถ่ายดังกล่าวนำเสนอชุดภาพที่ตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของผู้คนธรรมดาภายใต้พื้นที่ที่ถูกมองว่าพิเศษ ตลอดจนเปิดมุมมองใหม่นอกเหนือไปจากเรื่องราวของความรุนแรงที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อกระแสหลักอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นภาพจำที่คลาดเคลื่อนของคนนอกที่มีต่อพื้นที่
ยศธรกล่าวถึงงานนิทรรศการชุดนี้โดยเริ่มต้นจากคำถามที่มักเกิดขึ้นเวลาที่เขาต้องสนทนาในประเด็นชายแดนภาคใต้ที่ว่า “อันตรายไหม เหมือนที่เห็นในข่าวไหม คนทั่วไปสามารถไปเองได้หรือเปล่า?”
โดยยศธรเลือกตอบคำถามเหล่านั้นผ่านประสบการณ์ในการไปเยือนบ้านของผู้คน ทั้งในฐานะเพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่ บางครั้งไปเป็นแขก บางครั้งเป็นคนแปลกหน้า ค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์ร่วมกันโดยมีเครื่องมือสำคัญคือเวลา ด้วยความเชื่อว่าบ้านคือพื้นที่ปลอดภัยของผู้คน
“ในฐานะช่างภาพ ผมเพียงสังเกตการณ์และบันทึกภาพวิถีอันปกติเหล่านั้นออกสู่สายตาผู้คน ด้วยความหวังว่าความสามัญธรรมดาของผู้คนในภาพ จะทำให้ผู้ชมตั้งคำถามในฐานะเพื่อนมนุษย์ ก้าวข้ามวาทกรรมทางพื้นที่พิเศษ ตลอดจนอคติที่มีต่อพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้”
Source : https://prachatai.com/journal/2023/09/106052