ประเทศไทยเผชิญปัญหาฝุ่น PM2.5 รุนแรงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ โดยฤดูไฟป่าและฝุ่นควันจะเริ่มขึ้นในกลางเดือนมกราคม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่น PM2.5 และเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงในกลางเดือนกุมภาพันธ์ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้อธิบายว่า PM2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งจัดเป็นสารก่อมะเร็ง พวกมันมีขนาดเล็กจนสามารถเล็ดลอดเข้าไปได้ถึงปอด กระแสเลือด สร้างปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจและก่อให้เกิดโรคมะเร็งในระยะยาวได้
จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ เพียงระยะเริ่มต้นของฤดูไฟป่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1 ม.ค. ถึง 15 ก.พ. มีจุดความร้อนเกิดขึ้น 18,988 จุดในภาคเหนือ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 118% จากปีก่อน และเมื่อเข้าสู่เดือนมีนาคม มลพิษทางอากาศเริ่มไต่ระดับขึ้นจนเกินขีดจำกัดความปลอดภัยต่อสุขภาพ ตั้งแต่หนึ่งถึงสิบเท่าขึ้นไป ระดับความเข้มข้นสูงสุดถูกบันทึกไว้ที่ 537 µg/m³ ในวันที่ 27 มีนาคม 2566 ที่อำเภอแม่สายชายแดนจังหวัดเชียงราย ซึ่งมากกว่าระดับมาตรฐานปลอดภัยที่ WHO แนะนำไว้ถึง 35 เท่า
เมื่อสิ้นสุดฤดูไฟป่า กรมควบคุมมลพิษระบุว่า ระดับความเข้มข้นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของ PM2.5 ในภาคเหนืออยู่ที่ 63 µg/m³ หรือเพิ่มขึ้น 110% จาก 30 µg/m³ ของปีที่แล้ว จำนวนวันที่มี PM2.5 เกินขีดจำกัดปลอดภัยอยู่ที่ 112 วัน หรือเพิ่มขึ้น 60% จาก 70 วันของปีที่แล้ว
ในส่วนของภาพรวมทั้งภูมิภาค จุดความร้อนสะสมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอยู่ที่เกือบหนึ่งล้านจุด (992,718 จุด) โดยเมียนมาร์มีจุดความร้อนสะสมมากที่สุดถึง 413,041 จุด สปป.ลาว (254,734 จุด) ไทย (168,392 จุด) กัมพูชา (111,781 จุด) และเวียดนาม (44,770 จุด) ซึ่งจุดความร้อนของไทยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้น 103% จากปีก่อน
เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ชี้ให้เห็นตรงกันว่า สาเหตุหรือแรงจูงใจเกือบทั้งหมดเกิดจากฝีมือมนุษย์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากป่าและพื้นที่การเกษตรในป่าที่เกี่ยวพันกับการดำรงชีพในวิถีเกษตรของคนท้องถิ่นอย่างแยกไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นการเผาเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกในป่าเขา การกำจัดเศษซากพืชในไร่ การเปิดพื้นที่ป่าเพื่อการปศุสัตว์ การล่าสัตว์ ไปจนถึงการเก็บหาของป่า
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี สรุปสภาพปัญหาไว้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นแค่ปัญหา PM2.5 หรือไฟป่า แท้จริงแล้ว มันเป็นเรื่องของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ยั่งยืนในพื้นที่และในภูมิภาค เป็นปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเกือบทุกที่ในปัจจุบัน และจะดำเนินต่อไป หากไม่สามารถระบุสาเหตุหรือแรงผลักดันได้อย่างชัดเจน
คำถามที่ดำรงอยู่ในเวลานี้ก็คือ ประเทศไทยสามารถค้นหาและระบุสาเหตุที่แท้จริงได้แล้วหรือไม่ และวางแนวทางแก้ไขปัญหาไว้อย่างไรสำหรับฤดูกาลที่จะมาถึง
เวทีเสวนาเชิงนโยบาย Dialogue Forum จึงได้จัดเวทีร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นดังกล่าวกับผู้เชี่ยวชาญและผู้ดูแลรับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันถอดบทเรียนและค้นหาแนวทางในการบริหารจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่ออากาศสะอาดร่วมกันในอนาคตในเวทีเสวนา Dialogue Forum 4 l Year 4: ถอดบทเรียนวิกฤติ PM2.5 และอนาคตอากาศสะอาดของประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00-12.30 น. ณ SEA-Junction ชั้น 4 หอศิลปแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
Photo credit: Bangkok Tribune News/ Decode.plus